ตะเกียงน้ำมันก๊าด



คำอธิบาย

ตะเกียง เป็นเครื่องตามไฟชนิดหนึ่งที่ยังคงมีใช้มาจนปัจจุบัน สันนิษฐานว่าพัฒนามาจากตะคันในสมัยโบราณ มีรูปร่างหน้าตาและวัสดุการผลิตหลากหลายแบบตามลักษณะสภาพแวดล้อมการใช้งาน

ตะเกียงที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยค้นพบในประเทศไทย คาดว่ามีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ 6 พบที่ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ทำจากสำริด สูง 27 ซม. รูปร่างคล้ายกานำ มีกระเปาะใส่น้ำมัน มีส่วนยื่นออกมาทรงถ้วยสำหรับใส่ไส้ตะเกียง ด้ามงอนเป็นลายใบปาล์มและโลมาสองตัว อาจผลิตขึ้นที่เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ คาดว่าผู้ที่นำเข้ามาน่าจะเป็นพ่อค้าอินเดียในสมัยนั้น

ตะเกียงที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ ทั้งวัสดุและความประสิทธิภาพในการให้แสงสว่าง สำหรับประเทศไทยนั้น ในสมัย 40-50 ปีก่อน ตามชนบท มีตะเกียงชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากเพราะทำจากวัสดุและให้แสงสว่างได้เหมาะสมกับราคา เรียกว่า “ตะเกียงน้ำมันก๊าด”

ตะเกียงน้ำมันก๊าด หรือ ตะเกียงกระป๋อง ทำจากวัสดุง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันคือขวดหรือกระป๋องนมโลหะ โดยใช้สังกะสีม้วนเป็นหลอดสำหรับใส่ไส้ที่ทำจากด้ายดิบหรือเศษผ้าที่สอดลงไปในกระป๋องที่มีน้ำมันก๊าดอยู่ ตัวไส้จะดูดน้ำมันก๊าดขึ้นมาจนชุ่ม เมื่อจุดไฟที่ไส้ก็จะมีเปลวไฟให้แสงสว่างที่ยาวนานจนกว่าน้ำมันก๊าดจะหมด

วิธีการทำตะเกียงน้ำมันก๊าด มีดังนี้

1. เปิดปากกระป๋องและล้างทำความสะอาดกระป๋องให้เรียบร้อย โดยกระป๋องก็คือตัวตะเกียง

2. ตัดสังกะสีแผ่นเรียบให้เป็นวงกลมให้พอดีกับตัวตะเกียงแล้วเจาะรูตรงกลาง

3. นำไปเชื่อมกับตัวตะเกียงอีกที

4. ส่วนฝากระป๋องที่เปิดออกจะเอาไปทำเป็นคอตะเกียง โดยนำไปล้างทำความสะอาดเสียก่อน แล้วจึงนำมาตัดเป็นแผ่นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งนิ้ว

5. นำแผ่นวงกลมมาขึ้นรูปเป็นทรงกระบอก แล้วนำไปเชื่อมติดกับตัวตะเกียงที่มีรูตรงกลาง ส่วนหัวตะเกียงจะใช้สังกะสีปักและพับเพื่อใส่ไส้ตะเกียง เป็นอันเสร็จสมบูรณ์

โดยตะเกียงที่ผลิตเสร็จแล้วต้องรีบขาย จะไม่เก็บในสต็อกไว้นาน เพราะจะเป็นสนิม ผู้ผลิตบางรายอาจต่อขาจากก้นตะเกียงเข้าไว้กับฐานที่มั่นคงเป็นตะเกียงแบบสูง ในกรณีที่ต้องการวางให้สูงกว่าพื้นดินหรือจำเป็นวางในถังน้ำหรือแหล่งน้ำตื้น ๆ บางรายก็ทำหูหิ้วเพื่อสะดวกต่อการหยิบจับใช้งาน ชาวบ้านนิยมจุดตะเกียงน้ำมันก๊าดตามคันนาเป็นแนวยาวป้องกันนกกามาจิกกินพืชผล รวมทั้งกันมิจฉาชีพด้วย