เชี่ยนหมาก



คำอธิบาย

เชี่ยนหมาก เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับวางตลับใส่หมาก ตลับยาเส้น กระปุกปูน ตลับสีเสียด และซองใส่พลู ชาวบ้านมักเรียกเชี่ยนหมากว่า กระทายหมาก ภาคเหนือตอนบนเรียกว่าขันหมาก

เชี่ยนหมากมีมาแต่โบราณ ในราชาศัพท์ระดับพระมหากษัตริย์เรียกพานพระศรี ระดับราชวงศ์เรียกพานหมากเสวย เชี่ยนหมากนอกจากจะใช้วางอุปกรณ์ในการกินหมากแล้ว ยังใช้ต้อนรับอาคันตุกะแขกบ้านแขกเมืองได้เป็นอย่างดี การกินหมากและทำเชี่ยนหมากเกิดขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ก็มีแพร่หลายในแถบประเทศเอเชีย เช่น จีน อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย เป็นต้น เชี่ยนหมากทำจากวัสดุหลายประเภท เช่น ไม้ ทองเหลือง เงิน พลาสติก และเครื่องเขิน ตัวเชี่ยนหมากมีลักษณะคล้าย ๆ พานหรือเป็นหกเหลี่ยมก็มี ตามพื้นบ้านในชนบทส่วนใหญ่จะพบเชี่ยนหมากที่ทำด้วยไม้และทองเหลืองอยู่มาก เชี่ยนหมากที่ทำด้วยไม้มักเป็นไม้สักหรือไม้เนื้อแข็ง ตัดเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 25 เซนติเมตร ใช้กระดาษทรายขัดให้เรียบ

ปัจจุบันการทำเชี่ยนหมากด้วยไม้ จะใช้เครื่องจักรกลึงได้อย่างรวดเร็ว มีการออกแบบรูปทรงต่าง ๆ และตกแต่งเป็นลวดลายให้สวยงามยิ่งขึ้น บางครั้งใช้ไม้แผ่น ๆ ประกบกันเป็นเชี่ยนหมากหลาย ๆ มุม อาจทำเป็นสองชั้น ชั้นบนจะวางอุปกรณ์กินหมาก ส่วนชั้นล่างก็สำรองพวกหมาก พลู ยาเส้น สีเสียด ไว้เผื่อขาด

ในงานบวชพระ แต่งงาน หรืองานบุญงานกุศลตามเทศกาลต่าง ๆ ยังพอเห็นคนสูงอายุจีบหมากจีบพลูใส่เชี่ยนหมากถวายพระหรือไว้ต้อนรับแขกที่มาร่วมงานอยู่บ้าง การกินหมากในสมัยโบราณถือว่าเป็นสิ่งดีงาม เพราะคนฟันดำเป็นลักษณะของคนสวย นอกจากนี้ยังให้เกิดความเพลิดเพลินในเวลาเคี้ยวหมาก ช่วยฆ่าเวลาและทำให้ฟังแข็งแรงทนทานอีกด้วย

การกินหมากเลิกกันอย่างจริงจังในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งสกปรกเลอะเทอะ ไม่ทันสมัย เชี่ยนหมากจึงไม่ค่อยพบเห็นกันมาตั้งแต่ในครั้งกระนั้นแล้ว และยิ่งคนสูงอายุล้มหายตายจากไปหมด การกินหมากก็คงค่อย ๆ สูญหายไป เชี่ยนหมากจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป