หม้อน้ำ



คำอธิบาย

หม้อน้ำ เป็นภาชนะดินเผาชนิดไฟแรงต่ำ (Earthernware) ใช้สำหรับใส่น้ำดื่มในบ้านเรือนของชาวล้านนา ใช้คู่กับน้ำบวยหรือกระบวยสำหรับตักน้ำ โดยตั้งหม้อน้ำไว้บนหิ้งน้ำหรือ "ฮ้านน้ำ" ยกพื้นสูง บางครั้งมีการมุงด้วยกระเบื้อง ใบตองตึงคล้ายกับเป็นเรือนเล็ก ๆ ใช้วางหม้อน้ำ และมีที่สำหรับแขวนกระบวยตักน้ำ

รูปแบบของหม้อน้ำพื้นเมืองล้านนาเท่าที่พบมีอยู่ 3 รูปแบบคือ หม้อก้นเรียบ มีขนาดใหญ่ อ้วนกลมและหนักกว่าหม้อน้ำชนิดอื่น ๆ ก้นหม้อจะเรียบ ตั้งได้ ปากหม้อกว้าง ตัวหม้ออ้วน ที่คอหรือไหล่หม้อทำเป็นลายหยักยกเป็นขอบและมีการตกแต่งด้วยลวดลายขูดขีดเป็นริ้ว ๆ ปากหม้อทำเป็นขอบกลม

หม้อก้นกลม มีลักษณะก้นกลมมน ตัวหม้อกลม ไม่มีคอและไหล่หม้อ ฝาหม้อมีการตกแต่งด้วยลายขอบหยัก เวลาตั้งนิยมใช้กะละมัง เศษกระเบื้องหรือเศษไม้ไผ่ที่เหลือจากการเหลามาขดแล้วมัดเป็นวงกลม เรียกว่าตั้งหม้อ ใช้รองก้นหม้อไม่ให้ล้ม

หม้อที่มีเชิงหรือตีน เป็นหม้อที่มีเชิงหรือตีนตั้งไว้เป็นฐานตั้งได้ ตัวหม้ออ้วน สูง เพรียว ปากแคบ ขอบปากกลม คอและไหล่หม้อมีการตกแต่งด้วยลายขูดขีด ไหล่หม้อทำเป็นขอบหยัก ฝาหม้อมีการตกแต่งด้วยลายหยักเช่นกัน

ความเชื่อเกี่ยวกับหม้อน้ำของชาวล้านนาคือ เมื่อถึงวันปีใหม่เมืองหรือวันสงกรานต์ จะนิยมเปลี่ยนหม้อน้ำใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้าน โดยเชื่อว่าเมื่อนำหม้อใหม่เข้าบ้านจะพบแต่สิ่งใหม่ ๆ ดี ๆ ตลอดปี ส่วนหม้อน้ำเดิมจะนำไปทิ้งหรือนำไปใส่น้ำในครัวหรือใช้อย่างอื่น

ส่วนน้ำบวยหรือกระบวย เป็นภาชนะสำหรับตักน้ำ ทำจากกะลามะพร้าว (กะโป้หมากพร้าว) สันนิษฐานว่าพัฒนามาจากการใช้อุ้งมือวักน้ำดื่มมาเป็นการใช้เปลือกผลไม้ เช่นกะลามะพร้าวและใบไม้บางชนิดที่มีลักษณะพอที่จะตักน้ำได้ แล้วพัฒนารูปแบบให้สามารถใช้สอยได้สะดวกยิ่งขึ้น ประกอบด้วยส่วนสำคัญสองส่วนคือ คันสำหรับจับถือและภาชนะส่วนที่ตักน้ำ โดยทั่วไปแล้วคันหรือด้ามสำหรับจับนี้มักทำจากไม้สัก ส่วนที่ตักน้ำทำจากกะลามะพร้าว น้ำบวยเป็นภาชนะใช้สำหรับตักน้ำจากหม้อน้ำ เพื่อใช้และดื่มของชาวล้านนามาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนั้นน้ำบวยกับหม้อน้ำจึงเป็นของคู่กัน น้ำบวยมักจะถูกวางไว้ที่ซองน้ำบวย คือที่สำหรับวางกระบวยอยู่ข้าง ๆ หม้อน้ำ ในอดีตชาวล้านนาแทบทุกครัวเรือนจะทำน้ำบวยสำหรับไว้ใช้สอยในครัวเรือนของตนเอง

นอกเหนือจากจะเป็นที่นิยมใช้ในแถบล้านนาแล้ว น้ำบวยหรือกระบวนก็ยังมีใช้ในภาคอีสานด้วยเช่นกัน เพียงแต่น้ำบวยในภาคอีสานจะทำออกมาแบบง่าย ๆ ไม่แกะสลักด้ามเป็นลวดลายอย่างน้ำบวยในแถบล้านนาที่นิยมแกะสลักตกแต่งด้ามกระบวยให้สวยงาม เป็นลวดลายรูปคน รูปสัตว์หรืออาจจะลงรัก ทาชาด ปิดทองอย่างงดงาม

การตั้งหม้อน้ำพร้อมกระบวยวางคู่กันในฮ้านน้ำตามริมทางสำหรับผู้สัญจรไปมาได้ดื่มน้ำดับกระหายโดยไม่คิดมูลค่า เป็นการแบ่งปันแก่คนเดินทางโดยไม่จำเพาะเจาะจง ไม่จำเป็นต้องรู้จักมักคุ้น ถือเป็นทานอันยิ่งใหญ่ สะท้อนให้เห็นลักษณะนิสัยใจคอของคนในภูมิภาคนี้ที่มีความเอื้อเฟื้อ นึกถึงผู้อื่น ซึ่งถึงแม้ในปัจจุบันฮ้านน้ำจะค่อย ๆ ลดหายไปแต่ก็ยังพอพบเห็นได้บ้างในภาคเหนือและในประเทศเมียนมาร์ สะท้อนถึงการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมของผู้คนมอญพม่าล้านนาและล้านช้างที่อยู่ใกล้ชิดติดกัน

ปัจจุบันความนิยมในการใช้หม้อน้ำและน้ำบวยเหลือน้อยลง เนื่องจากวัฒนธรรมการใช้หม้อน้ำสำหรับใส่น้ำกินน้ำใช้และใช้น้ำบวยสำหรับตักน้ำเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังมีภาชนะสำหรับตักน้ำที่ทำจากวัสดุสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ ดังนั้นการทำน้ำบวยจึงเหลือน้อยลง แต่กระนั้นน้ำบวยก็ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการทำบ้างโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุตามชุมชนต่าง ๆ ที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงยังคงมีชาวบ้านส่วนหนึ่งทำน้ำบวยเพื่อสำหรับใช้สอยในครัวเรือน และอีกส่วนหนึ่งส่งจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึก รวมถึงเป็นงานศิลปกรรมด้วย