หน้วงใช้ดักจับตายหนูโดยมีเหยื่อล่อภายใน หรือใช้ดักกระรอก กระแต โดยวางไว้บนกิ่งคาคบไม้พอได้ เป็นเครื่องมือดักหนูที่ประดิษฐ์ใช้กันแพร่หลายในสมัยก่อน ๆ ปัจจุบันก็ยังคงมีใช้กันอยู่ แต่ก็เริ่มลดน้อยลง ในภาคอีสานมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น หน้วงดักหนู หรือหน่วง มีความหมายว่าเหนี่ยวดึงไว้ทำให้ช้า เจ็บปวดหนัก เรียก เจ็บหน่วง ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้ก็ทำให้หนูเจ็บปวดหนักก่อนที่จะตาย ภาคกลางเรียกว่า ด้วง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรี ที่ใช้วิธีการสีให้เกิดเสียง เรียก “ซอด้วง” จึงไม่แน่ใจว่า ซอด้วง ขอยืมชื่อ “ด้วงดักหนู” หรือ ด้วงดักหนูยืมชื่อมาจาก”ซอด้วง” เพราะทั้งสองชนิดก็มีลักษณะส่วนประกอบใกล้เคียงกัน คือ มีไม้คันและกระบอกเป็นส่วนประกอบหลัก
ด้วงดักหนู ทำจากไม้ไผ่มีส่วนประกอบ คือ กระบอกไม้ไผ่ มีข้อปิดด้านหลัง ช่องที่ปากกระบอก กว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-18 เซนติเมตร ที่ท้ายกระบอกเจาะช่องจากด้านบน ทะลุลงด้านล่างด้านบนปากกระบอกเจาะรูสองรู ร้อยผูกเชือกให้เป็นหู ถัดเข้ามาเล็กน้อยบากเจาะร่อง ให้สลักสอดขัดขวางช่องภายในปากกระบอก เหลาไม้คันเป็นเส้นกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 80-100 เซนติเมตร เหลาไม้ให้ปลายเรียวที่โคนหนา สวมลงไปในช่องท้ายกระบอกที่ปลายโคนเสี้ยมปลายแหลมผูกเชือกที่ปลายคัน ผูกต่อมายังโคนไม้ขัด ถัดจากโคนไม้ขัดออกมาที่ปลายผูกเชือกต่อไปยังไม้สลัก ที่โคนไม้ขัดผูกเชือกต่อร้อยลงในรูไม้หูทำบ่วงเชือกภายในปากกระบอก
วิธีการดัก จะเลือกดักบริเวณทางเดินหนูหรือแหล่งที่หนูออกมาหากินโดยการเสียบโคนคันไม้ยึดติดพื้นดินขวางทางหรือริมทางหนู ใช้เหยื่อ มัน ข้าวโพด ชิ้นส่วนผลไม้ ข้าวเหนียวปิ้งไฟ หัวปลาย่างอย่างใดอย่างหนึ่ง ใส่ไว้ภายในปากกระบอกปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืนเมื่อหนูออกหาอาหารได้กลิ่นและเห็นเหยื่อก็จะดึงหรือดันไม้สลักที่ขวางทางอยู่ออก เมื่อสลักหลุด คันดีดก็จะตวัดบ่วงที่ปากกระบอก เชือกบ่วงจะรูดรัดคอหนูอย่างรวดเร็วติดตายคาปากด้วง