เฉลวเป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้งานเกี่ยวข้องกับความเชื่อของชาวไทยมาแต่โบราณ หรือใช้เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกหรือสัญลักษณ์
การทำเฉลวนั้นจะใช้ตอกขัดสานกันเป็นมุมแฉกๆ ลักษณะเหมือนตาชะลมหรือเข่งปลาทู มีตั้งแต่ 3 แฉก 5 แฉก 6 แฉก 8 แฉกไปจนถึง 12 แฉก แล้วเหลือปลายตอกข้างหนึ่งให้ยาวออกมาไว้สำหรับปักลงบนสิ่งที่ต้องการ
เฉลวนั้นมีการใช้งานที่หลากหลาย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อนั้นดังเช่น ใช้เฉลวปักลงบนหม้อยาเพื่อทำให้ยานั้นเป็นยาศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์ทำให้รักษาโรคภัยต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น หรือมิให้ภูติผีมาข้าม ซึ่งอีกนัยหนึ่งการปักเฉลวลงบนหม้อยานั้นก็เพื่อป้องกันมิให้มีคนมาเปิดหม้อยาจนทำให้ยาเสื่อมสภาพ หรือใช้เฉลวปักลงบนเครื่องเซ่นพลีตามทางแยกหรือริมถนนหนทางเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายบอกให้ภูติผีวิญญาณมารับเครื่องเซ่นดังกล่าว หรือใช้เฉลวหน้าวัวปักเอาไว้ทั้งสี่มุมของลานนวดข้าวแล้วขึงสายสิญจน์ไว้โดยรอบก่อนการทำบุญลานนวดข้าวหรือทำขวัญข้าว เพื่อเป็นเครื่องป้องกันสิ่งอัปมงคล และใช้ในพิธีกรรมอยู่ไฟหลังคลอดอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการใช้เฉลวปักลงบนสิ่งของที่ต้องการขายเพื่อเป็นเครื่องหมายบอกให้ผู้คนทราบ รวมทั้งใช้ปักบอกอาณาเขตในการจับจองสถานที่หรือที่นาส่วนบุคคลแสดงความเป็นเขตหวงห้าม
เฉลวที่มีแฉกไม่เท่ากันนั้นมีการเสกคาถาอาคม ลงอักขระที่แตกต่างกันคือ เฉลว 3 แฉกจะลงอักขระ มะ อะ อุ หมายถึงขอให้อำนสจพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามประสาทพรให้หายจากการป่วยไข้ เฉลว 5 แฉก ลงอักขระพระเจ้า 5 พระองค์ คือ นะ โม พุท ธา ยะ ส่วนเฉลว 8 แฉก ลงอักขระอิติปิโสแปดทิศ จึงเปรียบเสมือนเป็นยันตศักดิ์สิทธิ์สำหรับป้องกันสิ่งชั่วร้าย เสนียดจัญไรมิให้มากล้ำกราย หรือป้องกันจากคาถาอาคมและภูติผีปีศาจ
ในภาคเหนือเรียกเฉลวว่า "ตาเหลว" หรือ "ตาแหลว" ในตำนานล้านนากล่าวว่า เฉลวมีที่มาจากตำนานเรื่อง ขุนตึง โอรสขุนเติง กษัตริย์นครหิรัญนครเงินยาง ใช้ตะขอขวักไขว่แปลงเมืองที่ได้จากพระเจ้าตาพระยานาคเนรมิตเมืองให้ตัวเองครอบครอง เมืองนี้นอกจากมีคนอยู่มากมายแล้วก็ยังมีลิงเชื้อสายของมารดามาอาศัยอยู่ด้วย ลิงเหล่านี้สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ชาวบ้าน ขุนตึงจึงต้องไปขอร้องพระยาเหยี่ยวให้มาช่วยไล่ลิง แต่ลิงก็กลัวเหยี่ยวเฉพาะตอนที่บินมา ขุยตึงจึงสั่งให้ชาวบ้านสานตอกไม้เป็นรูปตาแหลว (ตาเหยี่ยว) พอพวกลิงเห็นตาแหลวก็คิดว่าเหยี่ยวมาก็มีความกลัว ชาวบ้านจึงนิยมทำตาแหลวหรือเฉลวเอาไว้ป้องกันลิง
เนื่องจากมีการใช้เฉลวเพื่อปักลงบนหม้อยาในอดีตจนเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง เฉลวจึงถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งในตราของสภาการแพทย์แผนไทย โดยมีการให้ความหมายดังนี้ “เฉลว หมายถึง ไม้จักสานที่ติดบนหม้อยา มีความเชื่อว่าเป็นการรักษาคุณภาพของเครื่องยา สำหรับ ๕ แฉกนั้น หมายถึง การเสกคาถานโมพุทธายะ (พระเจ้า ๕ พระองค์) ความหมายโดยนัย คือ การรักษาชีวิตคน ๆ หนึ่ง ต้องมองชีวิตอย่างองค์รวมด้วยหลักขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) โดยกำหนดให้ใช้สีเขียว”