กระพ้อม



คำอธิบาย

กระพ้อมเป็นภาชนะขนาดใหญ่ สานด้วยไม้ไผ่ ปากกลม กลางป่อง ก้นเป็นสี่เหลี่ยม ด้านนอกมักยาด้วยขี้วัวหรือขี้ความเพื่อกันแมลง ใช้ใส่ข้าวเปลือกไว้กินหรือเก็บไว้ทำพันธุ์ ส่วนมากจะเก็บไว้ใต้ถุนเรือน โดยตั้งไว้บนแคร่ยกพื้นเตี้ย ๆ หรือปลูกเป็นเพิงแยกไว้นอกบ้าน เมื่อใส่ข้าวเปลือกจนเต็มแล้วหากต้องการเก็บไว้ทำพันธุ์มักปิดปากด้วยฟางหรือซังข้าว แล้วฉาบด้วยขี้วัวหรือขี้ควายเพื่อป้องกันสัตว์และแมลงลงไปกิน หรืออาจะใช้ตะแกรงปิดปาก กระพ้อมบางถิ่นเรียก กะพ้อม หรือ พ้อม

การสานกระพ้อม เริ่มจากนำไม้ไผ่ (นิยมใช้ไม้ไผ่สีสุก) ที่มีขนาดพอเหมาะนำมาแช่น้ำไว้ประมาณ 1 ปี จะทำให้มอดไม่กินเนื้อไม้ แล้วจึงนำมาผ่า เหลาให้เป็นเส้น จากนั้นจึงเริ่มสาน โดยมีเส้นตั้งและเส้นนอน เส้นตั้งจะทำเป็นสองเส้นคู่ ส่วนบริเวณมุมจะทำเป็นสามเส้น เส้นตั้งจะลากยาวอ้อมผ่านก้นกระพ้อมขึ้นไปยังฝั่งตรงข้าม เส้นตั้งจะมีระยะห่างกันพอประมาณ ทำเส้นตั้งจนครบรอบวง แล้วจึงเริ่มสานจากก้นขึ้นมาโดยใช้เส้นตั้งมาประสานกันเป็นก้นภาชนะ แล้วจึงยกเส้นตั้งขึ้นมาทั้งสองข้าง จากนั้นจึงสานขัดด้วยเส้นนอนที่มีขนาดเส้นเท่า ๆ กันกับเส้นตั้ง สานขัดกันไปเรื่อย ๆ จนเต็มใบ กระพ้อมทั้งใบจะไม่มีการมัด ตรงส่วนปลายของตอกไม้เส้นยืนบางเส้นจะตรงกับข้อของไม้ไผ่ เมื่อผ่าไม้ไผ่ออกมาเป็นเส้นตรงส่วนข้อจะมีลักษณะคล้ายตะขอ ซึ่งจะเป็นตัวยึดไม่ให้เส้นนอนหลุดออกไป จากนั้นก็จะนำขี้วัวหรือขี้ควายที่เก็บมาใส่กระป๋อง แล้วเติมน้ำ จากนั้นก็จะใช้ใบข้าวหรือฟางข้าวมัดเป็นฟ่อนแล้วคนจนขี้วัวขี้ควายแตกตัวจนมีความเหนียว แล้วจึงนำมาชโลมทั้งด้านนอกและด้านในของกระพ้อมเพื่ออุดช่องว่างระหว่างตอกไม้ไผ่ เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดข้าวหลุดออกมาจากช่องว่างดังกล่าว และป้องกันแมลงเข้ามาทำความเสียหายกับเมล็ดข้าวเปลือก นอกจากนั้นยังเป็นฉนวนป้องกันความชื้นอีกด้วย

กระพ้อมใช้สำหรับใส่ข้าว โดยมากจะเป็นข้าวเปลือก โดยเฉพาะข้าวเปลือกที่จะเก็บไว้ทำพันธุ์ต่อไป เมื่อใส่ข้าวเปลือกจนเต็มหรือเกือบเต็ม จะมีแรงดันออกมาทำให้เส้นตอกที่สานไว้มีความกระชับตัวขึ้น ทำให้ตัวกระพ้อมมีความแข็งแรงขึ้น แต่จะไม่นำมาใส่ดินหรือทรายเนื่องจากมีน้ำหนักมากกว่าข้าวเปลือก ด้วยน้ำหนักที่มากอาจจะทำให้เส้นตอกคลายตัวหรือหักได้

ในอดีตมีการใช้กระพ้อมทั้งในภาคกลาง ภาคอีสาน รวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์เช่นชาวกะเหรี่ยงด้วย โดยชาวกะเหรี่ยงจะนิยมสานกระพ้อมในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน เนื่องจากช่วงสองเดือนนี้เป็นช่วงที่มีเวลา เพราะเป็นช่วงที่ฝนเริ่มห่าง ข้าวที่ปลูกก็เริ่มโตคลุมดินโดยไม่ต้องดายหญ้า จึงมีเวลาในการเตรียมหรือซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับเก็บเกี่ยว เช่นสานเสื่อลำแพน กระด้ง ตะกร้า กระพ้อม รวมทั้งเตรียมยุ้งใส่ข้าวด้วย

นอกจากนี้กระพ้อมยังเกี่ยวโยงกับตำนานของวัดบางวัด คือวัดบางกะพ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา มีตำนานเล่าขานถึงที่มาของชื่อวัดว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนั้น มีอาชีพสานกระพ้อมใส่ข้าวเปลือกขาย วันหนึ่งกองทัพพม่าได้ยกพลมาปล้นบ้านเรือนราษฎรในเมืองแม่กลอง และกำลังสู้รบกันอยู่ที่ค่ายบางกุ้งที่อยู่ไม่ไกลกัน สามีภรรยาคู่นั้นด้วยความจวนตัวและไม่รู้ว่าจะหลบหนีไปที่ใด จึงได้เข้าไปหลบอยู่ในกระพ้อมที่ตนเองสาน พร้อมอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า ถ้ารอดชีวิตไปได้ก็จะสร้างวัดและวิหารขึ้นในบริเวณนี้ ซึ่งทั้งคู่ก็รอดชีวิตได้จากเหตุการณ์ดังกล่าว อีกทั้งทรัพย์สินก็ไม่เสียหาย จึงได้ทำตามสัญญาด้วยการบริจาคที่บ้านเพื่อสร้างวัดขึ้น โดยชาวบ้านต่างเรียกขานกันว่า "วัดบังกะพ้อม" หรือ "วัดบังกับพ้อม" ก่อนที่จะเพี้ยนมาเป็นวัดบางกะพ้อม

ในปัจจุบันแทบไม่มีการใช้งานกระพ้อมแล้วเนื่องจากมีการใช้กระสอบและภาชนะอื่น ๆ ขึ้นมาทดแทน หรืออาจเก็บไว้ในยุ้งฉางหรือโรงเก็บในสมัยใหม่ หรือเก็บไว้ในไซโลที่มีการป้องกันความเสียหายจากแมลงหรือความชื้นได้ดีกว่าในสมัยก่อนมาก กระพ้อมจึงหมดความนิยมในการใช้งานไปในที่สุด