เบ็ดลอยเป็นเบ็ดตัวใหญ่ ผูกเชือกต่อกับทุ่น ที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ เปลือกมะพร้าว โฟม หรือฟองน้ำคล้ายเบ็ดปลาไหล ใช้เหยื่อกล้วยสุก ข้าวผสมรำบดเป็นก้อนเกี่ยวกับตัวเบ็ดที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของทุ่นจะใช้เชือกผูกโยงกับลำไม้ไผ่ ปักไว้กลางแม่น้ำลำคลอง หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่กว้างลึก ดักจับปลาใหญ่ เช่น ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาตะเพียน ปัจจุบันปรากฎพบว่าติดปลานิลตัวใหญ่ด้วย
เบ็ดลอยใช้ตัวเบ็ดวัดจากส่วนโค้งถึงปลายโคน ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ผูกด้วยเชือกหลายๆ เส้นต่อผูกติดทุ่น ทำจากไม้ไผ่บางลำใหญ่ตัดไว้ปล่อยหนึ่งปล้อง หรือตัดแต่งจากเปลือกลูกมะพร้าว เผาอังไฟให้ขนเกรียน โฟมหรือฟองน้ำ พบเห็นได้ตามหมู่บ้านใกล้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ บางพื้นที่พบว่า มีการใช้ผลน้ำเต้าเป็นทุ่นลอยน้ำ เรีกกว่า เบ็ดน้ำเต้า
เบ็ดลอยน้ำหรือเบ็ดน้ำเต้า ทำจากผลน้ำเต้าแก่ แห้งสนิท มีเปลือกหนา รูปทรงสมดุล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 14 เซนติเมตร ตัดส่วนที่เป็นคอคอดด้านบนออก ตัวน้ำเต้ามีความสูงประมาณ 9 เซนติเมตร แคะเนื้อแห้งและเมล็ดภายในออก จากนั้นจึงเจาะด้านล่างให้ตรงกับด้านบนเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เพื่อสวมแกน แกนทำจากไม้เนื้อแข็ง ยาวประมาณ 21 เซนติเมตร หนา 4 เซนติเมตร แบ่งส่วนด้านบน 10 เซนติเมตร กลึงให้สวยงาม ส่วนด้านล่างที่เหลือเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ขนาดพอสวมลงพอดีช่วงด้านล่างของลูกน้ำเต้า สอดแกนด้านบนลงด้านล่าง แล้วยึดติดด้วยยางชันให้แน่นป้องกันน้ำไหลเข้า เจาะโคนแกนกลางไม้ให้ทะลุเป็นรู เพื่อผูกเชือกต่อกับตัวเบ็ด ใช้เชือกจำนวนแปดเส้นผูกมัดให้แน่นที่โคนตัวเบ็ด แล้วถักเชือกทั้งแปดเส้นยาวขึ้นประมาณ 20 เซนติเมตร ปลายที่เหลือสอดเข้าในรูที่โคนแกนไม้ผูกมัดให้แน่น เบ็ดน้ำเต้าใช้คราวละหลายๆ ลูก โดยมีเหยื่อได้จากกล้วยสุกหั่นให้เหมาะสมกับตัวเบ็ด หรือใช้ข้าวคลุกกับรำอ่อนใหม่ๆ บดผสมกันให้เหนียวแล้วผสมปุยฝ้าย สำลีหรือปุยนุ่น เพื่อช่วยยึดไม่ให้เหยื่อละลายน้ำง่าย ใช้เรือพายออกไปบริเวณน้ำลึก โดยนำไม้ไผ่เลี้ยงลำยาวติดเรือไปด้วยเมื่อเห็นว่าได้สถานที่จะปักลำไม้ไผ่ยึดพื้นให้แน่น ใช้เหยื่อเกี่ยวเบ็ด ผูกเชือกที่โคนไม้ด้านบนลูกน้ำเต้า ปล่อยเบ็ดน้ำเต้าลงลอยน้ำ ปลายเชือกผูกติดกับลำไม้ไผ่ สั้นยาวไม่เท่ากันเพื่อวางทุ่นเบ็ดน้ำเต้าห่างๆ กัน ป้องกันปลาลากเบ็ดลอยหนีหรือหายไป การวางทุ่นเบ็ดลอยเช่นนี้ เพราะต้องการปลาตัวใหญ่ ทุ่นจะมีหน้าที่ตัดกำลังปลา จากนั้นจึงพายเรือออกจากบริเวณที่วางทุ่น หรือเฝ้ารอคอยปลากินเหยื่อ เมื่อเห็นปลากินเหยื่อ ลูกน้ำเต้าจะกระตุกๆ ปลายทุ่นโยกไปมา เมื่อปลาใหญ่ติดเบ็ด ปลาจะลากทุ่นลูกน้ำเต้าจมน้ำและเมื่อปลาอ่อนแรงลูกน้ำเต้าจะลอยขึ้นเหนือน้ำ สู้กันโผล่ๆ หายๆ เมื่อมั่นใจว่าปลาติดเบ็ดจึงพายเรือเข้าไปยกทุ่นจับปลาได้โดยง่าย เบ็ดน้ำเต้าปัจจุบันพบว่ามีใช้น้อยมาก อาจเป็นเพราะปลาใหญ่ในน้ำมีน้อยลง หรือวิธีการทำต้องใช้ความประณีต เน้นความสวยงาม ดังนั้นจึงพบเห็นเบ็ดลอยที่ทำจากโฟมเป็นจำนวนมาก ส่วนเบ็ดน้ำเต้าก็คงเป็นเพียงอดีตเหมือนเครื่องมืออื่นๆ