ผ้าเช็ดหลวง คือผ้าทอชนิดหนึ่งของไทลื้อ มีลักษณะเป็นผืนผ้าสี่เหลี่ยม ยาวประมาณ 2-3 เมตร กว้างประมาณ 15-30 ซม. ใช้ฝ้ายสีขาวถักทอด้วยการขิดหรือจกเป็นลวดลายต่าง ๆ ลักษณะคล้ายตุง สีที่เด่นก็คือสีดำและแดง ชาวไทลื้อจะทำผ้าเช็ดหลวงนี้ถวายวัดเช่นเดียวกับการถวายตุงโดยแขวนไว้ในวิหาร ถวายพระพุทธรูป ในช่วงเทศกาลออกพรรษา และในงานตั้งธรรมเทศน์มหาชาติ
ผ้าเช็ดหลวงและตุงมีขนาดและลวดลายใกล้เคียงและคล้ายคลึงกันมาก จนมักมีการเรียกผ้าเช็ดหลวงสลับกับตุงอยู่เสมอ ๆ โดยความแตกต่างคือ การทอตุงจะมีการสอดไม้ไผ่ที่เหลาเล็ก ๆ หรือบาง ๆ สอดแทนเส้นยืนเป็นระยะ ๆ มีช่องไฟที่ชัดเจนเท่ากันตลอดทั้งผืน แต่การทอผ้าเช็ดหลวง จะไม่มีการสอดเส้นไม้ไผ่
นอกจากนี้ ลวดลายของผ้าเช็ดหลวงจะไม่นิยมทอเป็นลายปราสาทเหมือนตุง แต่จะทอเป็นรูปคน สัตว์ เช่น มอม นกหัสดีลิงค์ ฯลฯ ดอกไม้ และลายเรขาคณิต สันนิษฐานว่าโครงสร้างและลวดลายของผ้าเช็ดหลวงนี้ สืบเนื่องมาจากความเชื่อดั้งเดิมในการนับถือผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติของชาวไทลื้อก่อนที่จะมานับถือศาสนาพุทธ เป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ที่สืบทอดมาจากความเชื่อดั้งเดิม และได้นำมาปรับใช้ในพิธีกรรมการถวายทานเป็นพุทธบูชา หรือเพื่ออุทิศให้แก่บรรพบุรุษ
การทอผ้าเช็ดหลวงยังสะท้อนให้เห็นบทบาทของผู้หญิงไทลื้อมีต่อพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากผู้หญิงไม่สามารถบวชเรียนได้ จึงสะสมสร้างบุญและศรัทธา ด้วยการทอผ้าถวายให้พระสงฆ์เพื่อใช้ในโอกาสต่าง ๆ และถวายเป็นพุทธบูชา
ปัจจุบันมีการเลือกบางลวดลายของผ้าเช็ดมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมไหล่ ผ้ารองจาน