ผ้าหลบ



คำอธิบาย

ผ้าหลบ คือ ผ้าปูที่นอนซึ่งใช้ปูทับลงบนฟูกที่นอน (สลี) อีกทีหนึ่ง โดยทั่วไปจะเป็นผ้าฝ้ายสีขาวทอลายขัดธรรมดา ใช้ฟืมที่มีหน้าแคบ กว้างประมาณ 40 – 60 ซม. ดังนั้น จึงต้องทอผ้าสองผืนในลวดลายเดียวกัน แล้วนำมาเย็บต่อกันเพื่อให้มีขนาดพอเหมาะต่อการปูบนฟูกได้พอดี

ผ้าหลบของชาวไทลื้อจะมีลักษณะเด่นอยู่ที่การตกแต่งลวดลายบนผืนผ้า นิยมใช้เส้นด้ายสีแดงสลับสีครามดำ อาจมีเพียง 1 – 2 แถวเฉพาะตรงส่วนเชิงผ้า หรือบางผืนอาจทอลวดลายจนเกือบเต็มผืนผ้า เหลือเพียงส่วนที่เป็นผ้าพื้นสีขาวเฉพาะตรงส่วนบนเท่านั้น

ลวดลายการทอนั้น มีทั้งลายขิดพื้นฐานขนาดเล็กและลายที่เกิดจากการคิดประดิษฐ์ผสมผสานจากลายพื้นฐานจนเป็นลายขนาดใหญ่ สำหรับลายพื้นฐานที่พบอยู่เสมอ คือ ลายขอเล็ก ขอใหญ่ ขอขะแจ๋ (กุญแจ) ลายกาบ ลายหน่วย ลายเครือ ลายดอกจัน ลายนาค และลายคน หรือทอเป็นลวดลายเรขาคณิตและลวดลายสัตว์ เช่น ช้าง ม้า นกหัสดีลิงค์ ปลายสุดด้านที่มีลายจะเหลือปลายฝ้ายเส้นยืนไว้ ยาวประมาณ 1 ฟุต แล้วนํามา “ไป่” หรือถัก เป็นชายครุยตกแต่งเพื่อความสวยงาม

เวลาปูผ้าหลบจะปูลาดให้ด้านที่มีลายไปอยู่ทางปลายเท้า เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าเป็นด้านปลายเท้า  สอดคล้องกับการถือเรื่อง หัว เท้า ไม่ให้ปะปนกัน