ต่าง คือภาชนะจักสานที่ใช้บรรจุบรรทุกสิ่งของเพื่อการขนย้ายด้วยสัตว์ มักใช้เป็นคู่หรือสองข้าง โดยมีคานพาดไว้บนหลังสัตว์พาหนะหรือสัตว์ต่างให้ห้อยลงมาทั้งสองข้างแล้วใช้หมอนหนุนคานหรือไม้ค้ำต่างแล้วผูกเชือกมัดระหว่างต่างกับวัว เพื่อไม่ให้สิ่งของตกในระหว่างเดินทาง ต่างมีรูปทรงกระบอก ปากผาย ก้นสอบเล็กน้อย เรียกได้ว่าเป็น "ภาชนะต่าง" เพราะเป็นภาชนะที่ใช้บรรจุขนย้ายได้ในปริมาณและน้ำหนะกมากกว่าการใช้แรงคน
นอกเหนือจากวัวแล้ว ยังสามารถใช้ต่างกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้อีก เช่น ควาย ลา ม้า ช้าง ซึ่งสัตว์ที่ใช้บรรทุกสิ่งของสัมภาระดังกล่าวก็จะถูกเรียกว่าเป็น "สัตว์ต่าง" หรือเป็นชื่อสัตว์ชนิดนั้น ๆ ไปเลยเช่น วัวต่าง ลาต่าง ม้าต่าง เป็นต้น แต่ในภาคเหนือของประเทศไทยจะนิยมใช้วัวต่างมากที่สุด ถึงแม้ว่าสัตว์อื่นอย่าง ช้าง ม้า ควายจะใช้บรรทุกสิ่งของและผู้คนได้เช่นกัน แต่ช้างจะนิยมใช้เฉพาะเจ้านาย ขุนนาง หรือบุคคลที่ร่ำรวยเนื่องจากช้างมีราคาแพง ส่วนม้าก็ไม่เป็นที่นิยมใช้ แต่ก็มีการใช้อยู่บ้างสำหรับชาวไทลื้อ ส่วนควายเป็นสัตว์ที่ชอบน้ำและทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้งได้ไม่ดี วัวจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการใช้ต่าง เพราะสามารถเดินทางติดต่อค้าขายกับหมู่บ้านหรือเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปได้โดยไม่ต้องมีถนนหรือแม่น้ำลำคลอง วัวต่างสามารถเดินทางผ่านดินแดนทุรกันดารได้ทุก ๆ สถานที่ ขอเพียงมีเส้นทางเท้าแคบ ๆ ตัดผ่านทุ่งหญ้า ป่าไม้และภูเขา วัวต่างก็สามารถเดินทางได้ ต่างจากการใช้เกวียนที่ถึงแม้จะสะดวกสบายกว่า และสามารถบรรทุกสิ่งของได้มากกว่าก็ตาม แต่สำหรับภูมิประเทศในภาคเหนือที่เต็มไปด้วยพื้นที่สูงและภูเขา การใช้เกวียนจึงไม่เหมาะสมต่อสภาพเส้นทาง
วัวที่ใช้เป็นวัวต่างก็คือวัวที่ใช้ไถนา จะเป็นตัวผู้หรือตัวเมียก็ได้ วัวต่าง 1 ตัวรับน้ำหนักได้ประมาณ 40-60 กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของวัว ระยะทางในการเดินทางและความกันดารของเส้นทางที่ใช้ วัวต่าง 1 ตัวเดินทางได้ประมาณ 5-6 ชั่วโมงต่อวัน ด้วยความเร็วราว 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในหนึ่งวันจึงเดินทางได้ประมาณ 15-18 กิโลเมตร กลุ่มคนที่ใช้วัวต่างก็คือชาไร่ชาวนา หรือพ่อค้าประจำหมู่บ้าน
วัวที่นำมาใช้เป็นวัวต่าง จำเป็นต้องมีการนำมาฝึกก่อนเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ โดยใช้ต่างบรรทุกดินใส่ไว้บนหลังวัว ในวันแรกต้องเอาคอวัวใส่ในหลักซึ่งปักไว้ 2 ด้าน แล้วใช้เชือกผูกไม่ให้หลุดก่อนที่จะใส่ต่างบนหลังวัวประมาณ 2-3 ชั่วโมงให้วัวเริ่มคุ้นชินกับต่างที่บรรทุกบนหลังก่อน แล้วค่อยปล่อยวัวออกจากหลัก ในวันหลังจากนั้นจึงเริ่มฝึกให้วัวเดินพร้อมกับบรรทุกต่างไว้ด้วย แล้วจึงค่อยฝึกการจูงหรือปล่อยให้กินหญ้าพร้อมกับบรรทุกต่างด้วยตลอดเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จึงพร้อมใช้งาน
วัวต่างถูกใช้ในกองคาราวานค้าขายระหว่างเมืองต่อเมืองในภาคเหนือ เนื่องจากภูมิประเทศที่ทุรกันดาน เต็มไปด้วยป่าไม้ ภูเขา หุบเขา สัตว์ร้ายนานาชนิดและกองโจร การเดินทางจึงต้องรวมกันเป็นหมู่จำนวนหลาย ๆ คนเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระหว่างเดินทาง ใน 1 กองคาราวานประกอบด้วยพ่อค้าวัวต่างหรือเรียกอีกอย่างว่า นายฮ้อย ประมาณ 3-5 คน พ่อค้าแต่ละคนอาจจะมีวัวต่างของตนเองประมาณ 10-60 ตัว ขึ้นอยู่กับฐานะของแต่ละคน วัวต่าง 10 ตัวต้องมีคนควบคุม 1 คน ถ้ามีวัวต่างจำนวนมากก็จำเป็นต้องจ้างลูกจ้าง ดังนั้นใน 1 คาราวานอาจมีวัวต่างตั้งแต่ 30-100 ตัว หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย
กองคาราวานวัวต่างจะเริ่มประกอบการค้าขายหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวหรือในช่วงฤดูแล้ง โดยนำสินค้าการเกษตรเช่น ข้าว ผัก หรือของป่าเช่น เขาสัตว์ หนังสัตว์ ขี้ผึ้ง ยาสูบไปทำการค้าขายกับหมู่บ้านอื่น ๆ หรือในเมืองที่มีสินค้าที่ท้องถิ่นของตนเองผลิตไม่ได้ เช่น เกลือ เมี่ยง ปลาแห้ง ปลาเค็ม น้ำมันก๊าด ไม้ขีดไฟหรือเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะ การเป็นพ่อค้าวัวต่างนั้นสามารถทำรายได้ดีกว่าการทำนา พ่อค้าวัวต่างจึงมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าชาวบ้านทั่วไปที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำหน้าที่พ่อค้าวัวต่างได้ เพราะพ่อค้าวัวต่างจำเป็นต้องมีประสบการณ์ในชีวิตมาก สามารถเดินทางผ่านบ้านเมืองที่อยู่ห่างไกลได้ สามารถเอาตัวรอดในเส้นทางทุรกันดารได้และสามารถควบคุมขบวนวัวและคนให้เป็นระเบียบสามารถเดินทางในเส้นทางไกลได้ด้วยความเรียบร้อย พ่อค้าวัวต่างจึงได้รับการเคารพนับถือจากชาวบ้าน เมื่อเลิกทำการค้าขายแล้ว ประชาชนในชุมชนมักจะเลือกพ่อค้าวัวต่างเป็นนายเหมือง นายฝาย (ตำแหน่งหัวหน้าในการจัดทำและควบคุมชาวบ้านในการดูแลรักษาเหมือง ฝาย ตลอดจนควบคุมการใช้น้ำจากลำเหมือง) หรือผู้ใหญ่บ้านในชุมชนของตน
กองคาราวานวัวต่างค่อยลดบทบาทลงไปเมื่อมีการสร้างถนนสายต่าง ๆ ในภาคเหนือ การบรรทุกสินค้าก็เริ่มเปลี่ยนมาใช้ทางเกวียนและรถยนต์ในที่สุด กองคาราวานวัวต่างและการใช้ต่างก็หมดสิ้นไปอย่างสิ้นเชิงใน พ.ศ. 2520 เมื่อถนนสายเชียงใหม่ - เชียงรายสร้างแล้วเสร็จ