เครื่องเขิน



คำอธิบาย

เครื่องเขินเป็นงานหัตถกรรมประเภทหนึ่ง นิยมทำเป็นภาชนะหรือเครื่องใช้ประเภทต่าง ๆ ด้วยการสานตอกไม้ไผ่เป็นรูปทรงก่อน จากนั้นจึงฉาบด้วยรักสมุกหรือรักชาด เขียนลวดลายประดับตกแต่งด้วยชาด ทองคำเปลวและสีต่างๆ 

แต่เดิมคำว่าเครื่องเขินในไทยไม่ได้มีการบันทึกไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพียงแต่กล่าวถึงการใช้รักในการสร้างเครื่องใช้ต่าง ๆ หรือใช้ในการสร้างวัดและพระพุทธรูปเป็นส่วนมาก สิ่งที่ใกล้เคียงกับเครื่องเขินที่สุดมาจากคำที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กล่าวไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่าว่า “เครื่องลงรัก” นับว่าคำว่า “เครื่องเขิน” ยังไม่ปรากฏหรือยังไม่เป็นที่นิยมใช้เรียกภาชนะดังกล่าวอย่างแพร่หลายอย่างน้อยจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5

วิถี พานิชพันธ์ (2538) กล่าวว่า เครื่องเขินหมายถึงภาชนะ เครื่องมือของใช้ที่ผลิตขึ้นโดยชาวเชียงใหม่ที่มีเชื้อสายไทขืน (หรือไทเขิน) โบราณ คำนี้น่าจะบัญญัติขึ้นมาจากข้าราชการส่วนกลางที่มาอยู่ในภาคเหนือเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว ไทเขิน คือชาวพื้นเมืองในลุ่มแม่น้ำเขิน ในแคว้นเชียงตุง ในกลุ่มตระกูลไทลื้อ เข้ามาเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ในยุคเก็บผักใส้ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ชาวไทเขินที่มีฝีมือด้านหัตถกรรมเครื่องเขินจึงมาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่นั้นมา โดยอาศัยอยู่บริเวณวัดนันทาราม

เครื่องเขินในพื้นที่ต่าง ๆ มีการโอนถ่ายกันไปมา เนื่องจากในอดีต มีการศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่า โดยเฉพาะในพื้นที่ของล้านนามีการกวาดต้อนผู้คนไปมาอยู่หลายระลอก ทั้งจากล้านนามาพม่า และพม่ามายังล้านนาซึ่งบรรดาช่างฝีมือด้านหัตถกรรมก็มักเป็นที่ต้องการ จึงทำให้งานหัตถกรรมอย่างเครื่องเขินแพร่หลายไปยังดินแดนพม่าด้วย โดยพม่าเรียกเครื่องเขินว่า ยูนเถ่ หรือเครื่องใช้ของคนยวน ซึ่งหมายถึงไทยวน อันเป็นคนส่วนมากในบริเวณแปดจังหวัดของภาคเหนือของไทย และรวมไปถึงในรัฐฉานตะวันออกด้วย จนกระทั่งเมื่อแต่ละประเทศถูกแบ่งแยกออกจากกันด้วยความเป็นรัฐสมัยใหม่ ทำให้เครื่องเขินของในแต่ละพื้นที่ก็มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาต่อไปตามแต่ละพื้นที่โดยไม่มีการปฏิสัมพันธ์กันอีก

การทำเครื่องเขินเริ่มจากใช้ตอกไม้ไผ่สานขึ้นเป็นโครงของภาชนะที่ต้องการจะทำ แล้วจึงทาด้วยยางรักหลาย ๆ ชั้น การทารักในชั้นแรกจะเป็นการยึดโครงของผิวภาชนะให้เกิดความมั่นคงแล้วจึงผึ่งให้แห้ง จากนั้นจึงทารักชั้นต่อ ๆ ไปเพื่อตกแต่งพื้นผิวของภาชนะให้เรียบ ทำขั้นตอนนี้ประมาณ 2-3 ครั้ง จากนั้นจึงทารักเงาในชั้นสุดท้ายเป็นการตกแต่งให้เกิดความสวยงาม อาจเพิ่มเติมด้วยการเขียนลวดลาย การปิดทาง หรือการขุดผิวให้เป็นร่องลึกแล้วฝังรักสีที่ต่างกันเป็นลวดลายสวยงาม หากเป็นภาชนะทั่วจะนิยมใช้รักสีดำและตกแต่งด้วยสีแดงของชาด ส่วนภาชนะที่ใช้ในพิธีการต่าง ๆ จะทำการตกแต่งเชิงศิลปะ เช่น ใช้ทองคำเปลวประดับ บางชิ้นอาจมีการปั้น กดรัก พิมพ์รักให้เป็นลวดลาย ลวดลายที่นิยมทำมีทั้งลายกนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายเฟื่อง ลายบัว ลายรักร้อย ลายประจำยาม ลายก้านขด ลายกระจัง ลายธรรมชาติ ตลอดจนภาพนิทานชาดก และลายสิบสองราศี ภาชนะที่นิยมทำเป็นเครื่องเขินได้แก่เชี่ยนหมาก พาน ขันโอ ขันโตก ขันน้ำ ถาด

คุณสมบัติของเครื่องเขิน คือ มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่นได้บ้าง ไม่แตกหักเสียหายในทันที วัสดุที่ใช้ก็สามารถหาได้ทั่วไปในท้องถิ่น เทคนิคการตกแต่งไม่ซับซ้อน และสนองตอบรสนิยมการใช้สอยในชีวิตประจำวันของชาวล้านนาในอดีต

ในปัจจุบัน เมื่อมีการผลิตภาชนะด้วยวัตถุดิบต่าง ๆ อย่าง พลาสติก อะลูมิเนียม หรือสแตนเลสที่มีความทนทาน สะดวก หาซื้อง่าย ทำให้ความนิยมในการใช้เครื่องเขินลดลงไป แต่ก็ยังคงมีการผลิตเครื่องเขินเพื่อจำหน่ายเป็นของฝากของที่ระลึกซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของชาวล้านนา แต่การผลิตเครื่องเขินในหลาย ๆ แหล่งก็มีการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบเนื่องจากความสะดวกสบายในการจัดหา และสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้รวดเร็วขึ้น เช่น การใช้สีน้ำมันแทนการใช้ยางรัก เป็นต้น ซึ่งอาจจะทำให้คุณค่าของเครื่องเขินลดลงไป