หมอนคือเครื่องหนุนศีรษะให้สูงขึ้น เพื่อความสบายและถูกต้องของสรีระร่างกายยามนอนของมนุษย์ หมอนของชาวไทยดำ มีลักษณะเป็นท่อนสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปกติกว้าง 18 ซม. ยาว 30 ซม. และสูง 12 ซม. จุดเด่นอยู่ที่ปลายหมอนทั้งสองข้างจะมีลายปะผ้าสวยงามที่ตัดเย็บเป็นลายดอกจันแปดแฉกด้วยผ้าหลากสี เช่น สีแสด เหลือง เขียว ขาว เป็นต้น หมอนบางใบจะประดับลายส่วนกลางดอกด้วยกระจกเงาเล็ก ๆ เพิ่มงามงามขึ้นไปอีก โดยวัสดุที่ใช้ทำตัวหมอนจะเป็นผ้าฝ้ายสีขาว ยัดด้วยนุ่นจนแน่น และปลอกหมอนทำจากผ้าฝ้ายสีดำ
วิธีการตัดเย็บหมอนแบบไทดำ เริ่มจากการเย็บผ้าสีขาวแปดผืนให้ติดกันตามยาวเป็นทรงกระบอกคล้ายรังผึ้ง ยัดนุ่นลงไปในกระบอกทั้งแปดให้แน่น จนมองดูภายนอกว่ามีสี่ลอนซ้อนกันสองชั้น แล้วจึงใช้ผ้าสองผืนเย็บปิดทั้งสองด้าน จะได้หมอนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายก้อนอิฐขนาดใหญ่
ขั้นต่อมาคือการตกแต่งปลายหมอนทั้งสองข้างด้วยลายปะผ้า เป็นการพับผ้าสีที่เตรียมไว้ให้เป็นกลีบดอกไม้ 12 ดอก ดอกละแปดกลีบ เรียกว่าลายดอกแปด บ้างก็ใช้เศษกระจกเงาเล็ก ๆ หรือเลื่อมสีเงินมาทำเป็นเกสรตรงกลางเพื่อความงาม เมื่อทำดอกแปดเสร็จแล้ว ให้เย็บดอกแปดติดกับปลายหมอนข้างละหกดอกให้สวยงาม จากนั้นจึงตัดเย็บปลอกหมอนแบบเปิดข้างด้วยผ้าสีดำไม่มีลวดลาย แล้วนำมาหุ้มหมอน ซึ่งจะไม่บดบังลวดลายตรงปลายหมอน ลวดลายหลัก ๆ ที่นิยมนำมาประดับปลายหมอนคือ ลายดอกแปด (ลายแปดเหลี่ยม) ลายกลีบบัว ลายดอกจัน เป็นต้น
ลวดลายบนผืนผ้าของชาวไทยดำเป็นการสื่อความถึงคติความเชื่อวัฒนธรรมประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน
ลายดอกแปด เป็นลายที่เกิดจากจินตนาการของบรรพบุรุษไทยดำ โดยการอัญเชิญแถนแปดองค์มาประดิษฐ์ลายผ้า ประกอบด้วย แถนหลวง แถนสิง แถนแนน แถนชาด แถนบัวก่าล่าวี แถนแม่นาง แถนนุ่งขาว และแถนบุญ ยามมีชีวิตอยู่ ผู้ใดแต่งกายด้วยเสื้อผ้าลายดอกแปดจะได้รับการคุ้มครองจากแถน และถ้าเสียชีวิต แถนก็จะปกป้องดูแลวิญญาณของคนผู้นั้น
ลายดอกบัว ตามความเชื่อของชาวไทยดำ ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของเวลา เพราะจะบานตอนเช้าและหุบตอนเย็น และอีกทางหนึ่ง การที่ดอกบัวชูก้านเพื่อหนีโคลนตม ก็แสดงให้เห็นว่าแม้คนเราจะประพฤติตนผิดพลาด แต่ถ้ามีใจมุ่งมั่นก็สามารถบังคับตนเองให้หลุดพ้นวังวนแห่งความผิดพลาดนั้นได้ การประดิษฐ์ลายขาบัวจึงเหมาะกับการขอขมาหรือถวายพระ
ลายดอกจัน เป็นลายที่เกิดจากความเชื่อที่ว่าดอกจันเป็นตำนานรักอมตะในอดีตของชาวไทยดำเวียดนาม ลายดอกจันจึงมักทำเพื่อมอบให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาว ตลอดจนผู้อาวุโสที่เคารพนับถือ เพื่อเป็นการแสดงความรักที่บริสุทธิ์มั่นคง
การทำหมอนถือเป็นงานฝีมือที่สำคัญของหญิงไทยดำในอดีต โดยสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญานี้ผ่านทางมารดา ซึ่งนอกจากจะทำขึ้นเพื่อใช้งานในบ้านเรือนเป็นปกติแล้ว ยังเป็นการทำเตรียมไว้สำหรับเป็นเครื่องเรือนของตนหลังจากแต่งงานแล้วด้วย