แร้วคอม้าเป็นเครื่องมือที่ทำขึ้นเฉพาะกิจ ใช้จับตายหนูหรือพังพอน ทำจากไม้ไผ่ลำเล็กขนาดนิ้วมือ ตัดปลายและแขนงออกให้มีความยาวประมาณ 150-200 เซนติเมตร เสี้ยมโคนแหลม ใช้เป็นไม้คันดีด ผ่าไม้ไผ่อีกชิ้นหนึ่ง มีข้อยาวประมาณ 30 เซนติเมตร หนา 2x1 เซนติเมตร ที่ปลายข้อเหลาทำปม ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งผ่าไม้พอแยกได้เล็กน้อย ใช้เป็นไม้ขัดหรือ “คอม้า” ผูกเชือกที่ปลายไม้คันดีดผูกต่อมายังข้อปมคอม้าให้ห่างกันประมาณ 80 เซนติเมตร งอไม้ขัด “คอม้า” เป็นรูปสระอา (ลักษณะการดัดไม้ขัดให้โค้งเป็นรูปสระอานี้ จินตนาการให้รู้สึกเหมือนม้าก้มหัว อาจเป็นที่มาของคำเรียก “แร้วคอม้า” ก็เป็นได้) แล้วผูกเชือกให้ตรงกับปมด้านบน ปล่อยเชือกที่เหลือยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ทำบ่วงรูดเข้าออกได้ จากนั้นจึงทำไม้หลัก ลักษณะคล้ายหมุดยาวประมาณหนึ่งคืบ ทำปมที่หัว เสี้ยมโคนแหลม ใช้ขัดกับไม้คอม้าและเป็นหลักยึดพื้นดิน
วิธีใช้ เมื่อสังเกตเห็นเส้นทางการเดินของหนูหรือพังพอน จะเลือกตัดไม้บริเวณใกล้เคียงแถวนั้นนำมาสร้างเป็นแร้วคอม้า โดยจะปักคันไม้ดีดข้างทางเดิน ตอกไม้หลักแน่นกับพื้นดินข้างทางโน้มคอม้าขัดกับไม้หลัก ยื่นล้ำบนเส้นทางเดินแต่งบ่วงให้ปลายไม้คอม้าที่ผ่าแยกไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วคาบส่วนบนห่วงคะเนว่าหากหนูเดินผ่าจากข้างหน้าหรือข้างหลัง หัวจะลอดเข้าภายในบ่วง
หากดักพังพอนจะวางดักเวลากลางวันถ้าดักหนูจะดักเวลาเย็นปล่อยเครื่องมือทิ้งไว้ข้ามคืนเมื่อเป้าหมายออกหากินแล้วใช้เส้นทางเดิมๆ หัวจะลอดเข้าบ่วง บ่วงจะค่อยๆ รูดรัดคอ แล้วจะดึงไม่ออกให้คอม้าหลุดจากไม้หลัก คันไม้จะดีดกระตุกเชือกรัดคอเหยื่ออย่างรวดเร็ว ให้หนูหรือพังพอนถูกเชือกรัดคอลอยอยู่เหนือพื้นดินบริเวณนั้น