คัมภีร์ใบลาน เป็นบันทึกลายลักษณ์อักษรด้วยวิธีจารตัวหนังสือลงบนใบของต้นลาน แล้วเจาะรูร้อยหูด้วยสายสนองหรือเชือกมัดคัมภีร์มัดรวมกันเป็นผูก เนื้อเรื่องที่จารลงบนใบลาน ส่วนใหญ่เป็นพระธรรมคำสอนในพระไตรปิฎกหรือเรื่องที่เกี่ยวเนื่องด้วยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากเรื่องราวทางธรรมแล้ว คัมภีร์ใบลานยังบันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวอันเกี่ยวกับทางโลก เช่น ประวัติศาสตร์ โหราศาสตร์ วรรณกรรม พงศาวดาร กฎหมายโบราณ ตำรายา เวทมนตร์คาถา เป็นต้น
ใบลานเป็นวัสดุที่มีความเปราะบาง สามารถผุกร่อนไปตามกาลเวลาจึงต้องมีการคัดลอกขึ้นใหม่อยู่เสมอ อีกทั้งการที่จะคัดลอกหรือจารคัมภีร์ใบลานได้นั้นต้องอาศัยความชำนาญของผู้จารที่มีความรู้ด้านอักขระโบราณ ซึ่งปัจจุบันหาผู้ชำนาญได้น้อย ทั้งสองสาเหตุนี้ทำให้คัมภีร์ใบลานค่อย ๆ หมดความสำคัญและสูญหายไป
วัดสูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ ตระหนักถึงคุณค่าของคัมภีร์ใบลาน จึงได้สร้างพิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ อนุรักษ์ และสงวนรักษาคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนา ในแถบภาคเหนือของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากคุณค่าของเนื้อหาที่อยู่ในคัมภีร์แล้ว ผ้าห่อคัมภีร์ยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ในอดีตนั้นพุทธศาสนิกชนมีความเชื่อว่าการจารหรือการคัดลอกคัมภีร์ใบลาน รวมถึงการสร้างคัมภีร์ใบลานถวายวัด เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา ผู้ชายที่เป็นผู้จารจะได้อานิสงส์ผลบุญอันยิ่งใหญ่ ส่วนผู้หญิงที่มีศรัทธาแรงกล้าจะนำเอาเส้นผมของตนถักเป็นสายสนองผูกคัมภีร์ใบลาน รวมถึงถวายผ้าห่อคัมภีร์ ก็จะได้อานิสงส์เช่นเดียวกัน
คัมภีร์ใบลาน ประกอบด้วย ใบลาน บันทึกด้วยอักษรธรรมล้านนา โดยใช้เหล็กจาร แล้วจะมัดรวมเป็นผูก มีไม้ประกบ เป็นแผ่นไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างยาวเท่าใบลาน หนาประมาณ 1-2 เซนติเมตร ทำจากไม้เนื้อแข็ง ใช้ขนาบ 2 ข้าง เป็นปกหน้าและปกหลัง อาจมีการตกแต่งให้สวยงาม จากนั้นห่อด้วย ผ้าห่อคัมภีร์ ซึ่งมีหลากหลายชนิด เช่น ผ้าไหม ผ้าต่วน ผ้าซิ่น ผ้าลายขิด ผ้าทอยกดอก ผ้าทอยกดิ้น ฯลฯ มี ไม้ปันจั๊กหรือไม้ฉลาก สำหรับสลักชื่อผู้สร้าง วันเดือนปีและสถานที่สร้าง ระบุไว้ ซึ่งไม้จะมีทั้งสีทองและสีของไม้ธรรมดา แล้วแต่ความต้องการของผู้สร้าง
สำหรับที่วัดสูงเม่น นอกจากคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนาที่ทรงคุณค่าแล้ว ยังมีประเพณีโบราณที่ชื่อว่า ประเพณีตากธรรม ริเริ่มโดยหลวงพ่อครูบามหาเถร ภายหลังได้มีการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2550 ชื่อ “ประเพณีตากธรรม ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า” จัดขึ้นประมาณเดือนมกราคมของทุกปี แต่ละปีมีผู้คนทั่วสารทิศมาร่วมขบวนแห่คัมภีร์ธรรมยาวที่สุดในโลก เป็นการจำลองย้อนอดีตสมัย หลวงพ่อครูบามหาเถร แห่นำคัมภีร์มาไว้ที่เมืองแพร่