ตะบันหมาก เป็นเครื่องมือทำจากทองเหลืองหรือไม้กลึงเป็นกระบอกเล็ก ๆ มีลูกตะบันหรือเหล็กสับทำจากเหล็กเป็นเครื่องตำ มีดากหรือก้นโบกอุดก้น เวลาใช้งานก็ให้ใส่หมาก พลู ปูน สีเสียด แก่นคูณ เปลือกหาด และเครื่องหมากทั้งหลาย ลงไปในตะบันแล้วใช้ลูกตะบันตำจนละเอียดพอเคี้ยวได้ แล้วจึงใช้สากตำซ้ำเพื่ออัดหมากให้แน่น จากนั้นจึงใช้ลูกตะบันหรือสากกระแทกดากให้หมากออกมาทางปากเป็นคำ ๆ ไป จากนั้นจึงเป็นการจีบหมากจีบพลู โดยการป้ายน้ำเต้าปูนลงบนใบพลู แล้วนำหมากที่ตำไว้วางลงไป จากนั้นจึงม้วนเป็นรูปกรวยให้พอดีคำ เป็นอันเสร็จสมบูรณ์สำหรับหมากหนึ่งคำ
ตัวตะบันหมากส่วนใหญ่ทำจากทองเหลือง โดยการขึ้นแม่พิมพ์จากขี้ผึ้งให้มีขนาดและความหนาตามต้องการ แล้วนำไปเข้าเบ้าดินเหนียว เผาให้ขี้ผึ้งละลาย เบ้าดินเผาก็จะเป็นโพรงตามรูป จากนั้นจึงต้มทองเหลืองแล้วเทลงไปในเบ้า รอจนเย็นจึงทุบเบ้าดินเผาให้แตก ก็จะได้ตะบันหมากทองเหลือง แล้วจึงนำไปตกแต่งและขัดให้สวยงามต่อไป
ลูกตะบันหรือเหล็กสับ ทำจากเหล็กเส้นเล็กเรียว ส่วนปลายแบนและมีคม ส่วนด้ามจับเป็นไม้เนื้อแข็ง มีขนาดพอเหมาะกำมือ
สาก ทำจากไม้เนื้อแข็ง ลักษณะทรงกระบอกยาว แต่เส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่าปากตะบันหมาก เพราะต้องใช้ตำกระทุ้งเข้าไปในตะบันหมาก
ปัจจุบันยังคงพบเห็นตะบันหมากได้ทั่วไป เพราะวัฒนธรรมการกินหมากของคนไทยยังไม่สูญหายไปไหน โดยเป็นที่นิยมในกลุ่มคนสูงอายุ ทั้งนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่สมัยโบราณการกินหมากถือเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ ด้วยค่านิยมที่ว่าฟันสีดำเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง การกินหมากจะช่วยให้ฟันดำและแข็งแรง ตลอดจนช่วยดับกลิ่นปากได้ ทั้งยังช่วยสร้างความเพลิดเพลินระหว่างวันได้เป็นอย่างดี คนสมัยโบราณทั้งวัยหนุ่มสาวจนวัยชราจึงมักพกหมากพลูติดตัวกันเป็นปกติ
หมากพลู ผูกพันกับวัฒนธรรมไทยมาช้านาน เป็นที่นิยมทั้งในหมู่ชนชั้นสูงและประชาชนทั่วไป เห็นได้จาก “พานพระศรี” (พานหมาก) ก็ถือเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคสำหรับพระมหากษัตริย์ แม้ในปัจจุบัน พระมหากษัตริย์จะมิได้เสวยพระศรี (หมาก) แล้ว แต่ก็ยังต้องเชิญออกมาไว้ข้างพระราชอาสน์ตามโบราณราชประเพณีเสมอ นอกจากนี้ตามจิตรกรรมฝาผนังในวัดก็มักจะปรากฏภาพชาวบ้านล้อมวงกันกินหมากเป็นปกติ การกินหมากจึงเป็นการแสดงออกถึงฐานะทางสังคมอย่างหนึ่ง ผ่านอุปกรณ์อย่าง “เชี่ยนหมาก” อันเป็นภาชนะใส่เครื่องมือสำหรับการกินหมาก เช่น ตะบันหมาก เต้าใส่ปูน กรรไกรหนีบหมาก ซองใส่พลู ยาเส้น ขี้ผึ้ง เป็นต้น ที่ผลิตจากวัสดุมีค่าตามแต่ที่ฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละคนจะเอื้ออำนวย เช่น ทองคำ ทองเหลือง ไม้ เป็นต้น
ด้วยการกินหมากได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในอดีต ต้นหมากจึงถือเป็นพืชเศรษฐกิจของเมืองไทยถึงขนาดที่ว่าปลูกเองในเมืองไทยไม่พอ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศด้วยซ้ำ ดังความตอนหนึ่งในบันทึกเอกสารเรื่องสวน ของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ที่ว่า “...ถ้าจะเทียบดูแล้ว ชาวเราผู้ไม่เคี้ยวหมากหมื่นคน จะมีสัก 1 คน เพราะฉะนั้น หมากที่เพาะปลูกในสวนในก็ดี ที่ได้นับเมื่อเดินรังวัดสวนในปีมะเมีย ปีมะแม (พ.ศ. 2425-2426) หลังนี้ หมากที่นับได้อย่างเข้าอากรมีอยู่ 6,371,855 ต้น ที่เพาะปลูกยังไม่ได้อย่าง 1,273,070 ต้น รวม 7,644,925 ต้น แต่ยังเพาะปลูกใหม่อยู่เสมอไปมากกว่าที่ตายและตัดฟัน ก็ยังไม่พอชาวเราที่ใช้สอย ต้องจำบรรทุกเข้ามาแต่ต่างประเทศ เรียกว่า หมากเกาะ คือมาแต่เมืองปีนังหรือเกาะหมาก ปีหนึ่งตั้งหมื่นหาบ
“ต้นหมากต้นหนึ่งที่อย่างดกปีหนึ่งมีผลสองปูน ที่งามประมาณถึง 3,000 ผล และที่สอนเป็นตั้งแต่ 100 ขึ้นไป คิดถัวลงปีหนึ่งเป็นต้นละ 500 ผล ราคาซื้อขายกันตามฤดูถูกแพง ที่แพงถึงร้อยละบาท ร้อยละห้าสลึง ที่ถูกเพียงร้อยละสลึงเฟื้องบ้าง สลึงบ้าง เฟื้องสองไพบ้าง คิดถัวกันเป็นปีหนึ่งอย่างน้อยได้ผลต้นหนึ่งราคาเพียงบาทหนึ่ง ก็เป็นเงินถึง 95,561 ชั่ง 11 ตำลึงกับบาทหนึ่ง ถ้าคิดเพียงต้นละสองสลึงก็ถึง 47,780 ชั่ง 15 ตำลึง 2 บาท 2 สลึง ดูมากมายนักที่ใช้เคี้ยวอยู่ทั่วกัน...”
ต่อมาในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นยุคของการสร้างชาติและวัฒนธรรม การกินหมากถือเป็นวัฒนธรรมที่ล้าหลัง รัฐบาลจึงประกาศห้ามกินหมาก ห้ามค้าขายหมาก และห้ามปลูกต้นหมาก ใครที่อยากกินหมากก็ต้องไปหาซื้อในตลาดมืดที่ราคาค่อนข้างสูง จนเป็นที่มาของคำว่า “ข้าวยากหมากแพง” แต่เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงจากอำนาจ รัฐบาลชุดใหม่ก็ผ่อนผันให้กินหมากกันได้เป็นปกติ แต่จำนวนผู้กินหมากก็ลดลงไปโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่รับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา รวมถึงค่านิยมเรื่องฟันด้วยเช่นกันที่ฟันขาวเป็นตัวแทนของสุขภาพฟันที่ดีมิใช่ฟันสีดำดังเช่นในอดีต การกินหมากเพื่อช่วยให้ฟันดำจึงไม่จำเป็นสำหรับคนกลุ่มนี้อีกต่อไป