รองเท้าไม้ เดิมเรียกว่า เกือก เป็นของใช้ที่ชาวบ้านใส่ไปทำงานในป่า เพื่อป้องกันหนามตำเท้า มีรูปร่างลักษณะคล้ายรองเท้าแตะในปัจจุบัน
คนไทยทั่วไปสมัยก่อนไม่ค่อยนิยมใส่รองเท้า เพิ่งมีการบังคับให้ข้าราชการในราชสำนักใส่ถุงเท้ารองเท้าสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) สำหรับประชาชนได้มีการบังคับให้แต่งกายแบบสากล ใส่รองเท้าเข้มงวดกวดขันระยะภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
การคิดทำรองเท้าใส่มีมาแต่อดีตแล้วในครั้งแรก อาจใช้หนังสัตว์ที่ล่าได้มาเจาะรูร้อยเส้นเถาวัลย์หรือเชือกมัดหุ้มรอบเท้าป้องกันอันตรายต่าง ๆ จนกระทั่งมีการใช้ไม้แผ่นมาตัดเป็นพื้นรองเท้าและใช้เชือกหนังสัตว์เป็นสายรองเท้า จากการบอกเล่าของผู้สูงอายุสรุปได้ว่า รองเท้าไม้ที่ทำขึ้น ชาวบ้านจะไม่ค่อยใส่ไปงานบุญงานกุศลหรือใส่ไปธุระอื่น ๆ เมื่อเดินทางไปที่ใดจะเดินทางด้วยเท้าเปล่ามากกว่า ประกอบด้วยสภาพถนนหนทางไม่สะดวก ต้องลุยโคลนลุยน้ำอยู่เสมอ การใส่รองเท้าจึงไม่มีความจำเป็นสำหรับชาวบ้าน รองเท้าไม้คิดทำขึ้น เน้นในการใส่เข้าป่าโดยเฉพาะ ชาวบ้านจะแบกมีดหวดจอบเสียมพาดบ่าโดยแขวนรองเท้าไว้ปลายด้ามไม้เข้าป่าหาเห็ด หน่อไม้ ผลไม้ป่า เป็นต้น การเดินทางไปในป่าอาจมีหนามทิ่มตำ ยิ่งมีการหาหน่อไม้หรือตัดต้นไผ่แล้ว บางทีต้องปีนกอไผ่ขึ้นไปสูง ๆ ต้องเหยียบหนามแหลมคม ดังนั้นจึงทำรองเท้าไม้ป้องกันอันตรายไว้ก่อน การใช้รองเท้าไม้ดังกล่าว ชาวบ้านจะถือคอนไป เมื่อถึงป่ามีหนามมากจึงหยิบออกมาใส่ หากไม่จำเป็น ชาวบ้านจะไม่ค่อยใส่รองเท้า
การทำรองเท้าไม้ ใช้แผ่นไม้สักหนา 1-2 เซนติเมตร ความยาวขนาดเท้าของผู้ใส่ ทำเป็นพื้นรองเท้า ถากแผ่นไม้รูปร่างเหมือนเท้าสองแผ่น เจาะรูกลมไว้ร้อยสายรองเท้าสามรู สายรองเท้าจะใช้เชือกหนังสัตว์หรือเชือกปอก็ได้ แต่โดยมากใช้ปอ เวลาใช้จะต้องจุ่มน้ำหรือเอาน้ำลูบหูรองเท้าเสียก่อน เพราะทำให้สายรองเท้านิ่ม ไม่กัดซอกนิ้วเท้า ต่อมาจึงมีการพัฒนามาใช้รองเท้ายางและฟองน้ำที่ใช้โดยทั่วไปในสมัยนี้