กวัก



คำอธิบาย

กวักเป็นเครื่องมือสำหรับม้วนเส้นด้าย มีใช้กันทั่วไปในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ทำจากไม้ไผ่สานหยาบ ๆ หน้าตาคล้ายกระชุกหรือชะลอมปากผายทรงสูงแต่เล็กกว่า การสานกวัก ชาวเหนือเชื่อว่าต้องสานนอกเรือน เมื่อเสร็จแล้วจึงค่อยนำเข้ามาเก็บในเรือน โดยจะสานด้วยตอกปื้นใหญ่ ๆ เป็นลายตาเข่งหกเหลี่ยม ตรงขอบปากจะบานออก และเว้นรูไว้ตรงหัวและท้ายสำหรับสอดแกนไม้ ที่เรียกว่า หางเห็น เพื่อให้หมุนได้สะดวก บ้างก็เรียกการม้วนเส้นด้ายด้วยกวักว่า การกวักด้าย การกวักฝ้าย เป็นต้น

กวักต้องใช้งานร่วมกับหางเห็น จึงจะสามารถม้วนกวักด้ายได้ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน หางเห็น ทำจากไม้เนื้อแข็ง มีสามขา ปลายด้านหนึ่งยื่นยาวออกมาคล้ายหางของอีเห็น ส่วนที่ยื่นออกมานี้คือแกนสำหรับสอดกวัก

การกวักด้ายหรือการกวักฝ้ายเป็นหนึ่งในขั้นตอนการเตรียมเส้นด้ายก่อนการทอผ้าเป็นผืน มีตัวอย่างขั้นตอนการเตรียมเส้นด้ายก่อนการทอผ้าของชาวไทยพวนศรีสัชนาลัย ดังนี้

         1. การเก็บฝ้าย โดยต้องเลือกเก็บเฉพาะฝ้ายที่สมอแก่แตกฟูเต็มที่ ระวังอย่างให้เศษฝุ่นหรือเศษใบฝ้ายติดไปกับปุยฝ้าย เมื่อเก็บเสร็จแล้ว ต้องนำปุยฝ้ายไปตากแดดให้แห้งสนิทไม่อับชื้น

         2. การอิ้วฝ้าย นำปุยฝ้ายที่ตากแดดจนแห้ง มาแยกเมล็ดออกด้วยเครื่องอิ้วฝ้าย โดยการป้อนปุยฝ้ายเข้าไปในอิ้ว อิ้วก็จะบดดีดเมล็ดฝ้ายแยกออกมาจากปุยฝ้าย

         3. การดีดฝ้าย (ยิงฝ้าย) เมื่อแยกเมล็ดออกจากปุยฝ้ายแล้ว ต้องนำปุยฝ้ายมาดีดให้พองตัวด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่ากงฝ้าย ที่มีลักษณะคล้ายคันธนู ทำจากไม้ไผ่ขึงปลายทั้งสองด้านด้วยเชือกให้ตึงพอประมาณ โดยการนำปุยฝ้ายจำนวนหนึ่งใส่ไว้ในกระบุงขนาดใหญ่ก้นลึกพอประมาณที่กงฝ้ายจะเข้าไปได้ จากนั้นจึงดีดปุยฝ้ายในกระบุงด้วยกงฝ้าย ปุยฝ้ายจะกระจายตัวฟูพองเป็นปุยละเอียดขึ้น

         4. การล้อมฝ้าย (ล้อฝ้าย, กิ๊กฝ้าย) เป็นการปุยฝ้ายที่ผ่านการดีดแล้ว มาคลี่แผ่บนกระดานล้อฝ้าย ที่มีลักษณะคล้ายเขียงไม้ แล้วใช้ไม้ตะเกียบกลม ๆ หรือไม้ล้อฝ้าย คลึงปุยฝ้ายให้ม้วนติดกับไม้ เมื่อปุยฝ้ายติดแน่นพอประมาณจึงรูดออก จะได้ปุยฝ้ายเป็นหลอดหรือดิ้ว เพื่อนำไปปั่นเป็นเส้นด้ายต่อไป

         5. การปั่นฝ้าย (เข็นฝ้าย) จะมีอุปกรณ์สำคัญคือ ไน หรือ หลา เป็นกระบวนการที่ยาก เพราะมือซ้ายกับมือขวาต้องสัมพันธ์กัน วิธีการคือนำปุยฝ้ายที่เป็นหลอดมาจอที่ไนแล้วหมุน จะเกิดแรงเหวี่ยงดึงปุยฝ้ายเป็นเกลียวเส้นด้ายม้วนที่ไน มือข้างที่จับหลอดปุยฝ้ายต้องคอยดึงผ่อนแรงให้สัมพันธ์กัน ทำเช่นนี้จนหมดหลอดปุยฝ้าย

         6. การเปียฝ้าย (เปฝ้าย, เป๋ฝ้าย) เป็นการนำฝ้ายที่ปั่นเสร็จแล้ว มาพันเข้ากับอุปกรณ์ที่เรียกว่า เปีย (เปี๋ย, เป๋) เป็นไม้เนื้อแข็งรูปตัว T ทั้งหัวและท้าย มีแกนตรงกลาง แต่ส่วนปลายสองด้านวางไม้ไขว้กัน ในบางท้องถิ่นส่วนปลายของเปียทั้งสองข้างอาจจะขนานกันก็ได้ ให้พันเส้นฝ้ายไว้กับเปียจนได้ปริมาณพอสมควรแล้ว เมื่อปลดออก จะได้เส้นฝ้ายเป็นไจสวยงามมีระเบียบ

         7. การย้อมฝ้ายและลงน้ำข้าวฝ้าย นำฝ้ายที่แบ่งเป็นไจ เข้าสู่กระบวนการย้อมสี โดยในปัจจุบัน มีทั้งการยอมด้วยสีสังเคราะห์สำเร็จรูปและย้อมด้วยธรรมชาติแบบโบราณ โดยการย้อมด้วยธรรมชาติจะใช้วัตถุดิบจากพืชหรือสัตว์ เช่น สีดำจากมะเกลือ สีเหลืองจากขมิ้น สีครามจากต้นคราม เป็นต้น หลังจากย้อมเสร็จแล้ว ให้นำลงไปแช่น้ำข้าวสักครู่ แล้วจึงตากให้แห้ง ขณะตาก ต้องตีผงข้าวที่อาจติดอยู่ให้หลุดออกด้วย

         8. การกวักฝ้าย เป็นการนำด้ายที่ย้อมสีและตากจนแห้งแล้วมาเข้าเครื่องกวัก ด้วยการหมุนให้ด้ายพันรอบกวัก เพื่อให้ด้ายมีความเรียบตึงเสมอกัน

         9. การขึ้นหูก (ค้นหุ, โว้นเส้นด้าย) เป็นการนำด้ายจากกวักไปค้นเป็นเครือด้วยเผือ ตามจำนวนผืนที่ต้องการทอ เรียกด้ายแบบนี้ว่า เครือทุ หรือ เครือหูก

         10. การสืบหุและฮ้างหุ เป็นการนำเครือทุไปเข้าฟืม เมื่อเสร็จแล้วจึงนำไปขึงที่กี่ เพื่อทอผ้าต่อไป

นอกจากนี้ ชาวล้านนายังมีประเพณีเล่นผีบ่ากวักในช่วงกลางคืนของเทศกาลสงกรานต์ โดยเชื่อว่ากวักเป็นเครื่องมือที่พิเศษตั้งแต่ตอนผลิตแล้ว ชาวบ้านจะใช้กวักเป็นตัวแทนที่สื่อให้วิญญาณมาประทับ เพื่อไต่ถามอนาคตของบ้านเมือง อาชีพ การงาน การเงิน ความรัก เป็นต้น โดยอุปกรณ์ที่สำคัญนอกจากกวักแล้ว ยังมีไม้ไผ่ยาว 3-5 เมตร ทำหน้าที่เป็น “ไม้ชี้ดาว” ที่จะคอยชี้ดวงวิญญาณให้มาเข้ากวัก ไม้คานยาวประมาณ 1 เมตร สำหรับสอดใต้ฐานกวัก และน้ำขมิ้นส้มป่อยและดอกซอมพอหรือหางนกยูง อันจะเป็นตัวแทนของขันห้า

พิธีจะเริ่มด้วยการให้หญิงม่ายเป็นผู้นำพิธีร้องบทเชิญผีหรือรำเชิญผี มีผู้ช่วยสองคนคอยจับฐานกวักคนละด้าน แล้วให้ใครสักคนถือไม้ชี้ดาวชี้ไปยังดวงดาวสุกสว่างสักดวงบนฟ้า เพื่อให้วิญญาณเข้าประทับที่กวัก ร้องวนไปเรื่อย ๆ จนกว่าผีจะมาลงกวัก หากกวักขยับเขยื้อนแกว่งไกว แสดงว่าผีมาลงแล้ว ผู้นำพิธีก็จะเริ่มตั้งคำถามกับผีบ่ากวัก โดยคำถามต้องเป็นคำถามปลายปิด คือใช่กับไม่ใช่ เท่านั้น ซึ่งผีบ่ากวักจะให้คำตอบเป็นการโยกตัว โขกพื้น หรือเขียนคำตอบลงพื้น เช่น โยกหนึ่งทีคือใช่ โยกสองทีคือไม่ใช่

หลังจากถามคำถามจนพอใจแล้ว ผู้นำพิธีจะขอบคุณและขอขมาผีหากมีอะไรล่วงเกิน แล้วจึงนำน้ำขมิ้นส้มป่อยไปปะพรมที่ตัวกวัก กวักจะนิ่งและเบา แสดงว่าผีออกจากกวักไปแล้ว เป็นอันเสร็จพิธี

ปัจจุบัน ประเพณีเล่นผีบ่ากวักค่อนข้างจะหาชมได้ยากเต็มที เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยเชื่อเรื่องผีกันนัก เช่นเดียวกับการใช้กวักเก็บด้ายก็ไม่ได้รับความนิยม เพราะมีอุปกรณ์อื่นทดแทน แต่กวักก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างในบทบาทของประดับตกแต่งเพิ่มเสน่ห์ให้กับบ้านเรือนและสถานที่ นับเป็นบทบาทใหม่ที่น่าสนใจไม่น้อย