โคม



คำอธิบาย

      โคม เป็นเครื่องตามไฟชนิดหนึ่งที่มีกำบังลมแบบโปร่งแสง เช่น กระดาษ กระดาษแก้ว หรือกระจก มีรูปทรงที่หลากหลาย ทั้งทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยม ทรงหกเหลี่ยม ทรงแปดเหลี่ยม เป็นต้น ใช้หิ้วหรือแขวนตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้แสงสว่าง ตลอดจนใช้สักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพนับถือ เช่น พระพุทธรูป ตามศาสนสถานในวันสำคัญทางพุทธศาสนา หรือปักไว้ในวันหรือประเพณีสำคัญของท้องถิ่นนั้น ๆ

         เมื่อกล่าวถึงประเพณีสำคัญแล้ว ประเพณียี่เป็ง ถือเป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงในภาคเหนือและมีการใช้โคมประดับตลอดงานประเพณี จนมีการเรียกติดปากว่า “โคมยี่เป็ง

ประเพณียี่เป็ง เป็นประเพณีลอยกระทงแบบล้านนา “ยี่” หมายถึง เดือนยี่ (เดือนสอง) “เป็ง” หมายถึง เพ็ญ (พระจันทร์เต็มดวง) จึงรวมกันเป็น วันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือนสิบสอง ของภาคกลาง ในช่วงกลางวันจะมีการเข้าวัดทำบุญ ส่วนตอนกลางคืนจะเล่นพลุดอกไม้ไฟ ปล่อยโคมลอย ตลอดจนประดับโคมตามวัดวาอารามและหน้าบ้านเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และลอยกระทงที่แม่น้ำหรือแหล่งน้ำใกล้บ้าน

         สำหรับโคมนั้น ตัวโคมทำจากวัสดุหลากหลาย แต่สำคัญที่สุดคือต้องโปร่งแสง วัสดุดังกล่าวได้แก่ กระดาษแก้ว ผ้า ไม้ไผ่สาน เป็นต้น โดยในภาคเหนือจะทำโคมโดยใช้ไม้ไผ่ขึ้นโครงเป็นรูปต่าง ๆ เช่น รูปไห รูปดาว รูปทรงกระบอก เป็นต้น จากนั้นจึงนำกระดาษแก้วหรือกระดาษสาสีสันสดใสมาหุ้มโครง เปิดช่องไว้สำหรับใส่ผางประทีปเข้าในโคม เมื่อจุดผางประทีป แสงไฟจะมีสีสันสวยงามตามกระดาษที่ใช้หุ้มโครง 

         ในปัจจุบัน โคมมีรูปแบบที่หลากหลายตามแต่จินตนาการของผู้สร้างสรรค์ แต่รูปแบบและลวดลายที่ได้รับความนิยมมีดังนี้

         1. โคมรังมดส้ม (โคมรังมดแดง, โคมเสมาธรรมจักร) มีลักษณะคล้ายรังมดแดง และด้วยรูปทรงแปดเหลี่ยมจึงมีการเรียกว่าโคมเสมาธรรมจักรด้วย โคมชนิดนี้จะใช้ไม้ไผ่เฮียะหน้ากว้างประมาณ 1 ซม. หนา 2-3 มม. โดยประมาณ หักเป็น 16 หรือ 24 เหลี่ยม ผูกด้วยด้ายจนแน่น เสร็จแล้วจึงนำไม้เฮียะที่เตรียมไว้มาหักมุมเพื่อทำหูโคมเป็นสามเหลี่ยม จะได้โครงของโคม จากนั้นจึงติดกระดาษสีรอบโคมโดยเว้นด้านบนไว้ เพราะจะเป็นช่องสำหรับใส่ผางประทีปและให้อากาศเข้า ตามด้วยการติดหางโคมด้วยกระดาษยาว ทั้งนี้สามารถเพิ่มความสวยงามรอบโคมด้วยการติดลวดลายที่ตัดจากกระดาษเพิ่มเติมได้เช่นกัน

         2. โคมไห เป็นโคมที่มีลักษณะคล้ายไหคือด้านบนหรือปากโคมจะกว้างกว่าส่วนล่างหรือก้นโคม หูโคมด้านบนสุดจะเป็นรูปสามเหลี่ยมสี่อันสี่ด้าน ตัวโครงทำจากไม้ไผ่เฮียะเช่นกัน โคมชนิดนี้นอกจากจะนิยมประดับตามงานบุญทั่วไปแล้ว ยังนิยมนำไปเป็นของขวัญด้วย เพราะหมายถึงไหเงิน ไหทอง นำโชคลาภมาให้

         3. โคมดาว เป็นโคมรูปดาวห้าแฉก ทำจากไม้ไผ่เฮียะหักห้ามุม แล้วใช้กระดาษสาหรือผ้าติดหุ้มโครง โดยเจาะช่องตรงกลางไว้เพื่อใส่ผางประทีป ลวดลายที่นิยมประดับบนโคมดาวมักจะเป็นลายดวงตะวัน

         4. โคมเงี้ยว เป็นโคมที่ได้อิทธิพลมาจากไทใหญ่ มีเทคนิคและวิธีการผลิตที่ยากกว่าโคมชนิดอื่น เพราะมีรายละเอียดการหักมุมเพื่อทำโครงที่ซับซ้อน โคมจะมีหน้าตาคล้ายเพชรเจียระไน จึงมีอีกชื่อว่าโคมเพชรหรือโคมเจียระไน เป็นโคมที่แม้ไม่ใส่หางก็มีความงดงาม

         5. โคมแอว เป็นโคมที่เกิดจากการนำโคมรังมดส้มมาต่อเชื่อมกัน 2-5 ลูก ด้วยไม้ไผ่ จุดที่โคมเชื่อมต่อกัน เรียกว่า “แอว” หรือ “เอว” ในภาษากลาง เมื่อต่อกันแล้วโคมจะมีความยาวประมาณ 1-5 เมตร มักจะแขวนไว้สูงเป็นพิเศษ

ปัจจุบันนี้ เราสามารถพบเห็นโคมได้อยู่ทั่วไป เพราะลักษณะการใช้งานของโคมได้พัฒนาไปสู่การเป็นของประดับตกแต่งโดยไม่จำกัดอยู่เพียงการให้แสงสว่างและสักการะบูชาอีกต่อไป