กระแตเวียน



คำอธิบาย

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของกระแตเวียนไว้ว่า“อุปกรณ์สำหรับช่วยให้เด็กหัดเดิน ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ให้มีข้อติดอยู่ข้างหนึ่ง แล้วสวมลงกับหลักไม้ เหนือข้อตอนบนสอดไม้ขวางให้ยาวพอสมควรสำหรับให้เด็กเกาะประคองตัวหัดเดิน”

กระแตเวียนเป็นเครื่องฝึกหัดให้เด็กเดินหรือยืนทรงตัว ทำจากกระบอกไม้ไผ่ยาวประมาณสองปล้อง หรือประมาณ 45 ซม. มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-7 ซม. ปล้องล่างตัดเอาข้อออก ปล้องบนเจาะเป็นรูสำหรับสอดท่อไม้ไผ่เล็กความยาวประมาณ 45 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 ซม. ให้ตั้งฉากกับกระบอกเพื่อใช้เป็นแขนให้เด็กเกาะพยุงตัวยืนหรือเดิน โดยต้องสวมกับหลักไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่ยาวประมาณ 75 ซม. ที่ตอกยึดไว้กับพื้นเพื่อให้กระบอกและแขนไม้มีความมั่นคงแต่หมุนได้ โดยเวลาสวมกระบอกกับหลักไม้ต้องมีความฝืดพอดี ไม่หลวมเกินไปเพราะจะทำให้เด็กล้มง่ายและไม่คับแน่นจนเกินไปเพราะเด็กจะหมุนเดินไม่ได้

ชาวบ้านสมัยก่อนนิยมปักกระแตเวียนไว้ที่ใต้ถุนบ้านหรือลานบ้านเพื่อให้ลูกหลานเล็ก ๆ ได้ฝึกเดินหรือตั้งไข่ โดยการจับกระแตเวียนเดินเป็นวงกลม โดยมีผู้ปกครองคอยดูแลอย่างใกล้ชิด บ้างก็ปรบมือให้กำลังใจหรือเรียกลูกหลานตัวเองให้ไปหา ประกอบกับเสียงไม้ที่เสียดสีกันดังออดแอด ๆ ก็สร้างความเพลิดเพลินให้เด็ก ๆ ได้ไม่น้อย นับว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน กระแตเวียนยังคงมีให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ที่มีการประกาศขาย นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาสอนการทำกระแตเวียนด้วยตนเองด้วย โดยมีการประยุกต์ให้เหมาะกับยุคสมัย เช่น เปลี่ยนจากวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่เป็นท่อพีวีซีสีฟ้าสดใสที่หาซื้อได้ง่ายกว่า หรือการใช้ถังหล่อปูนเว้นรูตรงกลางสำหรับปักหลักกระแตเวียนในกรณีที่บางครอบครัวไม่มีบริเวณบ้านที่กว้างขวางมากนัก ซึ่งสามารถยกย้ายกระแตเวียนให้มาอยู่ในร่มได้