ติ้ว



คำอธิบาย

“ติ้ว” ทำจากไม้ไผ่เหลาเป็นซี่เล็กบาง ขนาดกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร ปลายด้านหนึ่งเจียนให้โค้งมนหรือเสี้ยมเป็นปลายแหลม ทาสี เช่น ขาว แดง หรือเขียว เขียนตัวอักษรและหมายเลขด้วยสีดำที่ปลายไม้ ระยะแรกใช้ภาษาจีน ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นภาษาไทย ติ้วจะบรรจุอยู่ในกระบอกทองเหลืองหรือกระบอกไม้ไผ่ เรียกกันว่า “กระบอกเซียมซี”

จุดกำเนิดของการใช้ติ้วเซียมซีเพื่อเสี่ยงทาย น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรืออยุธยา โดยชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเป็นผู้นำเข้ามาพร้อม ๆ กับการสร้าง “ศาลเจ้า” ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นที่พบปะสังสรรค์และเกื้อกูลกันในหมู่ชาวจีน ภายในศาลเจ้ามีรูปเคารพของเทพเจ้าที่ชาวจีนให้ความเคารพนับถือ เช่น เทพเจ้ากวนอู เจ้าแม่กวนอิม พระครูหมอ เป็นต้น ศาลเจ้าจึงเป็นศูนย์รวมด้านจิตใจของชาวจีน ยามใดที่มีปัญหาชีวิต มีความทุกข์ทางกายหรือจิตใจ ชาวจีนจะมากราบไหว้เทพเจ้าที่ตนเคารพศรัทธา ขอให้ช่วยทำนายโชคชะตาโดยใช้ติ้วเป็นสัญลักษณ์สื่อกลางในการเสี่ยงทาย

ศาลเจ้าบางแห่งเก่าแก่และเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านว่าศักดิ์สิทธิ์มาก เช่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ถ. นางงาม อ. เมือง จ. สงขลา ที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2385 และนับถือกันว่ามีติ้วเซียมซีที่ทำนายได้แม่นยำเป็นที่นับถือของชาวบ้านมากว่า 170 ปี

การใช้ติ้วเสี่ยงทายที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา เดิมมีสามลักษณะคือ ใช้เสี่ยงทายทำนายโชคชะตา ใช้เสี่ยงทายยาจากพระครูหมอเพื่อรักษาโรค และใช้ในประเพณีทิ้งกระจาด แต่ปัจจุบันไม่มีการใช้ติ้วในประเพณีทิ้งกระจาดแล้ว

การเสี่ยงทาย เริ่มด้วยการหยิบกระบอกเซียมซีขึ้นมาตั้งจิตอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และถามคำถามที่อยากรู้คำตอบ จากนั้นเริ่มเขย่ากระบอกเซียมซีจนไม้ติ้วตกลงสู่พื้นเพียงอันเดียว หมายเลขที่ปรากฏบนไม้ติ้วจะเป็นคำทำนายโชคชะตาหรือตำรายาที่ใช้ในการรักษาโรคของผู้เสี่ยงทาย

ปัจจุบัน แม้ศาสตร์แห่งการทำนายจะเกิดขึ้นมากมาย แต่ความเชื่อความศรัทธาต่อเทพเจ้าอันเป็นที่พึ่งทางใจในการแก้ไขปัญหาชีวิตผ่านการใช้ติ้วเซียมซีทำนายโชคชะตาก็ยังคงอยู่คู่กับสังคมของลูกหลานชาวจีนในสงขลา บ่อยาง มาตราบจนทุกวันนี้