ตะคัน เป็นเครื่องปั้นดินเผาทรงชาม แต่มีหลอดกลวงตรงกลางสำหรับสอดไส้ที่ทำจากด้ายฟั่นที่สอดลงไปจนถึงไขสัตว์หรือน้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิง ใช้จุดตามไฟให้แสงสว่างเหมือนตะเกียง
ตะคันถือเป็นเครื่องตามไฟเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณ คาดว่ามีใช้กันตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 8โดยพบเครื่องปั้นดินเผามีจะงอยยื่นออกมาเพื่อพาดไส้สำหรับจุดไฟ มีการใช้ไขสัตว์ น้ำมันปลา น้ำมันมะพร้าวเป็นเชื้อเพลิง ไส้ในทำจากด้ายดิบหรือเปลือกไม้ เพื่อช่วยให้เชื้อเพลิงลุกไหม้เป็นเวลานาน
เราจะพบตะคันได้ตามแหล่งโบราณคดีในประเทศไทยหลายที่ เช่น ตะคันดินเผาที่บ้านคูเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 8-9 ตะคันดินเผาสมัยทวารวดีที่บ้านคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 รูปแบบของตะคันได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับเพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ เช่น ทำรูที่ขอบปากเพื่อสอดไส้และป้องกันไม่ให้ไส้จมลงไปในเชื้อเพลิง หรือทำเป็นหลอดตรงกลางเพื่อให้ไฟลุกเป็นเปลวและมีการกระจายแสงออกโดยรอบ ตลอดจนการตกแต่งลวดลายรอบ ๆ ตะคันให้มีความวิจิตรงดงามหรือเสริมเชิงเพื่อให้ตะคันตั้งได้อย่างมั่นคง
ปัจจุบัน แม้เราจะมีหลอดไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างยามค่ำคืนมาเป็นเวลากว่าร้อยปีแล้ว แต่ก็ยังคงพบเห็นตะคันดินเผาได้อยู่เสมอ ทั้งการจุดใช้ร่วมกับเครื่องหอมเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือการจุดเพื่อสร้างบรรยากาศความงามยามค่ำคืนในสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนการนำมาประยุกต์สร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์ที่เรียกว่า “ฟ้อนตะคัน” ที่นายจตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2552 สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย พ.ศ. 2531 ร่วมกับคณะครูภาควิชานาฏศิลป์และดุริยางค์ไทย ได้ประดิษฐ์ท่ารำประกอบการใช้ตะคันขึ้น เพื่อสื่อถึงความรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัยและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย
ในอดีต จะใช้ตะคันแบบไม่มีไส้ตรงกลางเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำน้ำอบไทยแบบโบราณด้วย โดยการนำตะคันไปเผาไฟให้ร้อนจัด จากนั้นจึงนำไปวางบนทวยที่อยู่ในหม้อน้ำอบอีกทีหนึ่ง ใส่เครื่องปรุงกำยานกลิ่นหอมที่บดละเอียดในตะคัน แล้วจึงปิดฝาหม้อทิ้งไว้ 20-30 นาที หรือจนกว่าจะหมดควัน ทำซ้ำเช่นนี้ไม่ต่ำกว่าสามครั้ง เพื่อให้น้ำอบมีกลิ่นหอม โดยสมัยโบราณจำนวนครั้งในการอบมักจะเป็นเลขคี่ เช่น สามครั้ง ห้าครั้ง เจ็ดครั้ง เป็นต้น ยิ่งมากครั้งกลิ่นน้ำอบก็จะยิ่งหอม