ผ้าขาวม้า เป็นผ้าทอพื้นบ้านสารพัดประโยชน์ที่คนไทยใช้ในชีวิตประจำวัน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 2 ศอก ยาวประมาณ 3-4 ศอก มักทอเป็นลายตารางเล็ก ๆ โดยใช้ด้ายหลากสีโดยใช้เส้นใยฝ้ายหรือเส้นใยไหม แต่ผ้าขาวม้าส่วนมากนิยมทอจากเส้นใยฝ้าย ผ้าขาวม้าในประเทศไทยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น รวมถึงสีและลวดลายซึ่งขึ้นกับความนิยมของแต่ละท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
ความเป็นมาของผ้าขาวม้านั้นมีข้อสมมติฐานที่มาหลากหลายข้อ แต่ข้อที่เชื่อว่าน่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ ผ้าขาวม้ามาจากอิหร่าน โดยคำว่า "ขาวม้า" เพี้ยนมาจากคำว่า "คามาร์ บันด์" (Kamar Band) ซึ่งแปลว่าผ้าคาดเอว โดยในผลงานวิจัยเรื่อง "ผ้าขาวม้า : เอกลักษณ์ไทย" ของรศ. ดร. อาภรณ์พันธ์ จันทร์สว่าง จากคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อธิบายว่า ผ้าขาวม้าเป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษาอิหร่านที่ใช้ในสเปน เนื่องจากในอดีตอิหร่านและสเปนมีการติดต่อกัน ทำให้เกิดการถ่ายเททางวัฒนธรรมและภาษาซึ่งกัน โดยในสเปนใช้ผ้าคามาร์ในการคลุมบ่าหรือคาดเอว หลังจากนั้นผ้าคามาร์จึงเผยแพร่ไปยังที่อื่น ๆ เนื่องจากในอดีต จักรวรรดิสเปนนับเป็นมหาอำนาจของโลกที่มีอาณานิคมมากมาย ผ้าคามาร์จึงแพร่หลายเข้าสู่ดินแดนต่าง ๆ ที่จักรวรรดิสเปนติดต่อด้วยจนเข้าสู่ประเทศไทยในที่สุด
ผ้าขาวม้าเริ่มเข้าสู่ดินแดนประเทศไทยมาแต่โบราณ หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดบ่งชี้ว่าเริ่มมีการใช้ผ้าขาวม้าในอาณาจักรโยนกนาคนคร หรือโยนกเชียงแสน ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 หลักฐานดังกล่าวคือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เป็นภาพการแต่งกายของชาวบ้าน โดยผู้ชายใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่าหรือเคียนเอว นอกจากนี้ หลักฐานการเปรียบเทียบลักษณะของการแต่งกายจากภาพประติมากรรมนูนต่ำ ลายปูนปั้นประดับโบราณสถานเช่นที่เจดีย์วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย หรือประติมากรรมรูปเทวดาประนมมือที่วัดเจดีย์กู่เต้า อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พบว่าผู้ชายในชนชั้นสูงของเชียงแสนจะนุ่งผ้าสองชาย ยาวกรอมเท้า ทิ้งชายพกขนาดใหญ่ไว้ด้านซ้ายของลำตัว คล้ายลักษณะการนุ่งผ้าของชาวขอม คาดทับด้วยผ้าหรือเข็มขัด ทิ้งชายให้ยาว
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภาพเขียน "ไตรภูมิอยุธยา" ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 ปรากฏว่าชาวอโยธยานิยมใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่า คาดเอว นิยมนุ่งโจงกระเบนแล้วใช้ผ้าขาวม้าคล้องคอ ตลบห้อยชายทั้งสองไว้ด้านหลัง นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้ผ้า "คาดเกี้ยว" ในกลุ่มชนชั้นสูงและขุนนาง เป็นผ้าหน้าแคบกว่าผ้านุ่ง มีลายเป็นดอกโตสีต่าง ๆ คาดทับเอวเพื่อให้กระชับแน่นขึ้นคล้ายกับที่ชาวบ้านใช้คาดเอวนั่นเอง แต่ผ้าคาดเกี้ยวจะมีลวดลายสีสันที่สวยงามกว่าผ้าคาดเอวของชาวบ้านทั่วไป
ในสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านทั้งชายหญิงนิยมใช้ผ้าขาวม้ามาทำประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยไม่ได้จำกัดไว้เพียงเป็นเครื่องแต่งกายเท่านั้น แต่นำมาใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นอีกด้วย ตั้งแต่ใช้พาดบ่า เคียนเอว โพกศีรษะ เช็ดเหงื่อ ใช้ปูนั่งปูนอน นุ่งอาบน้ำ ผูกเปลนอนให้เด็กทารก ใช้เป็นผ้าบังเมื่อให้นมลูก เป็นผ้าม่านกันแดด เป็นต้น
ผ้าขาวม้าในไทยนั้นมีหลากหลายลวดลาย หลายรูปแบบตามแต่ละท้องที่ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผ้าขาวม้าพระนครศรีอยุธยา ผ้าขาวม้าชัยนาท ผ้าขาวม้าศรีสะเกษ ผ้าขาวม้าสุรินทร์ ผ้าขาวม้ามหาสารคาม ผ้าขาวม้าน่าน ผ้าขาวม้ากาญจนบุรี เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าผ้าขาวม้านั้นเป็นที่นิยมใช้กันในแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย แต่ละที่ก็มีการใช้วัตถุดิบ หรือการใช้สีสันที่แตกต่างกัน หลาย ๆ แห่งอาจจะใช้เส้นใยสังเคราะห์ หรือเส้นด้ายย้อมสีจากธรรมชาติ เพื่อเข้าถึงความต้องการของตลาดในหลากหลายกลุ่มเป้าหมาย
ในปัจจุบัน นอกเหนือจากการใช้งานดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีการใช้ผ้าขาวม้าประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อสร้างสรรค์ผลงานเป็นสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น เครื่องแต่งกายอย่าง เสื้อ กระโปรง หมวก หรือของใช้อื่น ๆ อย่างกระเป๋าสะพาย ผ้าพันคอ กระเป๋าใส่แว่น ร่ม สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในการใช้งานผ้าขาวม้าที่ยังคงไม่เสื่อมคลายไปตามยุคสมัย