หมวกใบลาน



คำอธิบาย

หทวกใบลาน หรือ งอบ เป็นเครื่องสวมศีรษะป้องกันแดดและฝน รูปร่างคล้ายจานคว่ำหรือกระจาดคว่ำ มีโครงสานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นลายเฉลวหรือตาชะลอมเป็นโครง กรุด้านนอกด้วยใบลานโดยเย็บเรียงเกยกันไปแผ่ออกไปโดยรอบ ตรงกลางมีรูซึ่งต้องปิดด้วยใบลานที่ทำเป็นรูปกลม ๆ เรียกว่ากระหม่อมงอบ ขอบปีกงอบใช้ไม้ประกับขอบงอบไม่ให้ขอบงอบชำรุดง่าย ภายในงอบมีรังงอบสานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นรูปทรงกระบอกโปร่ง ๆ ขยายตัวตัวขนาดศีรษะผู้สวม งอบเป็นที่นิยมใช้ในภาคกลาง มีการทำมากที่อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนกุบนั้นเป็นชื่อที่ใช้เรียกในภาคเหนือ มีลักษณะเช่นเดียวกับงอบ แต่ในบางท้องที่ก็อาจมีรูปทรงบางส่วนแตกต่างกันไปบ้าง เช่นในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน นิยมทำกุบเป็นรูปกระทะคว่ำ ปีกค่อนข้างผาย แต่ในจังหวัดแพร่นิยมทำยอดกุบหรือกระหม่อมกุบนูนขึ้นไปสองชั้น ส่วนกุบของชาวไทใหญ่มักสานด้วยตอกไม้ไผ่ทั้งหมด ตรงกลางเป็นยอดแหลมคล้ายกุยเล้ยหรือหมวกจีน ส่วนแม่ฮ่องสอนนิยมใช้กาบไผ่แทนใบลานหรือใบตาลในการกรุหมวก

ส่วนงอบกะโล่หรือหมวกกะโล่เป็นเครื่องสวมศีรษะสำหรับกันแดดและฝน สานด้วยตอกไม้ไผ่และกรุด้านนอกด้วยใบค้อ มีรูปทรงต่างจากงอบปกติกล่าวคือ งอบปกติจะมีลักษณะคล้ายกระจาดคว่ำ ในขณะที่งอบกะโล่มีลักษณะเป็นใบกลมแผ่กว้างออกมาคล้ายกระด้ง กะโล่หรือร่ม 

ในอดีตอาชีพหลักของชาวบ้านที่ใช้งอบหรืองอบกะโล่โดยทั่วไปคือทำการเกษตรไม่ว่าจะเป็นการทำนา ทำไร่ ทำสวน ซึ่งเชื่อมโยงกับสภาพภูมิอากาศในท้องที่ เช่น ในช่วงต้นฤดูทำนาจะเป็นจะช่วงที่มีฝนตกชุก ในขณะที่เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวอากาศก็จะร้อนจัด ในการออกไปทำไร่ทำนา ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรจะต้องออกไปเผชิญหน้ากับสภาพอากาศดังกล่าวทั้งวัน ต้องก้ม ๆ เงย ๆ ดำนาหรือใช้เคียวเกี่ยวข้าวตั้งแต่เช้าจรดเย็น จนเกิดเป็นสำนวนว่า “หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน” ในการทำงานท่ามกลางสภาพอากาศเช่นนี้ ชาวบ้านจึงคิดวิธีป้องกันจากแสงแดดและฝนขึ้น ในช่วงแรกอาจจะใช้ใบไม้ใบใหญ่ ๆ เช่น ใบตองตึง ใบกล้วย ใบสัก ใบตาล ใบค้อ มาเย็บให้เป็นรูปทรงกรวยเพื่อสวมศีรษะ ต่อมาจึงพัฒนารูปแบบเป็นงอบ งอบกะโล่ หมวก และร่ม

งอบกะโล่มีใบหรือปีกกว้างมาก ภายในทำเหมือนรังงอบ สานด้วยตอกไม้ไผ่ขึ้นเป็นรูปทรงกระบอกขนาดพอดีกับศีรษะผู้สวมใส่ แล้วจึงสานปีกขยายออกไปเป็นวงกลม อาจจะมีลายขัดหรือไม่มีก็ได้ หากมีโครงสานตอกไม้ไผ่ทำเป็นปีกงอบหรือปีกหมวก ก็จะทำให้วัสดุที่นำมากรุด้านนอกใช้ได้ทนทานยิ่งขึ้น การทำงอบกะโล่นั้นทำง่ายกว่างอบมาก เพราะงอบต้องฉีกใบลานหรือใบตาลให้เป็นเสี้ยวเล็ก ๆ แล้วใช้เข็มเย็บตามโครงปีกงอบอย่างละเอียด ส่วนงอบกะโล่จะใช้ใบไม้ที่เรียกว่าใบค้อ ซึ่งมีลักษณะใบใหญ่ขนาดเท่า ๆ กับใบตาล แต่อ่อนกว่า แล้วจึงตัดใบค้อทั้งใบ ตกแต่งให้กลมแล้วกรุด้านนอกแล้วถักเย็บด้วยหวาย ตอก ลวดหรือด้ายเพื่อชุวยให้ใบค้อคงรูปอยู่ได้แล้วจึงนำงอบกะโล่ไปผึ่งแดดให้แห้ง แล้วจึงทาทับด้วยน้ำมันยางให้เลื่อมเพื่อป้องกันตัวมอดและเพื่อความทนทานในการใช้งาน ในบางครั้งงอบกะโล่จะมีแต่ตัวงอบ ไม่มีรัง เมื่อสวมศีรษะแล้วจะใช้เชือกรัดคางกันงอบหลุด งอบชนิดนี้แต่เดิมมีใช้ในเขตจังหวัดสุโขทัยและเขตภาคเหนือตอนล่าง

งอบกะโล่มีวัสดุที่เป็นส่วนสำคัญคือใบค้อจากต้นค้อ (ชื่ออื่น ๆ คือ ก๊อแล่ (เชียงใหม่) ทอ โล้ละ หลู่หล่า (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน) นางกลางแจ๊ะ มะก๊อซ่วม มะก๊อแดง (ภาคเหนือ) สิเหรง (ภาคใต้)) ซึ่งเป็นปาล์มลำต้นเดี่ยว อาจะสูงได้ถึง 35 เมตร มีลำต้นเรียวเล็ก ใบเป็นกลุ่มแน่น มีใบประกอบเป็นรูปพัดจักเว้าลึกไม่ถึงครึ่งตัวใบ มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง 2 เมตร ต้นค้อสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยจะเริ่มออกผลในช่วงเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ ชาวบ้านจะนำผลมาลวกกับน้ำร้อนแล้วขูดเปลือกออกแล้วกินเนื้อด้านใน ยอดอ่อนสามารถนำมาแกงกับเนื้อหมูหรือเนื้อควายได้ ส่วนใบค้อนั้นนอกจากจะใช้เป็นวัสดุของการทำงอบกะโล่แล้ว ด้วยใบที่มีขนาดใหญ่และยาว จึงสามารถนำมาใช้มุงหลังคากระท่อม หรือหลังคาห้างได้ ด้วยความนิยมในการใช้ใบค้อในลักษณะนี้เอง ทำให้ต้นค้อเริ่มหายากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นผลให้ขาดวัตถุดิบในการทำงอบกะโล่ งอบกะโล่จึงค่อย ๆ ลดความนิยมในการใช้งานลงไป ผนวกกับชาวบ้านก็เริ่มใช้วัสดุอื่นหรือสิ่งสวมใส่อื่นที่หาได้ง่ายกว่าตามยุคสมัยมาใช้บังแดดบังฝนในการทำนา ทำไร ทำสวน ปัจจุบันจึงแทบไม่มีการใช้งอบกะโล่อีกต่อไป ต่างจากงอบหรือกุบที่ปัจจุบันยังคงมีผู้สานอยู่ เนื่องจากวัสดุที่ใช้เป็นวัสดุซึ่งยังคงหาได้ง่ายตามท้องถิ่น อีกทั้งยังมีรูปทรงและการสร้างลวดลายบนงอบได้สวยงามกว่า เนื่องจากสามารถใช้เทคนิคในการสานให้เป็นลวดลายได้ ถึงแม้จะไม่ได้ถูกใช้งานในการทำนา ทำไร่ ทำสวนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีการผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นของฝาก ของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวที่มายังท้องถิ่นได้