พิณเปี๊ยะ



คำอธิบาย

“พิณเปี๊ยะ” ถือเป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ของล้านนา เล่นยาก และต้องใช้สมาธิในการเล่นเป็นอย่างสูง การทำพิณเปี๊ยะมีกรรมวิธีที่ยากและซับซ้อน  อีกทั้งขนาดและสัดส่วนของพิณเปี๊ยะแต่ละชิ้น ต้องมีความสมดุลกับขนาดของพิณเปี๊ยะ ที่สำคัญวัสดุที่นำมาใช้ต้องมีคุณภาพ

ขั้นตอนการทำพิณเปี๊ยะ

การเตรียมไม้ – การคัดเลือกไม้เพื่อมาทำพิณเปี๊ยะ เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเสียงพิณเปี๊ยะที่บรรเลงออกมา ไม้ต้องตรงไม่คดงอ ไม่มีตาหรือมีรอยตัด เพราะการเกิดเสียงของพิณเปี๊ยะจะเดินทางผ่านส่วนของหัวเปี๊ยะผ่านมายังคันทวนแล้วออกไปที่กะลา ซึ่งหากไม้ไม่มีคุณภาพ เสียงที่ดีดออกมาจะไม่ชัด เสียงบอด ไม่ไหลลื่น

คันทวนพิณเปี๊ยะ – หลังจากคัดไม้ได้แล้ว นำเข้าเครื่องกลึงเพื่อทำคันทวน สิ่งที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนนี้คือประสบการณ์ของช่างกลึงที่ต้องมีทักษะ ความรู้ ความชำนาญ การกลึงคันทวนนั้นสัดส่วนจะขึ้นอยู่กับขนาดของพิณเปี๊ยะว่าต้องการกี่สาย โดยทั่วไปพิณเปี๊ยะที่ใช้เล่นกันจะมีขนาดตั้งแต่ 2 สาย 3 สาย 4 สาย 5 สาย และ 7 สาย การเพิ่มลวดลายคันทวนจะขึ้นตามรูปแบบของโรงงานหรือลูกค้าเป็นหลัก ขั้นตอนนี้สิ่งที่สำคัญคือการเก็บลาย เช่น ทรงหัวยอดแหลม การเก็บลายบัวคว่ำ บัวหงาย ต้องมีความประณีตสวยงาม การกลึงตรงปลายคันทวนเพื่อเสียบหัวเปี๊ยะต้องมีขนาดพอดี ไม่หลวม

ลูกบิด – โดยทั่วไปจะยึดรูปแบบเหมือนคันทวนหรือทรงอื่น เช่น ทรงดอกจำปี ทรงยอดแหลม ทรงบัวอกไก่ สิ่งสำคัญคือขนาดของลูกบิดที่จะเสียบรูคันทวนเปี๊ยะต้องเท่ากับรูที่เจาะ

หมอนหรือเสาค้ำ - เรียกว่า คอเปี๊ยะ มีรูปแบบไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับขนาดคันทวน ใช้เป็นข้อต่อและตัวเชื่อมในการไหลของเสียงจากคันทวนไปยังกะลา โดยจะเจาะสองรูสำหรับร้อยเชือกรัดอก

การประกอบเปี๊ยะ – นำกะลามาประกอบเข้ากับคันทวนพิณเปี๊ยะ โดยทำเชือกเป็นบ่วงร้อยเข้ากับกะลาเพื่อให้หัวเปี๊ยะที่ประกอบติดกับคันทวนลอดผ่านได้ เลื่อนเชือกขึ้นไปด้านบนให้ห่างจากลูกบิด ประมาณ 1 นิ้ว แล้วตั้งเสียงโดยขึ้นอยู่กับขนาดของเปี๊ยะว่าเป็นเปี๊ยะกี่สาย จากนั้นปรับสายรัดอกให้ตึงโดยไม่แน่นจนเกินไป

การประกอบหมอนกับกะลา – ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากเพราะคอเปี๊ยะกับกะลาต้องแนบติดกันให้สนิท นำเชือกมาร้อยเข้ากับรูที่เจาะไว้เพื่อทำเป็นรัดอก ในสมัยก่อนจะใช้ผิวหวายหรือหนังวัวมาจักเป็นเส้น แต่ปัจจุบันใช้สายซออู้ สายเอ็น

การประกอบหมอนกับคันทวน - ใช้มีดกรีดส่วนปลายหมอนอีกด้านหนึ่งให้เป็นร่องพอดีกับคันทวน โดยทั้งสองชิ้นเมื่อนำมาประกอบต้องแนบติดกันสนิท เพื่อให้เสียงออกไปยังกะลาได้ดี

สลัก - มีไว้เพื่อปรับระดับความหย่อนตึงของรัดอกให้แน่นขึ้นหรือหลวมลง ในอดีตทำจากไม้ไผ่ แต่ปัจจุบันใช้เขาควาย เพื่อความคงทน นำมาขัดให้มีขนาดพอดีกับกะลาคล้องกับเชือกแล้วบิด

กล่องเสียง - สมัยโบราณใช้น้ำเต้าทำกล่องเสียง เสียงที่ออกมาจึงทุ้ม ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้กะลามะพร้าวแทน ซึ่งหาได้ง่ายและเสียงดีกว่า โดยทั่วไปจะใช้กะลาที่แก่ สีดำ ทรงกลม เนื้อไม่บางจนเกินไป สัดส่วนขึ้นอยู่กับขนาดของพิณเปี๊ยะ นำมาตัดครึ่งแล้วเข้าเครื่องขัดให้ผิวกะลาเรียบจนได้ขนาดความหนาที่พอดี ขั้นตอนนี้สิ่งที่สำคัญคือ ถ้าหากกะลาหนาไปเสียงจะไม่ค่อยออก หรือหากบางเกินไปก็เสี่ยงแตกหักได้ง่าย จากนั้นจึงขัดเงา เจาะรูตรงกลางกะลาเพื่อร้อยเชือกติดกับหมอน