อิ้วเป็นเครื่องมือแยกปุยฝ้ายออกจากเมล็ดฝ้าย ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้พะยูง ไม้มะค่าทุง ยาวประมาณ 40-50 ซม. ที่เหลากลึงจนกลมเนียนสองอัน เพื่อเป็นส่วนที่ใช้ขบเมล็ดฝ้ายแยกจากปุยนุ่น ไม้สองอันนี้เรียกว่า “เลาอิ้ว” โดยสอดเป็นคานระหว่างไม้อีกสองแท่งที่เป็นหลัก พร้อมกับติดฐานไม้ไว้ที่ด้านล่างเพื่อความมั่นคงยามใช้งาน ด้านหนึ่งของตัวอิ้วจะใช้มีดเซาะทำเป็นร่องเกลียว ส่วนอีกด้านหนึ่งจะทำมือจับสำหรับหมุน เรียกว่า “มืออิ้ว” เมื่อหมุนมืออิ้ว ส่วนเลาอิ้วสองอันจะหมุนในลักษณะบดขบกัน
ในสมัยโบราณก่อนจะมีเครื่องจักรอุตสาหกรรมดังเช่นปัจจุบัน เมื่อผลฝ้ายแก่จัดก็จะแตกออกเป็นปุยที่ยังติดกับเมล็ดอยู่ จึงจำเป็นต้องแยกเมล็ดเอาแต่เฉพาะปุยล้วน ๆ ไปแปรรูปเป็นเส้นด้ายเพื่อนำไปถักทอเป็นผืนผ้าต่อไป กว่าจะได้เส้นฝ้ายแต่ละเส้นจึงต้องผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ ดังนี้
1. การปลูกต้นฝ้าย โดยชาวอีสานมักจะเริ่มปลูกกันช่วงฤดูฝน ราวเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ฝ้ายจะแก่และแตกปุยพอดี
2. การเก็บฝ้าย โดยจะเริ่มเก็บราวเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม เพราะเป็นช่วงที่ฝ้ายกำลังแก่ ซึ่งต้องรีบเก็บก่อนที่ฝ้ายจะร่วงพื้น เพราะปุยฝ้ายจะสกปรก ทำให้ต้องเสียเวลาล้างทำความสะอาด และต้องหมั่นดูแมลงหรือสิ่งแปลกปลอมไม่ให้ปะปนในปุยฝ้าย เมื่อรวมปุยฝ้ายกันได้เยอะ ๆ แล้วจึงวางผึ่งแดดเพื่อให้ฝ้ายขึ้นฟู ง่ายต่อการแยกเมล็ดต่อไป
3. การทำเส้นฝ้าย เริ่มที่การนำปุยฝ้ายที่ผึ่งแดดจนแห้งมาผ่านอิ้ว ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับแยกเมล็ดฝ้ายออกจากปุยฝ้าย แล้วจึงนำปุยฝ้ายที่ไม่มีเมล็ดไปดีดด้วยกงดีด (ไม้ดีดฝ้าย) เพื่อให้ปุยฝ้ายฟู บางท้องถิ่นจะดีดในกระเพียดซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำจากไม้ไผ่ หน้าตาคล้ายสุ่มไก่ จากนั้นจึงล้อเป็นติวกลม ๆ เพื่อนำไปปั่นฝ้ายหรือเข็นฝ้ายให้เป็นเส้นด้ายเล็ก ๆ ด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า “หลา” แล้วจึงใช้ “เปีย” ที่มีลักษณะเป็นไม้รูป H มาช่วยในการเปียเส้นฝ้ายออกจากหลาให้ม้วนเป็นไจ
4. การย้อมสี ในกรณีที่ไม่ต้องการสีอื่น ต้องการเพียงสีธรรมชาติของฝ้ายก็ชุบเส้นฝ้ายในแป้งข้าวเจ้าหรือน้ำข้าว เพื่อให้เส้นฝ้ายเหนียวและไม่เป็นขนตอนนำไปใส่ราวกระตุกเส้นด้าย แต่ถ้าต้องการสีอื่น ต้องต้มเส้นฝ้ายเพื่อแยกไขมันออกก่อน แล้วจึงนำไปย้อมสีต่อไป โดยในสมัยโบราณจะใช้สีที่ได้จากธรรมชาติ เช่น สีแดงมาจากรังของครั่งหรือขี้ครั่ง สีดำมาจากผลมะเกลือ สีกากีมาจากใบสัก สีเขียวอ่อนมาจากใบแค สีตองอ่อนมาจากใบสับปะรดกับน้ำมะกรูด เป็นต้น