จ้อง



คำอธิบาย

ร่ม หรือที่ทางภาคเหนือเรียกว่าจ้อง เป็นเครื่องใช้สำหรับกันแดดหรือกันฝนเวลาอยู่นอกบ้าน ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงเป็นเครื่องใช้ที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป มีหลากหลายประเภท หลายรูปแบบตามความนิยมและความสะดวกของผู้ใช้แต่ละคน

ร่มที่เป็นศิลปหัตถกรรมขึ้นชื่อมาแต่อดีตคือร่มบ่อสร้างซึ่งเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นร่มที่ทำจากกระดาษสา โดยมีที่มาจากชุมชนทำร่มบ้านสันต้นแหน ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีอาชีพหลักคือการทำไร่ไถนา และมีอาชีพรองคือการทำร่มกระดาษสาซึ่งมีการทำมาหลายชั่วอายุคนโดยใช้เวลาหลังจากเสร็จสิ้นจากการทำนาแล้ว อาจะใช้เวลาตอนกลางคืนมาทำร่ม

ร่มกระดาษสาหนึ่งคันมีส่วนประกอบมากมายเช่น ก้านร่ม กลอนร่ม หัวร่ม ตุ้มร่ม จุกปิดหัวร่ม คันร่ม ผ้าหุ้มร่ม วัสดุที่ใช้ในการทำร่มได้แก่ ไม้ไผ่บงคายซึ่งในอดีตเคยมีมากในหมู่บ้านนี้ แต่ปัจจุบันต้องซื้อจากหมู่บ้านอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียงหรือต่างอำเภอ โดยผู้ขายจะตัดไม้ไผ่บงเป็นท่อนยาวประมาณ 3 เมตรบรรทุกกระบะรถ ไม้ไผ่บง 1 คันรถจะทำร่มได้ประมาณ 1,000 คัน 

ไม้เนื้ออ่อน เช่นต้นแค นำมาทำหัวตุ้ม จุก และคันร่ม 

ด้าย (หรือชาวบ้านเรียกว่าฝ้าย) ใช้สำหรับร้อยก้านกับหัวร่มและตุ้มร่ม ด้ายหรือฝ้าย 1 กำทำร่มได้ประมาณ 100-120 คัน แล้วแต่ขนาดของร่ม ซึ่งสามารถใช้เชือกไนลอนเส้นเล็ก ๆ ร้อยแทนได้ แต่บ้านสันต้นแหนจะยังคงใช้ด้ายร้อยเช่นเดิม 

กระดาษสา กระดาษจีน ผ้าไหม ผ้าแพร โดยกระดาษสาทำจากต้นสาซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน นำเอาเปลือกสาที่แห้งแล้วมาแช่น้ำแล้วทุบเปลือกให้ยุ่ย นำไปต้มใส่ขี้เถ้า ใช้ไม้ทุบอีกครั้ง เทน้ำต้ำสาลงตะแกรงที่ทำมาจากมุ้งลวดที่มีกรอบไม้สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่-เล็ก ตามต้องการ แล้วนำตะแกรงกระดาษสาไปตากแดดจนแห้งดีแล้ว ดึงแผ่นสาออกมา จะได้กระดาษสาเป็นแผ่น ๆ ตามต้องการ

ลูกตะโก ลูกมะตั๊บตอง แป้งมันสิงคโปร์ ข้าวเหนียว หรือกาวลาเท็กซ์ เพื่อทำยางทาก้านร่มก่อนจะติดกระดาษสาหรือผ้า วิธีทำยางคือ นำลูกตะโกหรือลูกมะตั๊บตองที่ยังดิบ ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งมาตำด้วยครกกระเดื่อง เวลาตำผสมน้ำเล็กน้อยแล้วแต่ว่ามียางมากหรือน้อย ถ้ามียางน้อยก็ผสมน้ำน้อย ถ้ามียางมากก็เติมน้ำได้มาก หลังจากที่ตำแล้วนำมาบีบเอายางออก น้ำยางจะเป็นสีขาว เอากากไปดองสัก 2 คืนเพื่อให้มีน้ำยางออกมาอีก ก็จะบีบเอาแต่น้ำยางเท่านั้น สามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปี ๆ 

น้ำมันมะพอก หรือที่ชาวบ้านเรียกน้ำมันมะมื๊อ ได้จากต้นมะพอกหรือต้นมะมื๊อ เป็นไม้ป่าที่หายาก ปัจจุบันมีน้ำมันมะพอกสำเร็จรูปขายเป็นปี๊บ ใช้สำหรับทาบนกระดาษสาที่หุ้มร่มเรียบร้อยแล้ว น้ำมันมะพอกมีคุณสมบัติคือกันไม่ให้น้ำฝนเกาะค้างบนกระดาษสา

ไม้ไผ่รวก ใช้สำหรับทำคันร่ม หรือจะใช้ไม้จริงเคี่ยนหรือกลึงแทนก็ได้

สำหรับอุปกรณ์ในการทำร่มประกอบด้วย "เลื่อย" ใช้สำหรับเลื่อยไม้เป็นท่อน ๆ ตามขนาดที่ต้องการและทำหัวร่มและตุ้มร่ม "แฮ้วเคี่ยน (หรือกลึง)" เพื่อทำหัวร่มและตุ้มร่ม แต่ปัจจุบันได้มีการประดิษฐ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามาใช้แทนแฮ้วเคี่ยนแล้ว "มีดเหลา" "มีดตัดไม้" "มีดผ่าไม้" "ปลอกมือ" สำหรับป้องกันเสี้ยนตำนิ้วมือ "โยนมือ" เป็นเครื่องมือโบราณ ทำหน้าที่เหมือนสว่านเจาะรู 

ขั้นตอนและวิธีการทำร่มในหทู่บ้านสันต้นแหน จะใช้วิธีแบ่งงานกันทำตามแต่ละครอบครัวหรือหมู่บ้านตามความถนัดของแต่ละบุคคล เริ่มจากตัดไม้บงคายโดยเลือกไม้ที่มีอายุประมาณ 2 ปี ถ้าอายุไม้มากกว่านี้ไม้จะแข็งเกินไป ไม่เหมาะกับการทำร่ม เมื่อได้ไม้บงคายตามขนาดที่ต้องการแล้วจะนำมาตัดเป็นท่อนตามขนาดของร่มเพื่อทำก้านร่มหรือซี่ค้ำยัน โดยจะมี "มอก" คือเครื่องมือวัดขนาดทำจากไม้เนื้อแข็ง ทุกอย่างจะมีมอกวัดเพื่อป้องกันการคลาดเคลื่อน มอแแต่ละขนาดจะมีตะปูแหลมสำหรับขีดทำรอยเพื่อสะดวกในการเลื่อยและเจาะรูให้ตรงกัน ไม้ปล้องหนึ่งจะทำค้ำจ้องหรือซี่ค้ำยันได้ 3 คัน คันละ 32 ซี่ ต้องเจาะรูก่อนผ่า สำหรับก้านร่ม ไม้ 1 ปล้องผ่านเป็น 2 ซีก ซีกหนึ่งผ่าได้ 8 อัน อันหนึ่งผ่าออกเป็น 4 กีบ กีบหนึ่งก็จะผ่าได้ก้านร่ม 4 อัน เหลาได้ขนาดตามต้องการ คือต้องเหลาให้โค้งไปตามส่วนของโครงร่ม เกลาส่วนหัวท้ายให้บางเพื่อเสียบเข้ากับหัวร่มได้พอดี แล้วเจาะดือร่ม ซึ่งอยู่ตรงกลางเพื่อแหวกไม้ให้ใส่ซี่ค้ำยันก้านร่มซึ่งเจาะ 3 รู ส่วนซี่ค้ำยันเจาะรูหัวท้าย ไม้เป็นปล้องก่อนจะผ่านต้องใช้มีเหลาเกลาหัวท้ายให้เรียบก่อน เพื่อไม่ให้ไปแทงกระดาษสา เรียกว่า "ปาดหน้าตั๊กแตน"

ส่วนหัวและตุ้มร่ม จะใช้ไม้เนื้ออ่อนนำมากลึงหรือเคี่ยนก่อนให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ แล้วจึงใช้เลื่อยเลื่อยหัวร่มให้เป็นช่อง ๆ ตามจำนวนก้านร่ม ทั้งหัวและตุ้มร่มมีลักษณะคล้ายกันแต่หัวร่มมีขนาดใหญ่กว่า การร้อยก้านกับหัวร่มและตุ้มร่มจะใช้ด้ายหรือฝ้าย หรือเชือกไนลอน สำหรับการเจาะรูกลอนร่มจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่าโยนมือเท่านั้น ไม่สามารถใช้กับเครื่องมือที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าได้ กลอนร่มจึงเป็นอุปกรณ์ของร่มเพียงชนิดเดียวที่ช่างต้องใช้เครื่องมือแบบพื้นบ้านที่ใช้ต่อเนื่องกันมานานหลายชั่วอายุคน มีลักษณะคล้ายสว่านเจาะรู ส่วนที่เจาะรูทำจากซี่รถจักรยานที่แหลมและคมมาก เมื่อได้โครงร่มแล้ว ช่างที่ทำหน้าที่ตัดกระดาษก็จะนำข้าวเหนียวมาทุบให้เหนียวแล้วนำไปชุบน้ำยางลูกตะโกหรือน้ำยางลูกมะตั๊บตอง เพื่อทาหลังโครงร่มซึ่งกางไว้ นำกระดาษษสามาปิดโครงร่มหนึ่งชั้นเป็นการปูรองพื้น แล้วนำกระดาษสามาปูทับอีกชั้นหนึ่ง

สำหรับร่มกระดาษ ในการใช้กระดาษสารองพื้นและกระดาษสาปิดทับอีกชั้นหนึ่งจะใช้ข้าวเหนียวชุบน้ำยางลูกมะตั๊บตองเท่านั้น แต่ถ้าเป็นร่มผ้าจะใช้กาวลาเท็กซ์ ส่วนกระดาษจีนที่รองพื้นด้วยกระดาษสาและทับด้วยกระดาษจีนอีกชั้นหนึ่ง จะใช้น้ำยางลูกตะโกเท่านั้น พอกาวหรือยางแห้งแล้วก็จะนำน้ำมันมะพอกมาทาบนกระดาษสาหลังร่ม ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันไม่ให้น้ำฝนค้างบนกระดาษ ก็จะเสร็จสิ้นขั้นตอนการประกอบร่ม 1 คัน ก่อนที่จะส่งไปให้ฝ่ายเขียนลาย เขียนลวดลายตามต้องการ ส่วนใหญ่จะเป็นลายดอกไม้พันธุ์พฤกษา ดอกกุหลาย หรือลายตามที่ลูกค้าต้องการ

เหตุที่กล่าวว่าการทำร่มบ้านสันต้นแหนเป็นที่มาของร่มบ่อสร้าง กล่าวคือ ในการทำร่มบ่อสร้างในอดีตนั้น ชาวบ้านบ้านบ่อสร้างไม่ได้ทำอุปกรณ์ในการทำร่มเองทั้งหมด แต่จะมีหมู่บ้านใกล้เคียงทำวัสดุต่าง ๆ ซึ่งบ้านสันต้นแหนเป็นหมู่บ้านหลักที่ทำโครงร่มส่งบ้านบ่อสร้างก่อนที่จะนำมาประกอบ หุ้มร่ม ปิดกระดาษร่มและลงสีที่บ้านบ่อสร้าง ในการลงสีนั้น ชาวบ้านบ้านบ่อสร้างจะนิยมทำกันใต้ถุนบ้านแล้วนำออกมาวางเรียงรายกลางลานบ้านเพื่อผึ่งแดดให้แห้ง สีสันและลวดลายบนร่มจึงสะดุดตาแก่ผู้พบเห็นต่างท้องที่ที่ผ่านไปมา จึงกลายมาเป็นของฝากของที่ระลึกขึ้นชื่อในที่สุด