หมอนเป็นเครื่องหนุนศีรษะหรือหนุนสิ่งต่าง ๆ ให้สูงขึ้น สำหรับหมอนหนุนศีรษะนั้น จะผลิตจากวัสดุที่หลากหลายและมีจุดเด่นต่างกันไป เช่น หมอนผ้ายัดนุ่นหรือใยสังเคราะห์ เป็นหมอนที่ได้รับความนิยม เพราะนุ่มสบายไม่ระคายศีรษะ หมอนไม้ที่สะดวกในการพกพาและง่ายต่อการเก็บรักษา ตลอดจนหมอนหวายสานที่ยังคงมีให้พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน
ลักษณะเด่นของหมอนหวายคือน้ำหนักเบา โปร่ง ลมผ่านได้สะดวก ทั้งยังดูแลรักษาทำความสะอาดได้ง่าย เพียงแค่ล้างน้ำแล้วนำไปตากให้แห้ง และมีความยืดหยุ่นคงทนไม่แพ้หมอนชนิดอื่น โดยในปัจจุบัน หมอนหวายยังคงได้รับความนิยมในฐานะที่เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ เพราะด้วยลักษณะเด่นดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้เย็นสบายศีรษะเวลาหนุน ลดความอับชื้นของเส้นผมอันเป็นสาเหตุของรังแคและผมร่วงได้ และด้วยโครงสร้างของหมอนที่โปร่ง ออกซิเจนจึงผ่านรูขุมขนที่หนังศีรษะได้ง่ายขณะนอนหลับ จึงช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตได้ดี
หมอนหวายที่จำหน่ายกันทั่วไป สานจากเส้นตอกเปลือกหวายหรือผิวหวาย มีขนาดยาว 30 ซม. กว้าง 15 ซม. สูง 8-10 ซม. มีทั้งแบบสานทึบและสานโปร่ง ภายในจะมีแกนไม้สองแท่งขึงไว้เพื่อให้หมอนอยู่ทรง โดยจะสานเป็นลายขัด ลายสอง และลายอิสระอื่น ๆ
ลายขัด เป็นลายสานพื้นฐานที่เก่าแก่ที่สุด มีลักษณะเป็นการสร้างแรงยึดระหว่างตอกด้วยการขัดกันเป็นมุมฉากระหว่างแนวตั้งกับแนวนอน โดยยกขึ้นเส้นหนึ่ง ข่มหรือขัดลงเส้นหนึ่ง สลับกันไป โดยต่อมาได้มีการพัฒนา เป็นการยกสองเส้น ข่มสองเส้น สลับกัน เรียกว่าลายสอง หรือยกสามเส้น ข่มสามเส้น สลับกัน เรียกว่าลายสาม เป็นต้น
ลายทแยง เป็นลายที่มีพื้นฐานมาจากลายขัด เป็นการสานขัดกันในแนวทแยงต่างจากลายขัดที่ขัดกันเป็นมุมฉาก ลายนี้เหมาะกับอุปกรณ์แบบโปร่ง เช่น ชะลอมหรือเข่ง ซึ่งหมอนหวายแบบสานโปร่งก็ใช้ลายทแยงในการสานเช่นกัน
วัสดุสำคัญในการผลิตหมอนหวายคือหวาย หวายเป็นไม้เลื้อยตระกูลปาล์ม ลำเถามักพันเกาะต้นไม้ใหญ่ มีกาบหุ้มต้น มีหนามแหลม ใบเป็นรูปชนนกเล็ก ๆ มีผลกลม เปลือกเป็นเกล็ด ผลอ่อนเปลือกสีเขียวเนื้อสีขาว ผลแก่เปลือกสีเหลือง ล่อน เนื้อแข็ง เป็นพืชเขตร้อนที่หาได้ง่ายสำหรับชาวบ้านในอดีต มีเนื้ออ่อนกว่าไม้แต่เหนียว จึงทำให้ดัดและโค้งงอตัวได้ดี มีความคงรูป ชาวบ้านจึงนิยมนำหวายมาสานเป็นภาชนะต่าง ๆ เรื่อยไปจนถึงเครื่องเรือนขนาดใหญ่มาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ด้วยความที่หวายมีหลากหลายสายพันธุ์และมีขนาดเส้นที่แตกต่างกัน โดยหวายขนาดใหญ่จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-5 ซม. ได้แก่ หวายกำพวน หวายน้ำผึ้ง หวายโป่ง หวายข้อดำ เป็นต้น หวายพวกนี้จะมีลำต้นยาว สีขาวนวล นิยมนำไปทำเป็นโต๊ะ เก้าอี้ เปล เป็นต้น ส่วนหวายขนาดเล็กจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1.5 ซม. ได้แก่ หวายหอม หวายตะค้าทอง หวายขี้เหร่ เป็นต้น หวายกลุ่มนี้นิยมนำมาจักตอกเป็นเส้นเล็ก ๆ เพื่อนำมาทำเครื่องมือเครื่องใช้ขนาดเล็ก เช่น อุปกรณ์จับสัตว์น้ำต่าง ๆ ตะกร้า กระเช้า ลูกตะกร้อ ขันโตก หมอน เป็นต้น
นอกจากลำต้นจะนำมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีแล้ว ส่วนอื่น ๆ ก็มีประโยชน์ไม่ด้อยไปกว่ากัน ชาวบ้านจะนำหน่อหวายมาทำแกงอ่อม ซุปหน่อหวาย ยำหน่อหวาย เป็นต้น โดยหน่อหวายมีธาตุสังกะสีสูง จะทำให้ไม่เครียดง่ายและช่วยการเจริญเติมโตของเด็กได้ดี ด้านลูกหวายอ่อนแกะเปลือก นิยมนำไปทำส้มตำหรือเป็นผักจิ้มน้ำพริก โดยลูกหวายอุดมไปด้วยแคลเซียมและวิตามินซี ตลอดจนมีสรรพคุณทางยา ช่วยบรรเทาอาการท้องร่วงได้
นอกจากวัตถุดิบสำคัญอย่างหวายแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับงานจักสานคืออุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ ทั้งมีด เหล็กแหลม และคีม
มีดสำหรับผ่าและตัด มักเป็นมีดใหญ่ มีสันหนา เช่น มีดอีโต้ เพราะต้องใช้ตัดหรือผ่าหวาย ไผ่ หรือพืชจักสานอื่น ๆ ให้ได้ขนาดตามต้องการ ก่อนจะนำไปเหลาหรือจักตอกเป็นเส้น
มีดตอก เป็นมีดปลายเรียวแหลมงอนขึ้น ด้ามมีดจะยาวกว่าตัวมีด เพราะต้องใช้ลำตัวกับท่อนแขนหนีบไว้เพื่อความสะดวกในการเหลาตอก ส่วนปลายที่งอนแหลมใช้เจาะหรือคว้านได้
เหล็กหมาดปลายแหลม เป็นเหล็กกลมปลายแหลม ด้ามทำจากไม้ เหมาะสำหรับไช แกะ หรือแงะเครื่องจักสาน เพื่อร้อยหวายผูกโครงสร้าง ผูกขอบ เจาะหูกระบุง
เหล็กหมาดปลายหอก ลักษณะคล้ายเหล็กหมาดปลายแหลม แต่ส่วนปลายจะแบนแหลมคล้ายหอก ใช้เจาะรู้เครื่องจักสาน เมื่อต้องการผูกหวายเสริมโครงสร้างให้แข็งแรง
คีมไม้ ลักษณะคล้ายไม้หนีบผ้าขนาดใหญ่ ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ชิงชัน มะค่า มักใช้หนีบปากเครื่องจักสานประเภทภาชนะเพื่อเข้าขอบ เช่น ขอบกระบุง ขอบกระจาด ทำให้ช่างทำงานเข้าขอบสะดวกขึ้นโดยไม่ต้องมีคนช่วยจับขอบ
ปัจจุบัน ความนิยมเครื่องหวายยังไม่ลดน้อยลงไป มีกลุ่มจักสานท้องถิ่นกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นการสร้างงานและรายได้ให้คนในชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจและสืบทอดภูมิปัญญางานฝีมือท้องถิ่นของบรรพบุรุษได้เป็นอย่างดี