ครุ



คำอธิบาย

ครุหรือน้ำทุ่งเป็นภาชนะสำหรับตักน้ำในบ่อน้ำ รูปแบบของครุที่ใช้กันมาแต่เดิมคงเป็นครุทรงกระบอกที่สานจากไม้ไผ่ มีหูสำหรับจับหรือผูกเชือกเพื่อหย่อนลงไปตักน้ำในบ่อน้ำ ต่อมาจึงได้รับการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้นและสอดคล้องกับความนิยมของผู้ใช้ ทำให้ครุหรือภาชนะสำหรับตักน้ำจากบ่อน้ำในแต่ละท้องถิ่นจึงมีรูปแบบและวัสดุที่แตกต่างกันไป สำหรับในภาคเหนือจะเรียกภาชนะนี้ว่าน้ำทุ่งหรือน้ำถุ้ง ส่วนภาคใต้ภาชนะสำหรับตักน้ำว่าหมา สันนิษฐานว่าอาจจะมาจากคำว่า Timba ในภาษามลายูหมายถึงภาชนะสำหรับตักน้ำที่ทำมาจากกาบหมาก

 

ครุนิยมสานด้วยตอกไม้ไผ่ให้มีรูปทรงตามแต่ละท้องถิ่นนิยมใช้ ซึ่งมีทั้งทรงกระบอก ทรงตะกร้า ถัง หรือขัน ปากคุ้มเข้า ก้นสอบ แล้วทาด้วยรักหรือน้ำมันยางสำหรับกันน้ำรั่วซึม มีหูหรือบางทีเรียกว่าห่วงครุสำหรับหิ้วหรือใช้เชือกผูกเพื่อหย่อนลงไปตักน้ำในบ่อ ส่วนก้นทำเป็นฐานกากบาทด้วยไม้เพื่อให้ครุตั้งได้มั่นคง ในบางท้องถิ่นก็ใช้กะต่าหรือตะกร้าที่สานทึบมายาชันผสมน้ำมันยางเพื่อใช้แทนครุเลยก็มี สำหรับน้ำทุ่งซึ่งเป็นภาชนะสำหรับตักน้ำของทางภาคเหนือนั้นจะมีรูปแบบเฉพาะถิ่น สานด้วยตอกไม้ไผ่ให้มีรูปทรงเป็นกรวยป้อม ๆ เหนือขอบปากมีไม้ไขว้กันเป็นหูสำหรับจับและผูกเชือกขณะหย่อนลงไปตักน้ำเช่นกัน ด้วยรูปทรงปากกลม ก้นสอบแหลมคล้ายกรวยของน้ำทุ่ง เมื่อหย่อนลงไปถึงผิวน้ำจะทำให้น้ำทุ่งไม่ตั้งอยู่บนผิวน้ำแต่จะตะแคงให้น้ำเข้าได้ แค่ผู้ตักน้ำกระตุกเชือกที่ผูกหูเพียงเล็กน้อยก็จะตักน้ำได้โดยสะดวก นอกเหนือจากรูปทรงดังกล่าวจะช่วยให้ตักน้ำได้ดีแล้ว หูไม้ที่ไขว้กันเหนือตัวน้ำทุ่งซึ่งมีน้ำหนักมากก็ช่วยให้น้ำทุ่งคว่ำได้ง่าย การใช้น้ำทุ่งตักน้ำ หากใช้ในบ่อน้ำลึก ๆ จะใช้ผูกปลายไม้หย่อนลงไปในบ่อแล้วชักขึ้นมา ซึ่งจะช่วยลดน้ำหนักของน้ำได้ส่วนหนึ่งและชักขึ้นได้สะดวก นอกจากรูปทรงของน้ำทุ่งจะใช้ประโยชน์ได้ดีแล้ว ยังทำด้วยไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุพื้นบ้านที่หาได้ง่าย น้ำทุ่งจึงเป็นงานหัตถกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้สอยตามลักษณะภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ของทางภาคเหนือ

 

การใช้น้ำทุ่งนั้นมีปรากฏมาแต่โบราณ มีหลักฐานในภาพจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหารหลายแห่ง เช่น ภาพคนหาบน้ำทุ่งบนผนังวิหารจตุรมุขวัดภูมินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน อายุประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 22 แสดงให้เห็นถึงการพัฒนารูปแบบภาชนะสำหรับตักน้ำของชาวล้านนามาแต่โบราณจนใช้ประโยชน์ได้ดี ทำให้น้ำทุ่งเป็นภาชนะสำหรับตักน้ำจากบ่อของชาวล้านนามานานหลายร้อยปีโดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอีก

ครุหรือน้ำทุ่งมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันหลายชื่อ ครุที่สานด้วยตอกไม้ไผ่เรียกว่าครุไม้ไผ่ ครุที่ทำจากสังกะสีก็เรียกครุสังกะสี สำหรับน้ำทุ่งซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันในภาคเหนือที่สานด้วยไม้ไผ่ก้นแหลม เมื่อใช้เชือกผูกหย่อนลงไปตักน้ำในบ่อน้ำที่ลึก เมื่อถึงน้ำ น้ำทุ่งก็จะตะแคงตักน้ำก็จะมีชื่อเรียกว่าคุแคลงหรือแครง ส่วนหมาของภาคใต้นั้นมี 3 ชนิดคือหมาจาก หมาต้อ และหมาต้อหลาวโอนหรือหมาหลาวโอน

ในปัจจุบันการใช้ครุหรือน้ำทุ่งลดลงเนื่องจากระบบสาธารณูปโภคที่พัฒนาขึ้นทำให้การใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคสะดวกสบายขึ้นและมีความสะอาดกว่าการใช้น้ำจากบ่อน้ำ หลายครัวเรือนมีน้ำประปาเข้าถึง การใช้ครุจึงหมดความจำเป็นลงไปเรื่อย ๆ แต่ปัจจุบันก็ยังมีชุมชนบางท้องที่ที่ยังคงสานครุหรือน้ำทุ่งอยู่แต่ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างไปจากเดิม คือใช้เป็นภาชนะในการตกแต่งบ้านเรือน ใช้แทนกระถางต้นไม้แบบแขวนหรือใช้เป็นกระเช้าของขวัญที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในท้องถิ่น โดยชุมชนที่ยังคงมีการสานน้ำทุ่งจนกลายเป็นสินค้า OTOP สร้างชื่อให้กับชุมชนคือชุมชนบ้านธิ จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมของชุมชนชาวไทลื้อ นอกเหนือจากจะมีการสานน้ำทุ่งเพื่อเป็นสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว ก็ยังมีการฝึกอบรมกิจกรรมถ่ายทอดความรู้การทำน้ำทุ่ง รวมถึงการออกงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ถึงแม้น้ำทุ่งจะไม่ได้ถูกนำมาใช้สอยในครัวเรือนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่ยังแสดงถึงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย