น้ำต้นเป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำดื่ม มีขนาดเล็กกว่าหม้อน้ำรูปทรงคล้ายผลน้ำเต้า ซึ่งอาจพัฒนาความคิดในการทำมาจากการนำผลน้ำเต้ามาใส่น้ำ ก่อนที่จะทำด้วยดินเผา มีคอยาว ในสมัยโบราณนิยมทำเป็นรูปทรงต่าง ๆ กัน ส่วนมากเป็นรูปทรงคล้ายผลไม้ เช่น ผลมะเฟือง ฟักทอง น้ำเต้า
น้ำต้นจะใช้สำหรับใส่น้ำดื่มเมื่อไม่ต้องการดื่มจากหม้อน้ำโดยตรงหรือสำหรับใส่น้ำดื่มเพื่อรับรองแขกผู้มาเยือน หรือใช้เป็นภาชนะใส่น้ำดื่มสำหรับภิกษุสงฆ์ น้ำต้นของพ่อค้า คหบดีมักทำรูปทรงให้สวยงามเป็นพิเศษ บางครั้งจะมีการทำปลอกเงินดุนเป็นลวดลายสวยงามสำหรับสวมปากน้ำต้นให้มีคุณค่ายิ่งขึ้น
น้ำต้น หรือ คนโท เดิมเรียกกันว่าน้ำต้นเงี้ยว เนื่องจากกลุ่มคนทำน้ำต้นเหล่านี้เป็นชาวเงี้ยวหรือไทยใหญ่ที่อพยพและถูกกวาดต้อนมาจากเมืองปุและเมืองสาด ทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ในเขตรัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ตั้งแต่สมัยเจ้าชีวิตอ้าว หรือพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ผู้ครองเมืองนครเชียงใหม่ลำดับที่ 6 (พ.ศ. 2399-2413) โดยมีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ใน 3 หมู่บ้านคือ บ้านน้ำต้น อำเภอแม่วาง บ้านเหมืองกุง และบ้านขุนเส อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ การปั้นน้ำต้นและลวดลายของบ้านน้ำต้นสืบทอดมาจากชาวไทยใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2385 แต่ก็มีหลักฐานว่าน้ำต้นมิใช่ภาชนะหรือเครื่องใช้อย่างใหม่ที่เพิ่งเข้ามาสู่ล้านนาพร้อมกับชาวเงี้ยว จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากกาขุดค้นตามโบราณสถานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแหล่งโบราณคดีตามบริเวณชายแดนไทย-สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดตากพบว่า น้ำต้นหรือคนโทดินเผาล้านนาดั้งเดิมนั้นเป็นเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำ (Earthenware) ที่มีเทคนิคการปั้นที่ละเอียดงดงาม ส่วนใหญ่จะมีรูปแบบตัวกลม คอตรงสูงและแบบน้ำเต้า เดิมทีเคยมีการกำหนดอายุและเรียกชื่อน้ำต้นในรูปแบบนี้ว่าเป็นน้ำต้นสมัยหริภุญไชย แต่หลักฐานที่มีการค้นพบจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีบริเวณชายแดนไทย-สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าน้ำต้นในลักษณะดังกล่าวเป็นงานศิลปกรรมล้านนาอย่างแท้จริง แต่ในช่วงที่ดินแดนล้านนาได้เกิดความวุ่นวายและร้างไปในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 เป็นต้นมา ทำให้งานศิลปกรรมของชาวล้านนาดั้งเดิมแทบสูญสิ้น หลังจากที่มีการฟื้นฟูบ้านเมืองโดยคนกลุ่มใหม่ที่มีกลุ่มชนชาวเงี้ยวที่ถูกกวาดต้อนมา จึงเป็นกลุ่มชนกลุ่มสำคัญที่นำศิลปวัฒนธรรมของตนมาผสมผสานช่วยบูรณะฟื้นฟูบ้านเมืองอีกครั้ง ความรู้และความชำนาญในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาของชาวเงี้ยวที่มีอยู่ก็มีการสืบทอด ผลผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทต่าง ๆ ของชาวเงี้ยว เช่น หม้อน้ำ กระเบื้องดินขอ น้ำต้น จึงเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่นับแต่นั้นเป็นต้นมา
น้ำต้นนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ขนาดใหญ่ ๆ คือ น้ำต้นหลวง เป็นน้ำต้นขนาดใหญ่ ใส่น้ำได้ครั้งละมาก ๆ ใช้สำหรับใส่น้ำไปไร่นา แบกไว้บนไหล่ น้ำต้นหลวงมีหูร้อยติดอยู่ 2 หรือ 4 ข้าง เพื่อร้อยเชือกสำหรับสะพายไไร่นา เนื้อภาชนะหนาและหยาบ ผิวสีแดงอมชมพู บริเวณลำตัวจะพองออกโดยรอบ ส่วนฐานมีลักษณะก้นตัดตกแต่งลวดลายด้วยการขูดขีด น้ำต้นกลาง เป็นน้ำต้นที่ใช้งานทั่วไปในวงอาหารหรือต้อนรับแขก และน้ำต้นหน้อย (เล็ก) นิยมใส่น้ำตั้งตามหิ้งบูชา มีขนาดเล็กสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายและใช้งาน
การผลิตหม้อน้ำและน้ำต้นเริ่มจากการเตรียมดิน โดยช่างปั้นจะทำการผสมและเตรียมดินเพื่อปั้นเครื่องปั้นดินเผาแบบวันเว้นวัน และการผสมและเตรียมดินในแต่ละครั้งจะได้ดินเพื่อใช้ปั้นได้ประมาณ 1-2 วัน เนื่องจากดินที่ผสมและนวดไว้แล้วจะต้องหมักดินทิ้งไว้ประมาณ 1 วันก่อนนำมาใช้ เพื่อให้เนื้อดินแข็งตัวพร้อมที่จะทำการปั้น ถ้านำดินที่ผ่านการผสมและเตรียมดินมาใช้ทันทีจะทำให้เครื่องดินเผาที่ได้ออกมาจะไม่มีความแข็งแรงเนื่องจากความชื้นที่มีอยู่ในเนื้อดินเป็นจำนวนมาก นำดินจากแหล่งดินผึ่งไว้ให้แห้งเสียก่อน เพื่อเตรียมดินก่อนการนำไปร่อนเอาเศษขยะ วัชพืชต่าง ๆ ออก โดยใช้เวลาในการตากประมาณ 1-2 วันหรือตามสภาพอากาศ เมื่อดินแห้งแล้วมาบดให้ละเอียดแล้วร่อนในตะแกรงเพื่อคัดเอาเฉพาะดินเนื้อละเอียด ไม่มีเศษขยะ สิ่งของ หรือวัชพืชอื่น ๆ เจือปน นำดินคุณภาพดีที่ผ่านการร่อนแล้วมาผสมกับน้ำอีกครั้งในกระบะไม้ โดยผสมดินกับน้ำสะอาดในอัตราส่วน 5 : 1 (ผงดิน 5 ส่วนต่อน้ำ 1 ส่วน) โดยแหวกผงดินเหนียวตรงกลางให้เป็นหลุมสำหรับใส่น้ำสะอาด เพื่อเตรียมทำการนวดดินด้วยมือ บางครั้งอาจมีการใส่ผงดินเหนียวดินชนิดต่าง ๆ หรือทรายผสมลงไปเพื่อให้ได้ดินเหนียวที่มีคุณสมบัติตามเครื่องปั้นดินเผาที่ต้องการจะทำ จากนั้นทำการนวดดินด้วยมือ โดยขยำผงดินส่วนที่เปียกน้ำให้เข้ากันแล้วคลึงให้เป็นก้อน ก่อนจะนำก้อนดินออกมานวดอีกครั้งเพื่อให้เนื้อดินผสมเข้ากันและมีความชื้นสม่ำเสมอ ใช้เวลานวดประมาณ 5-10 นาทีจึงพร้อมสำหรับใช้ทำเครื่องปั้นดินเผา แล้วนำก้อนดินเหนียวที่นวดเสร็จเรียบร้อยแล้วมาห่อด้วยถุงพลาสติกเพื่อรักษาความชื้นของดินและทิ้งหมักดินที่นวดไว้ 1 วันก่อนจะนำไปปั้นขึ้นรูปต่อไป เมื่อนำดินไปปั้นขึ้นรูปจนมีรูปทรงที่ต้องการเสร็จแล้วจึงทำการตกแต่งหรือเคลือบน้ำดินตามต้องการก่อนนำภาชนะไปเผาซึ่งมีทั้งการใช้เตาเผาและเผาแบบกลางแจ้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเป็นการผลิตแบบจำนวนมากหรือผลิตเพื่อใช้เองในจำนวนไม่มากนัก เมื่อเผาเสร็จจึงได้น้ำต้นออกมา ซึ่งจะนำมาใช้งานได้เลยหรือจะนำไปตกแต่งเพิ่มเติมเช่นใช้การรมดำก่อนก็ได้
สีของน้ำต้นก็มีผลต่อการเลือกใช้งานด้วยเช่นกัน น้ำต้นสีอ่อนตั้งแต่สีส้ม ส้มแดง จนถึงสีแดงอิฐ แดงเข้ม ฯลฯ จะมีคุณสมบัติให้ความหอมของกลิ่นดินเผา มีสีอ่อนสวยงามตามธรรมชาติของดินและน้ำเคลือบ มักนิยมใช้กันในบ้านเรือนทั่วไป เพราะความหอมของกลิ่นดินเผา ส่วนน้ำต้นสีเข้มที่มีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ จะให้ความรู้สึกน่าเกรงขาม ดูสง่าและมีคุณค่า มักนิยมใช้ถวายวัดเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ถวายเป็นพุทธบูชา รวมถึงการใช้ในพิธีกรรมอื่น ๆ เช่นเป็นเครื่องประกอบยศสำหรับชนชั้นสูง แต่ไม่นิยมนำมาใช้จริงในชีวิตประจำวัน เนื่องจากกลิ่นเขม่าควันหรือกลิ่นไหม้จะส่งผลต่อน้ำที่บรรจุอยู่ด้านใน ทำให้น้ำมีกลิ่นเหม็นไหม้ สีเข้มเหล่านี้เกิดจากเทคนิคการนำเอาน้ำต้นที่เผาเสร็จใหม่ ๆ มากลิ้งบนขี้เลื่อยหรือรมควันด้วยขี้เลื่อย เมื่อความร้อนของน้ำต้นที่ออกจากเตาเผาใหม่ ๆ ปะทะขี้เลื่อย จะทำให้เกิดการเผาไหม้ ส่งผลให้ผิวหน้าของน้ำต้นมีสีเข้มทั่วชิ้นงาน
ปัจจุบันยังคงมีการผลิตน้ำต้นและยังคงมีการใช้งานอยู่ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้ใช้งานในชีวิตประจำวันแล้วเนื่องจากปัจจุบันมีการใช้กระติกหรือขวดน้ำพลาสติกที่หาซื้อได้ไม่ยากและมีความทนทานกว่าแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีชุมชนในท้องถิ่นและศิลปินที่สืบทอดการทำน้ำต้นโดยมีการปรับปรุงผสมผสานทั้งรูปทรงและเทคนิควิธีการตกแต่ง จนมีรูปทรงและลวดลายที่สวยงาม มีคุณค่าสำหรับส่งออกสู่ตลาดเพื่อใช้ในงานพิธีต่าง ๆ ทางพุทธศาสนาและใช้เป็นเครื่องสักการะตามความเชื่อท้องถิ่น