น้ำเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตมนุษย์มาอย่างยาวนาน ภูมิปัญญาการเก็บกักน้ำไว้ใช้สอยจึงถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยใช้มือวักน้ำ นำไปสู่การคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ตักน้ำจากธรรมชาติ ตลอดจนคิดสร้างถังน้ำใบย่อมไปจนกระทั่งเขื่อนกั้นน้ำขนาดใหญ่
ภาคใต้ เรียกอุปกรณ์ตักน้ำว่า “หมา” หรือ “ติหมา” กล่าวกันว่าแผลงมาจากคำว่า Timba ในภาษามลายู ที่เป็นภาชนะตักน้ำทำจากกาบหมาก บ้างก็ว่าอาจเพี้ยนตามสำเนียงปักษ์ใต้จาก “หมาก” กลายเป็น “หมา” โดยหมาของภาคใต้จะมีสามประเภท คือ
1. หมาจาก ทำมาจากใบจากอ่อนส่วนยอดที่ยังไม่แตกออกเป็นใบ ตัดออกมาให้ยาวสัก 1-3 ศอก เพื่อทำหมาจาก 2-3 ลูก ตัดให้เหลือแค่ก้านกับใบแล้วนำไปผึ่งแดดให้หมาดและเหี่ยวนุ่ม คลี่ใบออกด้านหนึ่งแล้วหักพับครึ่งกลับไปด้านหลัง สอดใบจากสลับกับโคนปลายใบ ก้านทั้งสองด้านจะสอดเข้ากันได้พอดี ให้สอดเรียงไปเรื่อย ๆ จนได้ขนาดที่ต้องการแล้วจึงม้วนให้กลม รวบปลายประสานกันโดยใช้ก้านจากหรือหวายมัดไว้ ก็จะได้อุปกรณ์ตักน้ำตามภูมิปัญญาชาวใต้ ซึ่งหมาจากนิยมใช้กันมากในแถบอำเภอปากพนัง เชียรใหญ่ และหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่ใช้ตักน้ำจากบ่อ ใช้วิดน้ำท้องเรือ ใช้ตักน้ำผึ้ง (น้ำหวานจาก) เป็นต้น
2. หมาต้อหมาก หรือ ต้อหมาก ทำมาจากกาบหมากที่หุ้มทะลายหมากซึ่งเป็นส่วนที่มีหนามมาก ต้องใช้มีดเกลาหนามออกให้หมดก่อนนำมาผูกหัวท้ายติดกันแล้วพับทบมัดปลายด้วยหวายจนแน่น ได้เป็นหูจับหรือที่ผูกเชือก โดยหมาต้อหมากจะนิยมใช้กันมากในแถบอำเภอร่อนพิบูลย์และลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะเป็นบริเวณที่ปลูกต้นหมากได้เป็นจำนวนมาก
3. หมาต้อหลาวโอน หรือ ต้อหลาวโอน ทำจากกาบต้นหลาวโอนที่มีลักษณะคล้ายต้นหมากแต่ใหญ่กว่า ใบจึงใหญ่กว่าด้วย อีกทั้งอายุการใช้งานก็ยาวนานกว่าหมาต้อหมาก โดยอยู่ที่ 2-3 ปี ขณะที่หมาต้อหมากจะมีอายุการใช้งานราว 1-2 ปี ซึ่งหมาต้อหลาวโอนจะมีใช้กันเฉพาะถิ่นที่มีต้นหลาวโอนอยู่คือแถบอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยกรรมวิธีการผลิตเหมือนกับหมาต้อหมาก
ลักษณะของหมาจะคล้ายกับน้ำทุ่งตรงที่ส่วนหูจะมีน้ำหนักมากเพื่อให้คว่ำตักน้ำได้ง่าย หมาบางท้องถิ่นส่วนหูจะเล็กข้างใหญ่ข้างเพื่อถ่วงน้ำหนักให้เอียงยามที่อยู่บนผิวน้ำ
เวลาใช้งานจะใช้ไม้ยาวมีตะขอเกี่ยวกับหูของหมาแล้วค่อย ๆ หย่อนลงบ่อ ตวัดน้ำเข้าให้เต็มหมาแล้วดึงขึ้น บางครั้งสามารถใช้เถาวัลย์หรือเชือกผูกกับหูแทนไม้ยาวได้เช่นกัน
ปัจจุบัน “หมา” จากวัสดุธรรมชาติได้เสื่อมความนิยมลงไป มีให้เห็นให้ใช้น้อยลง เพราะการเข้ามาแทนที่ของภาชนะโลหะและพลาสติก แต่ชาวบ้านก็ยังคงเรียกภาชนะจากวัสดุสมัยใหม่ว่า “หมาถัง” หรือ “หมาพลาสติก” กันอยู่