โอ่งมังกร เป็นภาชนะดินเผาเคลือบสีน้ำตาลปนเหลือง มีรูปมังกรรอบโอ่ง มีหลายขนาด ทำมากที่บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี การปั้นโอ่งจะต้องปั้นด้วยการตีดินแล้วปล่อยให้ดินหมาดพอที่จะรับน้ำหนังตัวเองได้ จึงต้องค่อย ๆ ปั้นเสริมขึ้นไปทีละส่วน ๆ เสริมจากก้นขึ้นไปหาปาก เมื่อปั้นเสร็จแล้วจึงใช้ดินต่างสีเขียนเป็นลายมังกร ทาน้ำเคลือบแล้วเผา โอ่งมังกรเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรีที่ทำกันมาแต่โบราณจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
ในยุคแรก โอ่งที่ใช้กักเก็บน้ำชั้นดีจะนำเข้ามาจากประเทศจีน แต่เนื่องจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สินค้าจากต่างประเทศหลายอย่างไม่สามารถนำเข้าประเทศได้ จึงจำเป็นต้นผลิตเอง โรงงานเครื่องปั้นดินเผาในราชบุรีเริ่มมาจากช่างชาวจีนที่มีความชำนาญในการทำเครื่องเคลือบ ชื่อนายจือเหม็ง แซ่อึ้ง และนายซ่งฮง แซ่อิ้ง มาจากมณฑลแต้จิ๋ว หมู่บ้านปังโคย ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาในประเทศจีน ได้รวบรวมเงินทุนกับพรรคพวกชาวจีนตั้งโรงงาน "เถ้าเซ่งหลี" ขึ้นเป็นครั้งแรกในพ.ศ. 2476 เป็นโรงงานขนาดเล็ก หลังคามุงจาก ในระยะแรกโรงงานนี้ผลิตเฉพาะภาชนะสำหรับใส่เครื่องดองเค็มประเภทไหน้ำปลา กระปุกขนาดเล็กและโอ่งบ้างเล็กน้อย เมื่อกิจการรุ่งเรืองขึ้น ความต้องการของตลาดมีมากขึ้น จึงได้ขยายกิจการและหุ้นส่วนแยกตัวออกไปตั้งโรงงานเอง ในขณะนั้นโอ่งยุคแรก ๆ จะมีขนาดเล็ก ไม่ใหญ่มากนัก ในระยะต่อมาจึงเริ่มปั้นให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น โอ่งในยุคนั้นยังไม่มีลวดลาย เรียกว่าโอ่งเลี่ยน ต่อมามีการคิดแกะลวดลายดอกติดที่พิมพ์ไม้ตีที่บ่ารอบ ๆ โอ่งให้มีลายนูนขึ้นมา และมีการนำเข้าดินขาวจากประเทศจีนเพื่อมาทดลองติดเป็นลายมังกรเลียนแบบโอ่งมังกรของจีน เนื่องมาจากความเชื่อของคนจีน มังกรถือเป็นสัตว์ชั้นสูงและเป็นมงคล ปรากฏว่าได้ผลดี จึงมีการผลิตโอ่งมังกรขายในเวลาต่อมา ในช่วงหนึ่งวัตถุดิบอย่างดินขาวที่ใช้เขียนลายโอ่งจากเมืองจีนเริ่มมีปัญหาเพราะราคาแพงและการขนส่งไม่สะดวก จึงมีการหาดินขาวทดแทนภายในประเทศจากจังหวัดจันทบุรีและสุราษฎร์ธานีซึ่งเป็นแหล่งดินขาวที่มีคุณภาพดี สามารถใช้ทดแทนดินขาวจากเมืองจีนได้ดี ทำให้มีการติดลายบนโอ่งมังกรมากขึ้นและทำให้ผู้ประกอบการหันมาผลิตโอ่งมังกรมากยิ่งขึ้น อีกทั้งดินเหนียวที่เป็นวัตถุดิบหลักในการปั้นโอ่งมังกรในพื้นที่ชุมชนมีความเหมาะสม สามารถปั้นโอ่งได้มีคุณภาพ โอ่งมังกรราชบุรีจึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเพราะมีความคงทน กักเก็บน้ำฝนได้ดี ไม่มีกลิ่น รวมทั้งมีลวดลายที่สื่อถึงความเป็นมงคล เหมาะกับการมีไว้ในครัวเรือน
การผลิตโอ่งมังกรเริ่มจากการเตรียมดิน เนื้อดินสีน้ำตาลแดงได้มาจากท้องนาทั่วไปในจังหวัดราชบุรีเป็นเนื้อดินเหนียวที่มีคุณภาพดีเยี่ยม มีความละเอียด เหนียวเกาะตัวกันได้ดี นำดินมาหมักไว้ในบ่อดินแช่น้ำทิ้งไว้ 1 สัปดาห์เพื่อให้น้ำซึมเข้าในเนื้อดินให้ดินอ่อนตัวทั่วถึงกันและเป็นการทำความสะอาดดินไปด้วย หลังจากนั้นตักดินขึ้นมากองไว้ แทงหรือตักดินด้วยเหล็กลวดให้เป็นก้อนแล้วจึงนำเข้าเครื่องโม่หรือเครื่องนวดเพื่อให้เนื้อดินเข้กัน ใช้ลวดเหล็กหรือที่เรียกกันว่าลวดตัวเก็ง ตักดินที่โม่แล้วให้เป็นก้อนมีขนาดพอเหมาะกับการปั้นแต่ละชิ้นมานวด โดยผสมทรายละเอียดเล็กน้อยเพื่อให้โอ่งมีเนื้อที่แกร่งและคงทนขึ้น
ต่อมาจึงเริ่มขึ้นรูปโดยแบ่งออกเป็นสามส่วนคือส่วนขาหรือส่วนก้น โดยนำดินที่ผ่านการนวดให้เป็นเส้นแล้วมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร วางลงบนแผ่นไม้ที่อยู่บนแป้น ซึ่งมีขี้เถ้าโรยอยู่เพื่อไม่ให้ดินติดกับแผ่นไม้และสะดวกต่อการยกลง เนื้อดินส่วนนี้จะมีลักษณะเป็นก้อนกลมหรือก้อนสี่เหลี่ยมที่แผ่ออกเป็นวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางตามขนาดของโอ่งที่ต้องการ นำดินเส้นมาวางต่อกันเป็นชั้นเรียกว่าการต่อเส้น เมื่อปั้นตัวโอ่งและยกลงจากแป้นแล้ว ตบแต่งผิวด้านนอกและด้านในโดยการขูดดินที่ไม่เสมอกันออกจนผิวเรียบ แล้วใช้ฟองน้ำลูบเพื่อให้ผิวเนียนอีกครั้งหนึ่ง ส่วนลำตัว ให้นำตัวขาหรือส่วนก้นที่แห้งพอหมาดมาวางบนแป้นที่มีขนาดเตี้ยกว่าแป้นที่ปั้นส่วนขา ตบแต่งผิวอีกครั้งด้วยฮุยหลุบ (คือเครื่องมือดินเผา มีลักษณะเหมือนลูกประคบมีที่จับอยู่ตรงกลาง คล้าย ๆ หินดุ) และไม้ตี นำดินเส้นมาวางต่อกันเป็นชั้นสำหรับส่วนลำตัวทำนองเดียวกับส่วนขา วัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางให้ได้ตามที่ต้องการ ใช้ไม้ต๊าขุดดินและแต่งผิวให้เรียบ ทิ้งไว้พอหมาด แล้วจึงต่อด้วยส่วนปาก ทำการต่อเส้นคล้ายกับสองส่วนแรก แป้นมีขนาดเตี้ยลงอีก ก่อนที่จะต่อเส้นต้องตกบแต่งผิวส่วนลำตัวและส่วนขาด้วยไม้ต๊าเสียก่อน ใช้ดินเส้นประมาณห้าเส้น วัดความสูงได้ประมาณ 70 เซนติเมตร ใช้ฟองน้ำลูบผิวให้เรียบแล้วใช้ผ้าด้ายดิบชุบน้ำลูบส่วนบน พร้อมกับบีบหรือกดให้ขึ้นเป็นรูปขอบปากโอ่ง ใช้ไม้ต๊าตบแต่งให้เรียบเสมอกันอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงยกไปวางผึ่ง ในการยกโอ่งลงจากแป้นนั้นต้องใช้ช่างปั้นสองคนช่วยกันยกด้วยเชือกหาม เป็นเชือกที่นำมามัดไขว้กันเป็นวงกลมให้มีขนาดเท่ากับตัวโอ่งพอดี ปล่อยปลายยาวทั้งสองด้านสำหรับจับยกหาม สำหรับส่วนปากซึ่งทำไว้เป็นจำนวนมาก ถ้าทิ้งไว้นานก่อนถึงขั้นตอนการเขียนลายจะทำให้แห้งเกินไป จงต้องทำให้อยู่ในสภาพเปียกหมาด ๆ อยู่เสมอโดยใช้ถุงพลาสติกคลุมไว้ การขึ้นรูปโอ่งแต่ละใบจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที หลังจากขึ้นรูปหรือปั้นเสร็จแล้ว จึงนำมาทำการทุบ เมื่อช่างปั้นโอ่งทั้ง 3 ส่วนเสร็จเป็นรูปร่างแล้งส่งต่อไปให้แผนกช่างทุบตบแต่งโอ่งเพื่อให้โอ่งเรียบและได้รูปทรงที่สวยงามโดยใช้ฮวยหลุบและไม้ตีด้านนอกโอ่ง จากนั้นจึงเตรียมนำมาเขียนลาย
โอ่งที่ตบแต่งผิวเรียบร้อยแล้วจะต้องนำมาเขียนลายทันที เนื่องจากถ้าทิ้งไว้นาน เนื้อดินจะแห้งจนทำให้เขียนลายไม่ได้ โดยนำโอ่งมาตั้งไว้บนแป้นไม้หมุน ขณะเขียนลายช่างจะใช้เท้าถีบที่แกนหมุนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเขียนเสร็จ วัสดุที่ใช้เขียนลายเป็นดินเนื้อละเอียดผสมกับดินขาวเรียกว่าดินติดดอก มีสีนวล ช่างจะใช้ดินนี้ปาดด้วยมือเป็นเส้นเล็ก ๆ รอบตัวโอ่ง แบ่งเป็นสามตอนหรือสามช่วงคือ ช่วงปากโอ่ ลำตัว และส่วนเชิงล่างของโอ่ง โดยแต่ละส่วนจะมีลวดลายไม่เหมือนกัน ส่วนปากโอ่งจะนิยมเขียนลายดอกไม้หรือลายเครือเถา ส่วนลำตัวนิยมเขียนรูปมังกรซึ่งมีทั้งมังกรดั้นเมฆ มังกรคาบแก้ว และมังกรสองตัวเกี่ยวกัน โดยช่างเขียนลายจะเป็นช่างที่มีความชำนาญมาก ปาดเนื้อดินด้วยนิ้วหัวแม่มือเป็นรูปร่างมังกรอย่างคร่าว ๆ โดยไม่ต้องร่างแบบก่อนแล้วจึงใช้ปลายหวีขีดเป็นตัวมังกร ใช้ซี่หวีตกแต่งส่วนหนวด นิ้วและเล็บ ส่วนเกล็ดมังกรใช้สังกะสีที่ตัดปลาย หยักไปมาบนตัวมังกรและเน้นส่วนลูกตาของมังกรให้มีความนูนเด่นออกมา ส่วนเชิงล่างของโอ่งใช้วิธีการติดลายคล้ายกับส่วนปาก จากนั้นใช้น้ำลูบที่ลายทั้งหมดเพื่อให้ลายมีผิวเรียบลื่นเสมอกัน การเขียนลายใช้เวลาเขียนประมาณ 10 นาที แล้วจึงนำมาเคลือบด้วยน้ำยา น้ำยาที่ใช้ในการเคลือบเป็นส่วนผสมของขี้เถ้าและน้ำโคลนหรือเลนและสีที่ได้จากออกไซด์ของเหล็กผสมอยู่เล็กน้อย ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาลเข้ม การเคลือบจะนำโอ่งไปวางหงายในกระทะขนาดใหญ่หรือกระทะใบบัว ใช้น้ำยาเคลือบเทราดให้ทั่วทั้งด้านในด้านนอก แล้วจึงนำไปวางผึ่งลม น้ำยาที่เคลือบจะทำให้เกิดสีสันสวยงามเป็นมันหลังจากการเผา อีกทั้งยังช่วยสมานรอยต่าง ๆ ในเนื้อดินให้เข้ากัน และป้องกันน้ำซึมออกมาด้านนอกอีกด้วย
จากนั้นจึงนำโอ่งมาเผาในเตาเผา เรียกว่าเตาจีนหรือเตามังกร ก่อด้วยอิฐทนไฟเป็นรูปทรงยาว ด้านหัวเตาเจาะเป็นช่องประตูสำหรับเป็นทางลำเลียงโอ่งและภาชนะอื่น ๆ ด้านบนของเตาทั้งสองด้านเจาะรูเป็นระยะเรียกว่าตา เพื่อใส่เชื้อเพิลงคือฟืนไม้กระถิน ลักษณะของเตามังกรนี้ ด้านหนึ่งจะอยู่ระดับเดียวกับพื้นดิน ให้เป็นหัวเตาสำหรับก่อไฟ อีกด้านหนึ่งสูงกว่าเพราะต้องทำให้ตัวเตาเอียงลาดเป็นส่วนก้นของเตา ใช้เป็นปล่องระบายควัน ก่อนลำเลียงโอ่งเข้าเตาเผาต้องเกลี่ยพื้นในเตาให้เรียบเสมอกันก่อน แล้วจึงจัดวางโอ่งให้เป็นระเบียบ การวางโอ่งซ้อนกันจะมีแผ่นเคลือบ เรียกว่ากวยจักร เป็นตัวรอง ถ้าในเตามีที่ว่างเหลือก็จะนำภาชนะอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าอย่าง ไห ชาม กระถาง มาเผาพร้อมกัน เมื่อลำเลียงโอ่งเข้าเตาเรียบร้อยแล้ว ก่อนเผาจะต้องใช้อิฐปิดทางให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ความร้อนระบายออกได้ เตาขนาดใหญ่สามารถจุโอ่งได้คราวละ 300-400 ใบ การจุดไฟจะเริ่มจุดที่หัวเตาก่อน เมื่อไฟติดดีแล้วจึงทยอยใส่ฟืนที่ช่องเตาทั้งสองด้าน ความร้อนในเตาต้องมีอุณหภูมิสูงถึง 1,000 องศา การดูว่าโอ่งนั้นเผาสุกได้ที่หรือยังต้องดูตามช่องใส่ฟืนโดยต้องดูจากชั้นต่ำสุดก่อน หากยังไม่สุกดีก็ต้องเติมไฟลงไปอีก ถ้าสุกดีแล้วจึงใช้อิฐปิดช่องนั้น แล้วดูช่องถัดไปตามลำดับจนกว่าโอ่งจะสุกทั่วทั้งเตาจึงเลิกใส่ฟืนแล้วปล่อยให้ไฟดับเอง ทิ้งไว้ประมาณ 10-12 ชั่วโมงให้ความร้อนในเตาค่อย ๆ ลดลงมาจนสามารถเปิดช่องประตูเตานำโอ่งออกมาได้
โอ่งมังกรราชบุรียังคงได้รับความนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะมีความต้องการใช้งานน้อยลงไปเนื่องจากการเข้าถึงน้ำประปาในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้การใช้งานโอ่งในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ลดลง หรือมีภาชนะอื่น ๆ ที่หาซื้อได้ง่ายและมีน้ำหนักเบา สะดวกในการขนย้ายกว่าโอ่งมังกรขึ้นมาก็ตาม แต่ชุมชนหรือโรงงานที่ผลิตโอ่งก็มีการรวมตัวกันเพื่อพัฒนาและปรับปรุงสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เนื่องจากโอ่งมังกรนับเป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดราชบุรี จึงมีการทำออกมาเป็นสินค้าหลายรูปแบบขึ้น เช่นโอ่งมังกรขนาดเล็ก สำหรับเป็นของฝากของที่ระลึก หรือใช้สำหรับใส่เครื่องเขียน กระถางต้นไม้ หรือเป็นศิลปวัตถุสำหรับประดับตกแต่งบ้านเรือน ซึ่งมีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ