ชะลอม



คำอธิบาย

ชะลอมเป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่งใช้สำหรับใส่ข้าวของต่าง ๆ มีปากกลม ก้นหกเหลี่ยม สานด้วยตอกบาง ๆ เป็นลายเฉลวหรือลายตาเข่งห่าง ๆ เหลือตอกยืนที่ปากไว้โดยไม่สาน เพื่อรวบมัดหรือผูกเข้าหากันเพื่อเป็นหูหิ้วหรือกันสิ่งของที่ใส่ไว้ภายในตกหล่น

ชะลอมใช้ใส่สิ่งของได้หลายชนิด เช่น ผัก ผลไม้ ไข่ หรือของแห้งต่าง ๆ โดยจะใช้ใบไม้ เช่น ใบตองกรุภายในก่อนใส่ผลไม้เพื่อไม่ให้ผลไม้ถูกกะทบกระแทก มีรอยช้ำ หรือลอดตกไปจากตาของชะลอม ชะลอมเป็นภาชนะจักสานที่ใช้กันทั่วไปทุกภาค ชาวอีสานบางทีเรียก กะลอม ส่วนภาคเหนืออาจเรียกว่าซ้าลอม

การสานชะลอมเริ่มขึ้นมาจากส่วนก้นให้ให้ขนาดตามต้องการ หากมีขนาดใหญ่ก็จะเสริมไม้กะแหล้งขัด 2-3 อันที่บริเวณก้นชะลอมแล้วสานขึ้นมาเรื่อย ๆ ให้ได้สัดส่วนพองาม แล้วปล่อยส่วนปลายตอกไว้เพื่อรวบมัดหลังการบรรจุสิ่งของที่ต้องกา หรืออาจแยกตอกออกเป็น 2 ส่วน ผูกโค้งเป็นหูหิ้วเพื่อความสะดวกในการใช้งาน เวลาใช้งานจริงจึงค่อยกรุด้วยใบไม้เพื่อรองสิ่งของอีกที เนื่องจากชะลอมเป็นภาชนะสำหรับบรรจุสิ่งของเป็นการชั่วคราวสำหรับเดินทางไกล หรือใส่สิ่งของที่เป็นของฝาก การสานชะลอมจึงเป็นการสานแบบง่าย ๆ ใช้เวลาไม่นาน แค่เพียงพอต่อการบรรจุสิ่งของที่ต้องการเท่านั้น

ชะลอมมีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร สูง 10 เซนติเมตร จนถึงขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร สูง 30-40 เซนติเมตร ซึ่งขนาดจะเล็กหรือใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของผลผลิตที่ใช้บรรจุ 

นอกจากจะใช้ในการใส่สิ่งของสำหรับการเดินทางแล้ว ยังมีการใช้ชะลอมสำหรับการประกอบพิธีกรรมอีกด้วย ดังเช่นในประเพณีทำขวัญข้าว ในช่วงที่ข้าวเริ่มตั้งท้อง ชาวนาจะสร้างศาลเพียงตาชั่วคราวขึ้น ใส่เครื่องเซ่นเพื่อรับขวัญแม่โพสพ เตรียมไม้ไผ่สานเป็นรูปเฉลวห้าแฉกและชะลอมใบน้อยเพื่อใส่เครื่องเซ่น ด้วยความเชื่อที่ว่า แม่โพสพเป็นผู้หญิงสาว เมื่อถึงคราวต้องจัดเครื่องเซ่นสำหรับการทำขวัญข้าวในยามที่ข้าวตั้งท้อง จึงมักจัดเป็นอาหารสำหรับคนท้อง ได้แก่น้ำมะพร้าว อ้อย หมาก พลู โดยเฉพาะของรสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะขาม เป็นต้น หรือในประเพณีตานก๋วยสลาก หรือการทำบุญสลากภัตรของชาวล้านนาในภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งนิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน 12 ถึงเดือนยี่ของทุกปี (ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม) เป็นประเพณีการทำบุญที่ไม่เลือกเจาะจงพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง คำว่าตานก๋วยสลากนั้น ตาน หมายถึงการถวายทานแด่พระสงฆ์ ก๋วย หมายถึงภาชนะสานประเภทตะกร้าหรือชะลอม  ตานก๋วยสลากจึงหมายถึงการถวายทานด้วยวิธีการจับสลากเครื่องไทยทานที่บรรจุมาในชะลอม การถวายตานก๋วยสลากมีจุดมุ่งหมาย 2 ประการคือ เป็นการอุทิศให้เทพยดาและผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการอุทิศไว้ให้ตนเองเมื่อล่วงลับไปในภายภาคหน้าด้วย ชาวล้านนาเชื่อกันว่าการถวายตานก๋วยสลากนี้จะได้อานิสงส์มาก เนื่องจากเป็นการทำบุญสังฆทานซึ่งผู้ถวายทานไม่ได้เจาะจงตัวผู้รับว่าจะเป็นพระภิกษุหรือสามเณรรูปใดรูปหนึ่ง

ชะลอมเป็นเครื่องใช้หนึ่งที่มีบทบาทในการสร้างภาพจำในวัฒนธรรมสมัยนิยมด้วยเช่นกัน โดยในละครโทรทัศน์เรื่อง “บ้านทรายทอง” นั้น ตัวละคร “พจมาน สว่างวงศ์” ซึ่งเป็นตัวละครเอกตัวหนึ่งของเรื่องจะมีภาพจำว่าต้องเป็นเด็กสาวในชุดกระโปรง ถักผมเปียและถือชะลอมเดินเข้ามาที่บ้านทรายทอง จนเมื่อละครบ้านทรายทองฉบับปี พ.ศ. 2558 พจมานในฉบับนี้ไม่ได้ถือชะลอมเข้ามา จึงเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาในสังคมออนไลน์ในระดับหนึ่ง

ในปัจจุบันถึงแม้จะไม่ได้มีการใช้ชะลอมอย่างแพร่หลายดังเช่นในอดีตแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงสามารถพบเห็นชะลอมได้ไม่ยาก เนื่องจากชุมชนหลายแห่งยังคงสืบสานถ่ายทอดการสานชะลอมในชุมชนเพื่อเป็นสินค้า ของฝาก ของที่ระลึกของชุมชนต่าง ๆ