กลองอืด เป็นกลองชนิดหนึ่งคล้าย กลองหลวง แต่มีขนาดเล็กกว่าประมาณ 1 ใน 4 ของกลองหลวง ขึงด้วยหนังหน้าเดียว ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ ไม้แดง พบในจังหวัดแพร่และน่าน ใช้ประกอบการฟ้อนเล็บหรือแห่ขบวนต่าง ๆ เช่น ฟ้อนกลองอืด ฟ้อนเมือง ฟ้อนเล็บ ฟ้อนแห่ครัวตาน ฯลฯ มีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ได้แก่ ฆ้องใหญ่ ฆ้องกลาง ฉาบใหญ่ 1 คู่ และ “ผ่าง” หรือ “พาน” (ฆ้องไม่มีปุ่ม) กลองอืดนี้ บ้างว่าเป็นชนิดเดียวกับกลองแอว
กลองแอวมีชื่อเรียกขานต่างกันไป บางแห่งอาจเรียกตามรูปลักษณ์ที่พบเห็น เรียกตามเสียงที่ได้ยินหรือเรียกตามตำนานเล่าขานสืบกันมา อย่างไรก็ตาม พอสรุปได้ว่า กลองแอว เป็นชื่อเรียกตามรูปลักษณ์ที่พบเห็น คือมีลักษณะคอดกิ่วตรงกลางคล้ายสะเอว ซึ่งภาษาล้านนาเรียก "แอว” จึงได้ชื่อว่า "กลองแอว”
กลองอืดเป็นชื่อที่นิยมเรียกกันในจังหวัดแพร่และน่านบางส่วน สาเหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะเสียงกลองที่ดังกังวานยาวนาน เรียกเสียงประเภทนี้โดยทั่วไปว่า เสียงอืด หรือ เสียงลูกปลาย