หมวกเจ๊ก หมวกก่วยเล้ย หรือหมวกกุ้ยเล้ย ภาษาจีนกลางเรียกว่าหมวกกุยและ เป็นหมวกปีกกว้างทรงกลมยอดแหลม ใช้สวมศีรษะเพื่อกันแดดกันฝน ในอดีต ชาวจีนในประเทศจีนใช้สวมเวลาทำนวนและเดินทางออกนอกบ้าน เมื่ออพยพมาอยู่ประเทศไทยก็ยังใส่หมวกก่วยเล้ยเช่นเดิม เช่น ใส่พายเรือขายของ ใส่ทำสวน ใส่เดินทางออกนอกบ้าน บางแห่งใช้ครอบผลไม้ เช่น แตงโม เพื่อป้องกันแมลงเจาะ เป็นต้น
ป้าฉลวย ใจช่วงโชติ เป็นชาวสวนอยู่ที่ ต. อัมพวา อ. อัมพวา จ. สมุทรสงคราม มีความสามารถในงานจักสาน โดยเรียนรู้และสืบทอดการทำก่วยเล้ยมาจากเตี่ย (พ่อ) ป้าฉลวยเล่าว่าอากงอพยพจากเมืองจีนมาตั้งรกรากอยู่ที่ จ. นครปฐม มีอาชีพทำสวนผัก เตี่ยของป้าฉลวยมีฝีมือทางด้านการจักสาน สานได้ทุกอย่างทั้งตะกร้า กระด้ง ก่วยเล้ย ฯลฯ เตี่ยและป้าฉลวยจึงช่วยกันสานหมวกก่วยเล้ยส่งขายให้ร้านค้าในนครปฐมแทบทุกร้านและมีรถมารับไปจำหน่ายให้เจ้าของสวนแตงโมที่สุพรรณบุรีซื้อไปคลุมลูกแตงโมในไร่เพื่อกันแมลง เพราะเมื่อก่อนไม่ใช้ยาฆ่าแมลง
ป้าฉลวยอธิบายขั้นตอนการทำก่วยเล้ยตั้งแต่การเตรียมวัสดุ การสาน รวมทั้งปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมบางอย่างเพื่อให้ใช้งานได้ดีขึ้น แต่ยังคงรูปแบบก่วยเล้ยของเตี่ยไว้อย่างครบถ้วน
ขั้นแรกเป็นการเตรียมวัสดุ ได้แก่ ใบไผ่ จะใช้ใบไผ่ตงอ่อนหรือแก่ก็ได้ แต่ใบแก่ทนทานกว่า ป้าฉลวยจะตัดไม้ไผ่จากกอที่ปลูกไว้หลังบ้านเป็นกิ่ง ๆ เอามาบ่ม โดยใช้ใบไม้อื่นปูรอง เอาใบไผ่วาง แล้วใช้ใบไม้ห่อ หาท่อนไม้หนัก ๆ วางทับอีกที การบ่มทำให้เกิดความร้อน ใบไผ่จะเหลืองและหลุดร่วงจากกิ่ง นำมาเรียงเก็บไว้ใช้ได้นานเป็นปี ใช้ห่อขนมจ้าง (ข้าวเหนียวสามเหลี่ยมเล็ก ๆ) ข้าวต้มน้ำวุ้น หรือบ๊ะจ่างก็ได้
โครงของหมวกก่วยเล้ยทำด้วยไม้ไผ่สีสุก ป้าฉลวยใช้มีดบางจักไม้ไผ่เป็นเส้นตอก แต่บางคนก็ใช้มีดจักตอกโดยเฉพาะ บางแห่งที่ทำเครื่องจักสานจำนวนมากก็มีเครื่องเหลาตอก เหลาจนได้ตอกเส้นบางยาว เก็บไว้ใช้ได้นานมอดไม่กิน เวลาจะใช้ก็เอามาชุบน้ำเพื่อให้อ่อนตัว สานได้ง่ายขึ้น
การสานก่วยเล้ยจะใช้ “โบ๊” เป็นแบบในการสานโครง โดยสานเป็นตาขัดเหมือนตาชะลอม ขึ้นเป็นโครงหมวกยอดแหลม ฐานกลม สานฝาด้านนอกในลักษณะเดียวกันแต่ใช้ไม้ไผ่เส้นใหญ่กว่า นำกระดาษที่แช่น้ำจนเปียกมาวางซ้อนเรียงกันจนรอบ แต่ปัจจุบัน ป้าฉลวยประยุกต์ใช้ถุงพลาสติกแทนกระดาษเพื่อให้กันน้ำได้ดีขึ้น นำใบไผ่ที่แช่น้ำไว้มาวางซ้อนบนกระดาษอีกที จากนั้นนำฝาด้านนอกมาประกบทับใบไผ่ลงไป แล้วใช้ตอกถักเข้าขอบให้เรียบร้อย ส่วนยอดของหมวกใช้ไม้ไผ่สองอันงอไขว้กันเป็นสี่ขาเสียบลงไป ช่างบางคนใช้เส้นหวายหรือต้นคล้าถักเป็นยอดหมวกก็มี จากนั้นทาน้ำมันยางหรือน้ำมันเคลือบเนื้อไม้ที่ด้านนอกของหมวกเพื่อความคงทน ตากให้แห้งสนิท เพิ่มสายรัดคางกันหมวกปลิวหลุด ก่วยเล้ยหนึ่งใบ ใช้เวลาสานหนึ่งวัน แต่ใช้เวลาในการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ทั้งเตรียมใบไผ่และเหลาตอกค่อนข้างนาน
ก่วยเล้ยมีหลายขนาด ขนาดเจ็ดตา สิบตา 14 ตา 18 ตา และ 24 ตา ซึ่งใหญ่มาก ใช้กันแดดกันฝนได้ทั้งตัว ก่วยเล้ยใบเล็กสานง่าย เอาวางที่เข่าแล้วก็สาน แต่ขนาด 24 ตา สานยาก ต้องใช้ตอกยาวและต่อไม้หลายครั้ง ป้าฉลวยเคยสานไว้ใบหนึ่ง น้องชายเอาไปเก็บไว้ที่บ้านที่กรุงเทพฯ ไม่ให้ใครจับเลย เพราะหายาก ไม่มีใครสานแล้ว
ก่วยเล้ยใบหนึ่งใช้ได้นานจนลืม ป้าฉลวยหญิบก่วยเล้ยใบเก่าที่ยังใช้อยู่เป็นประจำออกมาให้ดูแล้วเล่าว่า “ใบนี้สานเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นคิดว่าจะเลิกสานแล้ว ก็เก็บไว้ใช้ใบหนึ่ง ตอนนั้นจะสานตาใหญ่ สานง่าย ส่วนตอนนี้สานตาละเอียดขึ้น จะได้ดูสวยงาม แต่ลายเล็ก เวลาสานจะเจ็บมือกว่า ป้าจะสานใบใหญ่อีกใบเดียวก็จะเลิกสานแล้ว เพราะไม่ไหวแล้ว ต้องทำเองหมดทุกอย่าง อยากทำสวน ถางหญ้า จอบอัน ก่วยเล้ยใบ อยู่ในสวน”
ปัจจุบัน ก่วยเล้ยฝีมือป้าฉลวยยังได้รับความนิยมในหมู่ชาวสวนแถบ อ. อัมพวา จ. สมุทรสงคราม ใส่ทำกิจวัตรประจำวัน ทั้งค้าขาย ทำสวน เพราะราคาย่อมเยากว่างอบ น้ำหนักเบาและระบายความร้อนได้ดี นอกจากนี้ก็มีคนมาสั่งทำเพื่อนำไปวางขายตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น ที่ตลาดน้ำบางน้อย เป็นที่นิยมของบรรดานักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนต่างชาติ จะซื้อใส่เพื่อความสวยงามและเป็นของที่ระลึก ส่วนโฮมสเตย์ก็ซื้อก่วยเล้ยขนาดเล็กไปใส่หลอดไฟ ใช้ทำโคมไฟ หมวกก่วยเล้ยของชาวจีนที่เดิมมีไว้ใส่กันแดดกันฝน ปัจจุบันถูกนำมาใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ต้องการสร้างบรรยากาศท้องถิ่น หรือเป็นเครื่องรำลึกถึงบรรพบุรุษที่เข้ามาทำมาหากินและสร้างครอบครัวให้มั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้ ป้าฉลวยกล่าวด้วยความภูมิใจว่า “เวลาคนมาซื้อ ก็สบายใจ คนใส่ชอบของเรา ภูมิใจ”