คุตีข้าว



คำอธิบาย

คุตีข้าว เป็นภาชนะเครื่องสานที่มีขนาดใหญ่มากใช้สำหรับตีข้าวหรือฟาดข้าวให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวง และบรรจุข้าวเปลือกที่ฟาดได้ก่อนจะนำไปเก็บที่ยุ้งฉางต่อไป รูปร่างคล้ายอ่างขนาดใหญ่สานจากตอกไม้ไผ่

การสานคุจะเริ่มจากการเตรียมวัสดุและอุปกรณ์ โดยเริ่มหาตอกไม้ไผ่ในช่วงประมาณต้นเดือนสิงหาคมจนถึงต้นเดือนตุลาคมให้ได้ปริมาณเพียงพอ ตามที่ช่างแต่ละคนกำหนดจะสานคุในปีนั้นๆ โดยใช้ไม้ไผ่ซางอายุประมาณ 2 ปีเศษ เพราะหากใช้ไม้ไผ่อ่อนเกินไป มอดจะกินไม้ทำให้อายุการใช้งานสั้น และหากไม้ไผ่แก่เกินไปก็จะเปราะหักง่าย ตอกที่ใช้แบ่งได้เป็น 3 ขนาดคือ ตอกขนาดเล็ก กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 8 ศอกหรือ 4 เมตร โดยช่างจะปื้นส่วนผิว คือจักตามความกว้างของผิวไม้ไผ่ ส่วนการเหลาตอกจะมีลักษณะเฉพาะคือ ให้หัวท้ายตอกทั้งสองด้านเรียวเล็กและแบนลงกว่าส่วนกลางของตอกในลักษณะเท่า ๆ กันทุกเส้น คุณหนึ่งใบจะใช้ตอกขนาดเล็ก 100 เส้น

ตอกขนาดกลาง กว้างประมาณ 1.8 เซนติเมตร แต่สั้นกว่าตอกขนาดเล็ก ยาวประมาณ 7 ศอกหรือ 3.50 เมตร เหลาตอกในลักษณะเดียวกับขนาดเล็กคือหัวท้ายเรียวและแบนส่วนปลาย ใช้ตอกขนาดกลาง 100 เส้นเช่นกัน

ตอกขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 1.8-2 เซนติเมตร แต่จะสั้นลงอีก คือยาว 6 ศอกหรือ 3 เมตร การเหลาตอกขนาดใหญ่ต่างกับสองแบบแรก คือจะเหลาให้เรียบเสมอกันตลอดทั้งเส้น ไม่ต้องเรียวและแบนส่วนปลาย ใช้ตอกขนาดใหญ่ 100 เส้นเช่นกัน

เหตุผลที่ต้องเหลาตอกทั้งสามขนาดให้มีลักษณะและความยาวแตกต่างกัน เพื่อผลต่อการนำในสานในหลุมแม่แบบต่อไป ในการเตรียมตอกบางครั้งอาจกินเวลานานถึง 3 เดือน เพราะคุหนึ่งใบต้องใช้ตอกถึง 300 เส้น หากต้องทำคุ 10 ใบก็ต้องเตรียมตอกถึง 3,000 เส้น การเหลาตอกแต่ละเส้นต้องเหลาจนเรียบ ไม่มีเสี้ยน เพื่อให้ได้คุที่เรียบและลื่นเมื่อนำไปตีข้าว เมื่อเหลาตอกเสร็จแล้วต้องนำตอกไปผึ่งแดดอย่างน้อย 3 วัน ดูผิวไม้ไผ่ให้ออกสีขาวนวลแล้วจึงนำไปรมควันโดยไม่ให้ไฟลุกอีก 2 วัน ก่อนที่จะนำไปฉีดยากันแมลงแล้วเก็บไว้ในที่ร่มเพื่อรอการสานต่อไป

นอกจากการเตรียมตอกทั้งสามขนาดแล้ว ยังต้องเตรียมตอกส่วนผิว หน้ากว้างประมาณ 7 เซนติเมตร ยาว 10 เมตรอีก 2 เส้นต่อคุหนึ่งใบเพื่อประกบปิดปากคุทั้งด้านนอกด้านใน เรียกว่าไม้ประกบปากคุ และไม้พุทราหนามหรือที่คนพื้นเมืองเรียกว่าไม้บ่าตันขอ เพื่อใช้มัดยึดปิดขอบส่วนบนสุดของคุ โดยมีความยาวเท่ากับไม้ประกบปากคุคือ 10 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร และหวายเส้นกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตรสำหรับมัดยึดขอบปาก

หลังจากเตรียมตอกไว้ได้พอตามที่ต้อการแล้วช่างทุกคนในกลุ่มจะมารวมกันที่บ้าน "สล่าเก๊า" หรือ "หัวหน้าช่าง" เพื่อช่วยกันสานคุ เนื่องจากคุตีข้าวเป็นภาชนะขนาดใหญ่ เส้นตอกก็หนา จึงต้องอาศัยแรงของช่างหลายคนช่วยกัน และยังต้องใช้แม่แบบที่เหมาะสมเพื่อช่วยบังคับเส้นตอกให้โค้งไปตามรูปทรงที่ต้องการ  ช่างหนึ่งกลุ่มจะขุดหลุมหนึ่งหลุมเพื่อใช้ร่วมกันที่บ้านสล่าเก๊า หลุมดังกล่าวเรียกว่าแม่แบบคุ เป็นหลุมดินทรงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางปาก 250 เซนติเมตร สูงตามแนวดิ่ง 90 เซนติเมตร ลึกตามความลาดเอียง 110 เซนติเมตร ส่วนก้นหลุมจะพูนให้เป็นเนินดินนูนขึ้นมา มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 เซนติเมตร ส่วนที่นูนขึ้นมานี้เรียกว่า หมง เมื่อขุดหลุมได้รูปทรงดังกล่าวแล้ว ช่างจะนำโคลนก้นลำเหมือนมาเคลือบผิวแม่แบบ เพราะดินลำเหมืองเป็นดินที่ถูกทับถมด้วยใบไม้ใบหญ้ามานาน มีลักษณะเหนียว สามารถเคลือบผิวหลุมแม่แบบได้เรียบเนียน ยืดหยุ่นตัวได้ดี ผิวไม่แห้งแตก รองรับการสานคุด้วยตอกขนาดใหญ่ได้

ในช่วงเช้าของการสานคุ สล่าเก๊าจะนำดอกไม้ธูปเทียน มาจุดบอกกล่าว และขอขมาต่อพระแม่ธรณีก่อนลงมือสาน แล้วเริ่มต้นด้วยการใช้ตอกขนาดเล็กที่สุดแต่มีขนาดยาวที่สุด สานให้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมโดยเริ่มจากจุดศูนย์กลางขยายออกไปทั้งสี่ด้านๆ ละ25 เส้น รวม 100 เส้นแล้วนำไปแช่น้ำประมาณ 3 ชั่วโมงเพื่อให้ตอกดูดน้ำ แล้วนำไปลนไฟประมาณ 5 นาทีเพื่อให้ตอกอ่อนตัวแล้วรีบนำไปวางลงในหลุมแม่แบบให้ส่วนผิวไม้อยู่ด้านบน ใช้ลูกดิ่งจับให้แผ่นตอกอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางก้นหลุมแม่แบบ แล้วช่วยกันใช้สากไม้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 150-160 เซนติเมตร ตำให้เส้นตอกอ่อนตัวแนบกับหมง ช่วงที่ช่างลงไปตำแผ่นตอกไม้ไผ่สาน แล้วเดินวนรอบก้นคุนี้เรียกว่า "รำวง" ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะส่วนก้นคุมีลักษณะนูนป่องขึ้นมา จึงต้องใช้สากไม้ตำให้เส้นตอนอ่อนตัวแนบกับแม่แบบหลุมดิน ก่อนที่จะสานตัวคุขึ้นมาสู่ปาก จากนั้นช่างจะใช้เส้นตอกขนาดกลาง สานต่อขึ้นมาอีกทั้งสี่ด้าน ด้านละ 25 เส้น รวม 100 เส้นเช่นกัน แล้วจึงสานต่อส่วนปากซึ่งจะขยายบานผายออกด้วยการใช้ตอกขนาดใหญ่ สานขึ้นมาด้านละ 25 เส้น รวม 100 เส้นเช่นเดิม แต่การใช้ตอกทั้งสามขนาดสายขึ้นมาทั้งสี่ด้านในลักษณะแผ่นสี่เหลี่ยมจนถึงปากคุจะไม่สามารถปิดพื้นที่ให้เต็มตามแม่แบบหลุมดินได้ โดยจะมีพื้นที่ส่วนมุมทั้งสี่บริเวณใกล้ปากคุเหลือว่างอยู่ จะต้องใช้การเสริมตอกเส้นยืนแทรกเข้าไปในพื้นที่ที่ยังขาดอยู่จนต่อเนื่องกันเป็นแผ่นผืนเดียวกันตลอดทั้งใบ

เมื่อสานขึ้นมาจนถึงปากคุแล้ว ช่างจะใช้วงเวียนไม้ไผ่ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองกดที่จุดศูนย์กลางก้นคุ เพื่อขีดเส้นรอบวงรอบปากคุ เพื่อตัดส่วนเกินออกโดยใช้ขวานสับปลายตอกอกให้ปากคุเสมอกัน หลังจากนั้นเป็นการเข้าขอบปากชั้นแรกแบบชั่วคราวเพื่อกันไม่ให้ตอกหลุด ก่อนที่จะยกขึ้นมาเข้าขอบปากให้แข็งแรงนอกหลุมแม่แบบ โดยการใช้ไม้เข้าขอบปากที่เตรียมไว้สองเส้นประกบปิดขอบปากทั้งนอกและใน แล้วยกออกจากหลุมดิน มัดยึดขอบปากเป็นช่วง ช่วงละ 12 เซนติเมตร จนรอบปากคุ ส่วนขอบปากบนสุดใช้ไม้พุทราหนาม โค้งมัดปิดทับอีกชั้นหนึ่งเพื่อเพิ่มความแข็งแรงทนทานได้ดียิ่งขึ้น แล้วจึงนำไปคว่ำจุดไฟรมควันเพื่อกันมอดและแมลงก่อนที่จะนำไปใช้

หลังจากสานคุเสร็จแต่ละใบ ช่างจะแต่งผิวของแม่แบบคุให้เรียบเนียนและแน่นเหมือนเดิมทุกครั้งด้วยการใช้ค้อนไม้ทุบปรับแต่งผิวดินให้เรียบ เพื่อจะได้แม่แบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกใบ

ในการใช้งานคุหรือการตีข้าวด้วยคุ จะต้องนำคุไปวางใกล้ ๆ กับกองข้าวที่เกี่ยวแล้วเก็บมาวางซ้อนกันไว้ นำสาดกะลาหรือเสื่อไม้บงหรือไม้เฮี้ยซึ่งสายด้วยลายสองขนาดใหญ่ประมาณ 180x250 เซนติเมตร นำมาปูตามขวางชิดก้นคุด้านตรงข้ามกับคนตีข้าว เพื่อรองรับเมล็ดข้าว ที่อาจจะกระเด็นออกนอกคุในช่วงการยกฟ่อนข้าวขึ้นตี จากนั้นจึงใช้ไม้คีบฟ่อนข้าวหรือไม้ตีข้าวเกี่ยวรัดฟ่อนข้าว ให้ผู้ตียืนชิดขอบปากคุซึ่งอยู่สูงประมาณโคนขา แล้วยกไม้ตีข้าวที่คีบฟ่อนข้าวขึ้นตี โดยกะให้ส่วนรวงข้าวกระทบกับหมง ซึ่งเป็นส่วนก้นคุที่นูนป่องขึ้นมา จะทำให้เมล็ดข้าวหลุดร่วงเร็วขึ้น การตีคุสามารถตีพร้อมกันได้ถึงสี่คน แต่จำนวนคนที่พอเหมาะควรตีเพียง 2 คนต่อคุหนึ่งใบ เพื่อที่จจะสลับกันเข้าออกด้านเดียว อีกด้านจะได้ปูสาดกะลารองรับเมล็ดข้าวที่กระเด็นออกนอกคุ.

เมื่อตีข้าวจนหมดแต่ละกองแล้ว จึงทำการเก็บเมล็ดข้าวเปลือกออกจากคุ การเก็บข้าวจะเริ่มจากการนำสาดกะลามาปูให้ชิดก้นคุ โดยปูยาวไปตามทางลมในแต่ละวันแล้วให้คนตักข้าวเข้าไปยืนในคุหนึ่งคน อีกหนึ่งหรือสองคนยืนข้างสาด คนตักข้าวจะใช้พลั่วไม้ตักเมล็ดข้าวค่อยๆ สาดให้เป็นเส้นยาวไปตามทิศทางลมในแต่ละวัน ให้เมล็ดข้าวที่สมบูรณ์เท่านั้นตกลงที่สาดกะลา ส่วนข้าวลีบจะลอยออกไปข้างนอกสาดโดยมีคนพัดข้าวลีบช่วยพัดส่งอีกแรงด้วยการใช้พัดไม้ไผ่สาน ให้เหลือเพียงเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ ซึ่งชาวเหนือเรียกว่า "ข้าวเต้ง" เท่านั้นที่ตกลงมาที่สาด ทำอย่างนี้จนหมดข้าวในคุ ก่อนจะเคลื่อนย้ายคุไปตียังกองอื่นต่อไป

คุตีข้าวมีใช้ในบริเวณภาคเหนือเฉพาะจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ แต่ในจังหวัดลำพูนจะเรียกว่า แอ่ว ซึ่งมีรูปทรงเป็นเหลี่ยมและไม้ต้องสานในหลุม อีกทั้งลายที่ใช้ในการสานและลักษณะในการสานก็ต่างกัน แต่ก็มีการใช้งานในลักษณะเดียวกับคุ

การใช้คุในปัจจุบันเสื่อมความนิยมลงไปเนื่องจากเทคโนโลยีการทำนาในปัจจุบันที่เริ่มใช้เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์อำนวนความสะดวกอื่น ๆ เข้ามาใช้งานแทนการตีข้าวด้วยแรงงานคน ซึ่งสามารถประหยัดแรงงานและกำหนดค่าใช้จ่ายได้ชัดเจนขึ้น จึงแทบไม่เหลือการใช้งานคุอีก