กับลวดใช้จับหนูพุกและหนูท้องขาว ที่อาศัยบริเวณท้องทุ่งไร่นา ปัจจุบันใช้กันมากกว่าเครื่องดักจับหนูชนิดอื่นๆ เพราะ ทำได้ง่าย สะดวกในการเคลื่อนย้าย สามารถนำออกไปใช้ได้ครั้งละหลายๆ อัน ทำจากไม้ไผ่ผ่าซีกเหลาเป็นแท่งกลม ความยาวไม่แน่นอนอยู่ระหว่าง 40-80 เซนติเมตร เสี้ยมโคนแหลม สูงจากโคนประมาณ 10 เซนติเมตร บากโดยรอบผูกเส้นลวดที่มีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร มีขายตามร้านค้าในชนบททั่วไป (เส้นลวดเป็นสายสเตนเลสขนาดเล็กไม่เป็นสนิม ยาว 10 เมตร ขดเป็นวงกลม ติดหน้าซองว่า ลวดดักหนู ราคา 15 บาท) ปลายลวดอีกด้านหนึ่ง ทำห่วงให้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-7 เซนติเมตร รูดเข้าออกได้กับลวดทำจากไม้ไผ่มีขนาดเล็กจึงกลมกลืนกับกิ่งไม้ ต้นไม้ ฟางข้าว ดังนั้นจะใช้ผ้าหรือถุงพลาสติกฉีกเป็นริ้วผูกที่ปลายลวด เป็นเครื่องหมายตำแหน่งที่วางกับดัก สะดวกในการเก็บกู้
กับลวดสามารถใส่ถุงหรือย่ามออกดักหนูได้ครั้งละเป็น 100 อัน จะดักในช่วงข้าวเหลืองสุกเริ่มเก็บเกี่ยว ดักกันทั่วไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ แล้วค่อยลดน้อยลงในเดือนเมษายน การวางกับดักจะเริ่ม 3-5 โมงเย็น โดยตรวจดูแหล่งสถานที่ เส้นทางเดินหนู จากนั้นจะใช้เสียบกับดักไว้ริมช่องทางที่หนูใช้เดินหากิน ให้บ่วงขวางทางเดิน ยกบ่วงสูงจากพื้นเล็กน้อยคะเนให้หัวหนูลอดเข้าบ่วงได้แล้วปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืน เมื่อหนูออกหากินจะใช้เส้นทางเดิมๆ เมื่อลอดเข้าบ่วง บ่วงก็จะค่อยๆ รูดดักคอหนูยิ่งดิ้นยิ่งรัดหนูตัวใหญ่จะทำให้ไม้หลุดออกจากพื้น แต่ไม้ก็จะติดกอหญ้า ตอฟางบริเวณนั้น กับลวดต่างกับเครื่องมือชนิดอื่นๆ คือไม่ใช้แรงดึงรัด ด้วยคันไม้หรือหนังยางรัดคอหนูจนตาย ดังนั้นหนูที่ติดกับลวดส่วนมากมักไม่ตาย บางคนจะดึงลวดรัดคอให้หนูตาย หากต้องการทำอาหารเช้าวันนั้น เพราะหากจับเป็นหนูจะหนีหรือกัดเข้าที่นิ้วมือ เจ็บปวดมาก