ผ้าห่อคัมภีร์ไม้ไผ่



คำอธิบาย

การถวายคัมภีร์ใบลานเป็นวัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติกันในกลุ่มเชื้อสายไทที่นับถือศาสนาพุทธ เช่น ไทยวน ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ เชื่อว่าผู้ใดสร้างคัมภีร์ใบลานถวายวัด ถือเป็นการสร้างธรรมที่ได้อานิสงส์อันยิ่งใหญ่ และในการถวายคัมภีร์นั้น จะต้องมีผ้าห่อคัมภีร์ห่อหุ้มเพื่อป้องกันสิ่งสกปรก และไม่ให้คัมภีร์ชำรุดเสียหาย จึงเกิดเป็นธรรมเนียมการทอและถวายผ้าห่อคัมภีร์ไปกับคัมภีร์ใบลานทุกครั้ง

ผ้าสำหรับทำผ้าห่อคัมภีร์มีหลากหลายชนิด ทั้งทำจากผ้าต่วน ผ้าฝ้าย ผ้าไหม เพิ่มความวิจิตรงดงามด้วยผ้าพิมพ์ลาย ผ้าทอยกดอก ผ้าทอยกดิ้น ผ้าขิด  บ้างใช้เทคนิคการปักกลึงผสมกระจกสีและปีกแมลงทับ รวมถึงผ้าที่เกิดจากเทคนิคการถักทอร่วมกับวัสดุต่าง ๆ เช่น  การนำไม้ไผ่มาทอสอดแทรกไปในผืนผ้า

ผ้าที่มีไม้ไผ่สอดสลับ จะใช้เส้นฝ้ายหลากสี มีทั้งที่ทอด้วยเทคนิคธรรมดา และทอด้วยวิธีขิดเป็นลวดลายพื้นฐานรูปต่าง ๆ สลับกับไม้ไผ่สอดคั่นเป็นระยะโดยตลอด ไม้ไผ่ที่นำมาทอร่วมในผืนผ้า จะมีทั้งที่มีลักษณะเป็นเส้นกลม และเส้นแบน ใช้สอดแทนเส้นพุ่งในการทอ หรืออีกลักษณะหนึ่งคือทอด้วยวิธีเกาะ โดยสลับสีเส้นฝ้ายกับไม้ไผ่สอดคั่นกันจนเป็นผืนเป็นลวดลายเรขาคณิต มีขนาดกว้างยาวประมาณ 55  X 30 ซม.

ในวัฒนธรรมของกลุ่มคนไทยวน ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ เชื่อกันว่าการนำไม้ไผ่มาทอสอดไปในผืนผ้านั้น เป็นเสมือนขั้นบันไดที่ผู้ทอและผู้ถวายจะสะสมไว้เป็นเนื้อนาบุญ เมื่อผู้ทอและผู้ถวายสิ้นชีวิตไปแล้ว ดวงวิญญาณจะอาศัยไม้ไผ่นั้นแทนขั้นบันได เพื่อเดินทางไปสู่สรวงสวรรค์

ปัจจุบันนี้ประเพณีถวายคัมภีร์และผ้าห่อคัมภีร์อาจจะสูญหายไปจากสังคมและวัฒนธรรมของเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลง คงเหลือแต่ผ้าห่อคัมภีร์เก่าแก่ที่เก็บไว้ในหอธรรมหรือหอไตรตามวัดต่าง ๆ ให้คนรุ่นหลังเข้าไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับผ้าห่อคัมภีร์ ที่ไม่ใช่แค่เพียงความงดงามของผืนผ้าเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยเรื่องราว ความหมายที่ซ่อนเร้นแฝงอยู่ในแรงศรัทธา ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น