เต็งลั้ง



คำอธิบาย

“เต็งลั้ง” หรือ “โคมจีน” เป็นโคมกระดาษสีขาว-แดง โครงทำด้วยไม้ไผ่จักเป็นตอกเส้นแบนแล้วนำมาสานเป็นทรงกระบอกหรือทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 24 เซนติเมตร สูง 23 เซนติเมตร ด้านนอกปะกระดาษสาสีขาว เขียนตัวอักษรจีนด้วยหมึกสีแดง ซึ่งเป็นสีมงคล คำที่เขียนจะมีความหมายแตกต่างกันไปตามแต่งานที่ใช้ ด้านล่างของเต็งลั้งมีแผ่นไม้ทรงกลมแบน สำหรับวางเทียนหรือหลอดไฟ ด้านบนมีช่องระบายอากาศ ร้อยลวดหรือเชือกสำหรับแขวน ชาวจีนนิยมแขวนเต็งลั้งไว้หน้าบ้านในช่วงงานเทศกาล เช่น ตรุษจีน หรือเมื่อจะมีพิธีมงคล เพราะเชื่อว่าเป็นเครื่องชี้นำทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้เทพเจ้ามองเห็นบ้านที่แขวนเต็งลั้งและเจ้าของบ้านจะได้รับคำอวยพรหรือช่วยเหลือให้มีความสุขความเจริญ

ตามศาลเจ้าต่าง ๆ ก็มีการแขวนเต็งลั้งหลายใบเพื่อบูชา “ทีกง” หรือเทพเจ้าแห่งฟ้า เจ้าแม่กวนอิม และเทพเจ้าองค์อื่น ๆ ชาวจีนเชื่อว่าเต็งลั้งที่ใช้บูชาในเทศกาลกินเจใหญ่ประจำปีจะมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ในวันสุดท้ายของเทศกาลกินเจจึงมีการเปียหรือประมูลเต็งลั้งเหล่านี้ โดยที่เสนอเงินทำบุญให้ศาลเจ้ามากที่สุดจะได้เต็งลั้งกลับไปบูชาที่บ้าน เต็งลั้งที่คนนิยมมากที่สุดคือเต็งลั้งของทีกง เพราะถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ฟ้าประทาน แม้แต่ยอดไผ่ที่ใช้ทำเสาแขวนเต็งลั้งก็ยังถูกตัดแบ่งเป็นท่อน ๆ นำมาประยุกต์เพื่อให้นำไปบูชา เพราะเชื่อว่าจะช่วยบันดาลโชคลาภ ทำให้ค้าขายเจริญรุ่งเรือง

นอกจากจะเป็นสิ่งของมงคล บันดาลความเจริญรุ่งเรืองแล้ว เต็งลั้งจาก “โรงเจปากน้ำ” หรือ “โรงเจซิ่วฮกตั๊ว” ต. แควอ้อม อ. อัมพวา จ. สมุทรสงคราม ยังได้รับความนิยมนับถือเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าการบูชาเต็งลั้งที่ได้จากศาลเจ้านี้จะช่วยให้มีลูกชาย ซึ่งเป็นยอดปรารถนาของชาวจีน

คุณธวัชชัย พิเสฏฐศลาศัย ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ตั้งเซียมฮะ เล่าว่า ตนเองได้เต็งลั้งมาจากโรงเจปากน้ำ เมื่อ พ.ศ. 2531 ตอนนั้นมีลูกสองคน เป็นผู้หญิงทั้งคู่ และคุณประพีร์ภัทร (ภรรยา) เพิ่งตั้งท้องลูกคนที่สามได้สี่เดือน ยังไม่ทราบว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย พี่ชายของคุณธวัชชัยจึงให้เปลี่ยนเต็งลั้งที่บ้านเสียใหม่ และไปเปียเต็งลั้งที่บูชาทีกงของโรงเจปากน้ำมาให้ ราคาประมาณ 1,000 บาท และนำมาแขวนไว้ที่หิ้งพระในบ้าน หลังจากนั้นคุณประพีร์ภัทรก็คลอดลูกชายสมใจ เต็งลั้งคู่นี้จึงถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เพราะถือว่าเป็นเต็งลั้งขอลูกชาย ต่างจากเต็งลั้งทั่วไปที่เมื่อเก่าหรือชำรุดทรุดโทรมลง ก็จะต้องเปลี่ยนใหม่และนำไปเผาทิ้ง

ปัจจุบัน ชาวจีนยังนิยมแขวนเต็งลั้งตามบ้านในช่วงเทศกาลและงานมงคล แต่มีการดัดแปลงรูปทรงและสีสันให้สวยงามทันสมัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ คนไทยก็นิยมนำเต็งลั้งไปแขวนตกแต่งตามบ้านและร้านค้าเพื่อความสวยงามอีกด้วย

คุณธวัชชัยกล่าวหา ปัจจุบันความเชื่อเรื่องเต็งลั้งขอลูกชายยังคงมีอยู่บ้างแต่เริ่มลดน้อยลง เพราะมีเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ในการคัดเลือกเพศของบุตร บวกกับความคิดที่เปลี่ยนไปในกลุ่มคนจีนปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับลูกชายและลูกสาวเท่า ๆ กัน ความเชื่อในการบูชาเต็งลั้งเพื่อให้ได้ลูกชายจึงมีความสำคัญน้อยลง