ขันกระหย่อง



คำอธิบาย

ขันกระหย่องหรือขันกะย่อง เป็นภาชนะที่สานด้วยตอกไม้ไผ่ชนิดหนึ่งของชาวอีสาน มีรูปร่างคล้ายพาน ส่วนบนสานทึบ ส่วนล่างสานเป็นตาห่าง ๆ หรือในบางครั้งอาจจะสานทึบ ใช้สำหรับวางเครื่องสักการบูชาหรือดอกไม้เพื่อบูชาพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือยกครูเรียนมนต์ เรียนพระธรรม หรือใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญ

การทำขันกระหย่องนั้นอาจอธิบายได้คร่าว ๆ คือนำตอกไม้ไผ่มาสานให้ส่วนบนหนาทึบ สำหรับวางสิ่งของเครื่องบูชาต่าง ๆ  จากนั้นจึงสานห่างในส่วนเอวให้คอดลง แล้วจึงสานหนาลงมาจนถึงส่วนฐานโดยสานเป็นรูปวงกลมหรือสี่เหลี่ยม เนื่องจากขันกระหย่องที่พบในภาคอีสานนั้นมีทั้งขนาดและลวดลายการสานที่แตกต่างกันไปตามแต่ฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของช่าง แต่ก็ยังมีเอกลักษณ์คือรูปทรงเส้นรอบนอกของขันกระหย่องนั้นมีลักษณะแบบโบกคว่ำโบกหงาย (หรือบัวคว่ำบัวหงายในภาษาท้องถิ่นอีสาน)แบบบัวปากพาน มีลักษณะลายสานซึ่งเป็นแม่ลายสำคัญ เช่น ลายขัด ลายเฉลว ลายหัวสุ่ม ลายก้นหอย 

นอกจากจะใช้สำหรับใส่ดอกไม้ ธูปเทียน หรือขันห้าสำหรับบูชาพระพุทธรูปแล้ว ขันกระหย่องถูกใช้ในพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาหรือประเพณีความเชื่อท้องถิ่น เช่นงานประเพณีบุญผะเหวตหรือบุญมหาชาติ ซึ่งเป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสองของชาวอีสาน โดยจะมีการนำขันกระหย่องตั้งตามต้นเสาของศาลาโรงธรรมสำหรับใส่ข้าวพันก้อน

หรือในงานบุญซำฮะ (บุญชำระ) หรือบุญเบิกบ้าน ซึ่งเป็นงานบุญในเดือนเจ็ด (ราวเดือนมิถุนายน) ซึ่งเป็นการทำบุญเพื่อชำระล้างสิ่งที่ไม่ดี เป็นเสนียดตัญไร อันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง เป็นการปัดเป่าความชั่วร้ายให้ออกจากหมู่บ้านเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในหมู่บ้าน ในการประกอบพิธีกรรม เมื่อถึงเดือนหกหรือเดือนเจ็ด คนในชุมชนจะกำหนดวันทำบุญบ้านในวันใดวันหนึ่ง เมื่อถึงวันก็จะมีการปลูกปะรำพิธีหรือ ผาม บริเวณหลักบือบ้าน (ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ใช้บริเวณศาลากลางบ้านประกอบพิธีแทนการปลูกผาม) ก่อนที่จะเริ่มพิธีซำฮะนั้น เฒ่าจ้ำจะทำพิธีเชิญเจ้าปู่หรือผีปู่ตามาร่วมพิธีโดยการนำขันกระหย่องจากศาลปู่ตามาตั้งไว้บริเวณหลักบือบ้าน และให้ทุกเรือนจะต้องเตรียมด้ายไนไหมหลอดสีขาว โยงจากบริเวณปะรำพิธีไปบ้านเรือนของตนต่อไปเรื่อย ๆ จนครบทุกหลังคาเรือน เตรียมขวดน้ำ ด้ายผูกข้อมือ ขันน้ำหอม เมื่อถึงตอนเย็นนิมนต์พระมาสวดพระพุทธมนต์ ตอนเช้าพระเจริญพระพุทธมนต์ ถวายบิณฑบาตแด่พระสงฆ์ รับศีล ปะพรมน้ำพระพุทธมนต์ นำเสลี่ยงหามพระเดินไปรอบหมู่บ้าน หว่านหินแห่ หว่านทราย ตอกหลักบ้านหลักเมือง ตอกหลักปีหลักเดือน เสร็จพิธีแล้วนำน้ำพระพุทธมนต์ปะพรมสัตว์เลี้ยง วัว ควาย และบุตรหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนี้ ยังใช้ขันกะหย่องเป็นที่สำหรับวางผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษของชาวกูยบ้านโนนสำโรง จังหวัดศรีสะเกษที่เรียกว่ากะโม๊ยดุง โดยจะวางไว้ในขันกระหย่องซึ่งอยู่บนหิ้งพระอีกที มีหน้าที่ปกปักรักษาคนในเรือนให้อยู่เย็นเป็นสุข และคอยกำกับให้ลูกหลานมีความประพฤติถูกทำนองคลองธรรม

ถึงแม้จะมีลวดลายสานหรือขนาดที่แตกต่างกันไป แต่ด้วยรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ของขันกระหย่องจึงส่งอิทธิพลไปยังงานหัตถกรรมด้านอื่นด้วยคือ ผ้าทอลายขิดของชาวอีสานซึ่งมีลวดลายที่มีที่มาจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ก่อเกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในลวดลายที่ปรากฏนั้น มีลายที่เรียกว่า ขิดขันกระหย่อง ซึ่งมีที่มาจากขันกระหย่องนั่นเอง

ขันกระหย่องยังคงพบเห็นการใช้งานได้ทั่วไปในภาคอีสานในปัจจุบัน นอกเหนือจากการใช้งานในด้านการประกอบพิธีกรรมตามศาสนาและความเชื่อของท้องถิ่นแล้ว ยังมีการสานขันกระหย่องเป็นอุตสาหกรรมชุมชมสำหรับขายให้นักท่องเที่ยวเพื่อเป็นของที่ระลึกหรือตกแต่งบ้านเรือน โดยในหลายชุมชนมีการอบรบผู้สูงอายุหรือเยาวชนในการสืบทอดภูมิปัญญาการสานขันกระหย่อง มีการพัฒนารูปทรงลวดลายจนมีความประณีตสวยงามยิ่งขึ้น