เตาไฟ



คำอธิบาย

การใช้ไฟเพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยิ่งหากต้องการทำอาหารให้สุกเพื่อการบริโภค มนุษย์จำเป็นต้องบังคับให้ไฟลุกโชนในพื้นที่ที่ต้องการให้ได้ จึงเป็นที่มาของภูมิปัญญาเตาไฟ

ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ กล่าวว่า “เตาไฟ คือเตาที่สำหรับก่อไปนั้น เหมือนอย่างเตาสำหรับหุงเข้ากิน” แนวคิดแรกเริ่มในการทำเตาไฟอาจเกิดจากการนำก้อนหินสามหรือสี่ก้อนที่มีขนาดใกล้เคียงกันมาวางเรียงเป็นวงแล้วก่อไฟตรงกลาง กลุ่มก้อนหินจะช่วยให้วางภาชนะหุงต้มได้สะดวกมั่นคง ถือเป็นรากฐานของเตาก้อนเส้าที่เรารู้จักกัน
 

เตาก้อนเส้า คือหนึ่งในประเภทเตาไฟที่เก่าแก่ที่สุด เป็นการนำก้อนหินหรือก้อนอิฐที่มีขนาดใกล้เคียงกันวาง 3-4 มุม แล้วก่อไฟตรงกลางด้วยฟืน จากนั้นจึงนำภาชนะวางเพื่อประกอบอาหาร เป็นเตาสนามอย่างง่ายที่นักเดินทางสมัยโบราณนิยม แต่ไม่เหมาะจะตั้งในเรือนเพราะไม่มีสิ่งใดรองรับกองไฟ ทำให้เกิดภูมิปัญญา “แม่สีไฟ” หรือ “แม่เตาไฟ” เพื่อเป็นพื้นที่รองรับเตาไฟ เป็นกระบะไม้ขนาดใหญ่อัดด้วยดินเหนียวผสมแกลบหยาบหรือรำหยาบลงไปในกระบะ เมื่อดินแห้งจะแข็งแรงและทนไฟ ใช้เป็นพื้นรองรับเตาก้อนเส้าหรือเตาไฟชนิดอื่นได้เป็นอย่างดี ทำให้เราสามารถตั้งเตาก้อนเส้าไว้ในเรือนได้ แต่ข้อด้อยของเตาก้อนเส้าในครัวเรือนคือเคลื่อนย้ายลำบาก ไม่มีที่บังลม หากมีลมแรงอาจทำให้ไฟในเตาดับได้
 

เตาไฟอีกชนิดหนึ่งคือ เตาเชิงกราน เป็นเตาดินเหนียวเผาไฟแบบเครื่องปั้นดินเผา รูปร่างคล้ายกระดูกเชิงกรานหรือถาดรูปไข่ซ้อนกันสองใบ ส่วนฐานจะยื่นออกไปด้านหน้าเพื่อรองรับท่อนฟืน ส่วนรองรับก้นหม้อด้านในจะมีจมูกเตาสามปุ่ม บางเตาจะเจาะรูข้าง ๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเทและไฟลุกได้ดี เป็นเตาที่ใช้สะดวกกว่าเตาก้อนเส้า เพราะสามารถเคลื่อนย้ายได้โดยง่าย จึงเป็นที่นิยมของนักเดินทางในอดีต โดยจะมีหลายขนาดตามลักษณะการใช้งาน เช่น ขนาดใหญ่สำหรับทำกับข้าว ขนาดเล็กสำหรับต้มยา เป็นต้น
 

เตาวง ทำจากดินเหนียวผสมทรายเช่นเดียวกับเครื่องปั้นดินเผาอื่น ๆ โดยการรีดดินเป็นแผ่นแล้วดัดให้โค้งเป็นวง แล้วนำไปเผาไฟ โดยจะเว้นด้านหนึ่งไว้สำหรับสอดฟืนหรือเชื้อเพลิง ด้านบนจะมีปุ่มเล็ก ๆ หรือจมูกเตาสามปุ่มยื่นออกมาเพื่อรับก้นภาชนะ วิธีใช้งานคล้ายเตาก้อนเส้าคือต้องวางบนพื้นหรือแม่เตาไฟ ซึ่งเตาวงมีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับโดยเพิ่มแผ่นบังลมและบังคับเปลวไฟให้อยู่ในบริเวณจำกัด ทำให้ภาชนะร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ
 

ด้านความเชื่อที่มีต่อเตาไฟนั้น มีปรากฏว่าชาวจีนโบราณเชื่อว่าสถานที่หรือสิ่งของต่าง ๆ มีเทพสถิตอยู่ เตาไฟก็เช่นกัน ซึ่งที่เมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง ก็มีพิธีบูชาเทพเจ้าเตาไฟในช่วงตรุษจีน โดยจะจุดไฟในเตาเผามังกรเพื่อขอพรให้มีความสุขเจริญรุ่งเรืองในชีวิต โดยในเมืองไทยก็มีพิธีบูชาเทพเจ้าเตาไฟเช่นกันที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งชาวจีนฮกเกี้ยน-ภูเก็ต-ปีนัง-ฝูเจี้ยน เชื่อว่าเทพประจำบ้านประกอบด้วย เทพแห่งเตาไฟ เทพแห่งประตูบ้าน เทพแห่งประตูห้อง เทพแห่งบ่อน้ำ และเทพแห่งห้องโถงกลาง เทพทั้งห้ามีหน้าที่คุ้มครองคนในบ้านให้อยู่ดีมีสุข โดยชาวภูเก็ตเรียกเทพเจ้าเตาไฟว่า “เจ้าฮุ่นก้อง” “จ้าวฮุนก้ง” หรือ “ซีเบ่งเจ้ากุ้น”
 หน้าที่ของเทพเจ้าเตาไฟคือคุ้มครองและดูแลความเป็นอยู่คนในบ้าน พร้อมทั้งจดบันทึกการกระทำของคนในบ้านเพื่อรายงานเง็กเซียนฮ่องเต้ในวันแรกของเทศกาลตรุษจีน สิ่งที่เทพเจ้าเตาไฟนำรายงานจะมีผลต่อโชคชะตาเคราะห์กรรมในปีต่อไป ดังนั้น จึงต้องมีพิธีขอบคุณและเอาใจเทพเจ้าเตาไฟ เพื่อให้ท่านรายงานแต่เรื่องดี ๆ ต่อเง็กเซียนฮ่องเต้ จะเรียกวันนี้ว่า “วันส่างสิน” ซึ่งของที่นำมาเซ่นไหว้ จะมีขนมเข่ง ของหวาน และน้ำชา เพราะเชื่อว่าขนมจะเหนียวติดปาก ทำให้กล่าวรายงานไม่สะดวก หรือรายงานแต่เรื่องอ่อนหวานดีงาม บางบ้านมีสุราเป็นของเซ่นไหว้ด้วย เพราะเชื่อว่าฤทธิ์สุราจะทำให้การกล่าวรายงานไม่ราบรื่น บางท้องถิ่น เช่น มณฑลฝูเจี้ยน จะมีอ้อยควั่นเพิ่มในรายการของไหว้ด้วย เพราะนอกจากจะไปพืชรสหวานแล้ว อ้อยในภาษาฮกเกี้ยน ออกเสียงว่า “ก้ามเจี่ย” คล้ายคำว่า “กัมเสี่ย” ที่แปลว่า ขอบคุณ และเมื่อเซ่นไหว้เสร็จแล้วก็จะเผากระดาษเงินกระดาษทอง เปลี่ยนป้ายชื่อใหม่เพื่อให้เทพเจ้าเตาไฟองค์ใหม่มาสถิตแทนใน “วันเฉี่ยสีน”
 

ด้านชนกลุ่มน้อยในประเทศเวียดนาม ก็มีความเชื่อเกี่ยวกับเตาไฟที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเผ่าม้งในเวียดนามนั้น เตาไฟคือเทพแห่งชีวิตที่คอยปกป้องดูแลครอบครัว การสร้างเตาไฟเป็นภารกิจสำคัญมาก เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้วจะเชิญผู้มีประสบการณ์มาตั้งเตาไฟแล้ววางกระทะลงบนเตา โดยห้ามคนอื่นยืมกระทะ แต่ถ้าจำเป็นต้องให้ยืม ก็ต้องวางก้อนหินลงบนเตาไฟแทน ซึ่งชาวม้งแต่ละบ้านมักจะมีเตาไฟสองที่คือ เตาใหญ่และเตาเล็ก เตาใหญ่จะตั้งอยู่ที่ห้องกลางบ้านเพื่อให้ความอบอุ่น และเป็นส่วนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบ้านเพราะใช้บูชาเทพประจำครอบครัว คนนอกครอบครัวจะเข้ามาในส่วนนี้ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของบ้านก่อน ส่วนเตาขนาดเล็กจะมีสองเตาอยู่ในครัวหลังบ้าน เตาหนึ่งใช้ต้มแหม่นแม้น (อาหารพื้นบ้านของชาวม้ง) อีกเตาหนึ่งใช้ต้มเนื้อสัตว์และเหล้าสำหรับดื่มกินในครอบครัว ส่วนเตาหลังบ้านก็มีข้อห้ามเช่นกัน ได้แก่ ห้ามนั่งหรือเหยียบเตา ห้ามเคาะเตาเพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงป่วยง่าย
 

เผ่าเคอมู้ในเวียดนาม เชื่อว่าเตาไฟคือสัญลักษณ์ของเทพแห่งไฟและการฟื้นคืนชีพ ไม่ว่าบ้านจะหลังใหญ่หรือเล็กก็ต้องมีเตาไฟสามที่ คือ ที่ส่วนหน้าของบ้าน ใช้ทำอาหารประจำวันและรับแขก ที่ใต้เสาหลักกลางบ้าน สำหรับบูชาบรรพชน และที่ท้ายบ้าน สำหรับนึ่งข้าวเหนียวเท่านั้น ที่ต้องแยกเตาเพราะอาหารสำหรับเซ่นไหว้บรรพชนจะต้องทำในเตาเฉพาะเท่านั้น จะไม่ปะปนกับเตาสำหรับทำอาหารกินเองในครอบครัว
 

สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในประเทศไทย ด้วยความเชื่อสมัยก่อนที่เชื่อว่าทุกหนแห่งในหมู่บ้าน ไร่นา หรือป่าเขา หากมีพิบัติภัยหรือการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น ล้วนแต่เป็นการดลบันดาลของผี เพราะมีผู้กระทำผิดผีนั่นเอง และด้วยอาศัยอยู่ในเทือกเขาสูง มีอากาศหนาวเย็น พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับเตาไฟมาก เพราะเตาไฟให้ทั้งความอบอุ่นและเป็นที่ผึ่งเมล็ดพันธุ์ ทั้งเชื่อว่ามีผีเตาไฟสถิตอยู่ ดังนั้น จึงห้ามเคาะ ทุบ หรือทำความเสียหายแก่เตาไฟ รวมทั้งห้ามแขวนสิ่งของเหนือเตาไฟ ผิดไปจากนี้ ถือว่าผิดผี จะต้องมีการเสียผีชดใช้ให้กับเจ้าของบ้านตามกฎการเสียผีที่แต่ละหมู่บ้านหรือชุมชนกำหนด เช่น ชดใช้เป็นเงิน ชดใช้ด้วยพิธีเซ่นไหว้ขอขมา หรือชดใช้ทั้งเงินและทำพิธี เป็นต้น
 

แม้เตาไฟมีบทบาทน้อยลงในบ้านเรือนยุคปัจจุบัน เพราะถูกแทนที่ด้วยเตาแก๊สหรือเตาไฟฟ้าสมัยใหม่ที่มีความสะดวกสบายและประหยัดพื้นที่กว่า แต่ก็ยังไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำของคนว่าครั้งหนึ่งเตาไฟพื้นบ้านเคยสร้างความอบอุ่นและอิ่มอร่อยให้กับครอบครัวมาอย่างยาวนาน