สีฝัดเป็นเครื่องมือสำคัญชนิดหนึ่งในการทำนาในบริเวณภาคกลาง ใช้สำหรับฝัดข้าวเปลือกเพื่อแยกเมล็ดข้าวที่ไม่มีเนื้อหรือขี้ลีบออกจากเมล็ดข้าวดี ๆ เพราะเมื่อนวดข้าวเปลือกออกจากรวงนั้น จะมีเศษฟาง ขี้ลีบ และสิ่งอื่นเจือปนอยู่ด้วย จึงจำเป็นต้องเอาข้าวเปลือกฝัดเอาสิ่งที่ไม่ต้องการออก
การแยกเมล็ดข้าวเปลือกที่ดีออกจากขี้ลีบของชาวนาในอดีตนั้นมีหลายวิธี ตั้งแต่การใช้กระด้งฝัด การสาดข้าวขึ้นไปในอากาศแล้วใช้พัดหรือวีขนาดใหญ่โบก สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีเก่าแก่ที่ชาวนาใช้กันมาแต่โบราณ ต่อมาจึงมีผู้ประดิษฐ์เครื่องแยกเมล็ดข้าวที่ดีและขี้ลีบออกจากกันคือ สีฝัด แต่ใครเป็นผู้ประดิษฐ์สีฝัดขึ้นเป็นคนแรกนั้นไม่ปรากฏ อาจเป็นพ่อค้าชาวจีนที่จำหน่ายเครื่องมือการทำนาทำสวน
โครงสร้างของสีฝัดหลัก ๆ ทำจากไม้จริง โดยใช้เสาไม้สี่เหลี่ยมทำเป็นขา 4 ขา สูงประมาณ 150 เซนติเมตร มีโครงไม้และแผ่นไม้ประกอบกันคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ 80 เซนติเมตร ยาวประมาณ 180 เซนติเมตร ด้านหน้าบุด้วยสังกะสีโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม ด้านล่างใช้สังกะสีบุบนแผ่นไม้วางเอียงลาด ด้านหลังสูง ด้านหน้าต่ำ แผ่นสังกะสีนี้จะเป็นรางให้เมล็ดข้าวเปลือกที่ดีมีน้ำหนักมากไหลลงมายังพื้น ส่วนประกอบสำคัญที่สุดของสีฝัดคือ เฟืองกงพัดที่อยู่ด้านข้างทำด้วยเหล็ก ประกอบด้วยตัวเฟืองคล้ายจานขนาดใหญ่ ด้านในมีเฟืองโดยรอบ ด้านนอกมีเหล็กประกับให้ติดกับเสา ตรงจุดศูนย์กลางมีเฟืองเล็ก ๆ หมุนรอบตัวเองตามรางเฟืองใหญ่ด้านใน แกนของเฟืองจะยึดติดกับเสาทั้งสองด้าน แต่หมุนรอบตัวเองได้สะดวก ต่อมามีผู้ใช้ตลับลูกปืนเข้าช่วยทำให้ทุ่นแรงได้มาก แกนเหล็กที่เสียบผ่านจากตัวสีฝัดด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งนั้น ตรงกลางมีแกนกงพัด 4-6 ใบ ทำด้วยแผ่นไม้บาง ๆ กว้างประมาณ 25-30 เซนติเมตร ยาวพอที่จะหมุนอยู่ในสีฝัดได้คล่อง แกนเหล็กด้านที่ติดกับเฟืองวงล้อมีก้านและมือหมุน ตัวสีฝัดมักมีไม้สำหรับยกหรือหามทำด้วยไม้ยื่นออกมาจากตัวสีฝัดทั้งหน้าและหลัง ข้างละ 2 อัน เพื่อใช้เป็นที่จับ ทำให้เคลื่อนย้ายสีฝัดไปยังลานนวดข้าวได้สะดวก
ด้านบนของสีฝัดทำเป็นกระบะสี่เหลี่ยมก้นสอบด้วยไม้ ด้านหลังทำเป็นช่องเล็ก ๆ สามารถปิดและเปิดได้ ขณะที่ฝัดข้าวจะต้องมีผู้เลื่อนแผ่นไม้ขึ้น เปิดช่องให้ข้าวเปลือกไหลลงไปยังตะแกรงในจำนวนพอเหมาะที่ลมจะพัดให้ขี้ลีบและสิ่งที่ไม่ต้องการปลิวออกไปได้ดี ถ้าหากปล่อยให้ข้าวเปลือกที่ยังมีสิ่งเจือปนอยู่ไหลลงมากเกินไปและลมไม่แรงพอ ขี้ลีบและสิ่งเจือปนก็จะไหลรวมลงไปพร้อมกับเมล็ดข้าวเปลือกที่ดี
ตะแกรงทำด้วยเหล็กเส้นขนาดประมาณเท่าปลายนิ้วก้อย 4-5 เส้นยึดติดกับไม้ แต่ละเส้นห่างกันประมาณ 4-5 เซนติเมตร ตะแกรงช่วยให้เศษฟาง ใบหญ้าที่ปะปนอยู่กับเปลือกออกมากระทบกับตะแกรงแล้วถูกแรงลมพัดให้ลอยออกไป ไม่ตกลงไปปนกับข้าวเปลือก ต่อมามีผู้พัฒนาให้ตะแกรงนี้ส่ายได้เหมือนกับตะแกรงสานที่ร่อนด้วยมือ โดยทำเป็นข้อเหวี่ยงไปเชื่อมกับแกนกงพัด เมื่อหมุนกงพัดตะแกรงก็จะส่ายไปมาทำให้ฝัดข้าวได้ดีขึ้น การฝัดข้าวจะต้องนำข้าวเปลือกที่นวดแล้วใส่ลงในกระบะ เมื่อต้องการจะฝัดหรือสีก็หมุนกงพัดให้หมุนพร้อมกับเปิดช่องด้านหลังกระบะให้ข้าวเปลือกไหลออกไปอย่างต่อเนื่อง บางทีต้องใช้คนช่วยคุ้ยให้ข้าวเปลือกไหลออกมาในปริมาณที่พอเหมาะและต่อเนื่อง เพื่อให้แรงลมพัดขี้ลีบและสิ่งเจือปนที่ไม่ต้องการปลิวออกไปจนหมด หากปล่อยให้เมล็ดข้าวไหลออกมามากเกินไป แรงลมไม่แรงพอ ขี้ลีบและวัชพืชก็จะไหลปะปนไปกับเมล็ดข้าวที่ดี ต้องนำมาฝัดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง การฝัดข้าวจะต้องมีผู้หมุนสีฝัดคนหนึ่งและมีผู้ขนข้าวเปลือกมาเติมให้เต็มกระบะตลอดเวลา และปล่อยให้ข้าวเปลือกไหลออกไปสัมพันธ์กับการหมุนกงพัด การหมุนสีฝัดต้องสับเปลี่ยนกันหลาย ๆ คน ถ้ามีข้าวที่ต้องฝัดเป็นจำนวนมาก
ด้านหลังของสีฝัดมีกล่องแบน ๆ มีรางทำด้วยแผ่นไม้ แขวนไว้กับขาสีฝัดเพื่อรับขี้ลีบและสิ่งที่ไม่ต้องการที่ไม่ปลิวออกไปตามแรงลม ให้ไหลลงไปกองรวมกัน ขี้ลีบที่ตกลงในรางนี้อาจมีเมล็ดอยู่บ้าง จึงมีน้ำหนักมากกว่าขี้ลีบที่ไม่มีเมล็ดเลย ทำให้ตกลงในกล่องที่มีราง ชาวบ้านอาจเก็บไว้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง ส่วนขี้ลีบ เศษฟางและวัชพืชที่ถูกลมเป่าไปตกด้านหลังของสีฝัดจะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงต่อไป
สีฝัดเป็นเครื่องมือทำนาที่พัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่งคือเปลี่ยนจากการใช้พัดโบกให้เกิดลมมาเป็นการหมุนกงพัดผ่านเฟืองและทำเครื่องบังคับลมให้ไปในทิศทางที่ต้องการ สีฝัดชนิดนี้ใช้แรงคนเป็นพลังงานหมุนใบพัด สีฝัดในยุคแรกนั้นลักษณะเป็นเครื่องกลอย่างง่าย ๆ ทำงานด้วยพลังงานจากคน เครื่องสีข้าวชนิดนี้มีส่วนประกอบและรูปทรงธรรมดา ๆ และใช้กลไกไม่ซับซ้อน แต่ใช้ประโยชน์ได้ดี จึงมีผู้ตั้งโรงงานผลิตจำหน่ายให้แก่ชาวนา สีฝัดช่วยให้ชาวนาสามารถแยกขี้ลีบและสิ่งเจือปนออกจากข้าวเปลือกได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพดีกว่าการสาดข้าวแล้วใช้พัดโบกที่ใช้กันมาแต่เดิม ชาวนาในภาคกลางหลายจังหวัดนิยมใช้สีฝัดกันแพร่หลาย เช่น จังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี
ต่อมามีผู้นำเครื่องยนต์มาหมุนใบพัดแทนแรงคน ทำให้ฝัดข้าวได้รวดเร็ว แต่เมื่อมีผู้ประดิษฐ์รถเกี่ยวข้าวที่เกี่ยวและแยกเมล็ดข้าวที่ดีและขี้ลีบออกจากกันไปพร้อม ๆ กัน ทำให้การเกี่ยวข้าว นวดข้าว และฝัดข้าวด้วยสีฝัดแบบพื้นบ้านสูญไป