แคนเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีไม่กี่ประเภทที่บ่งบอกแหล่งที่มาของชาติพันธุ์และที่ตั้งชุมชนได้อย่างแม่นยำ คล้ายกับปี่สกอตของสกอตแลนด์ที่เพียงแค่ได้ยินเสียงก็รู้ว่าเป็นชาติพันธุ์กลุ่มใด เพราะเสียงแคนมีจังหวะและท่วงทำนองที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากจะใช้เป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิงแล้ว เสียงแคนยังถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับ “แถน” หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ
ในงานประเพณีบุญเดือนหกที่จัดขึ้นราวเดือนพฤษภาคม หรืองานเจ้าพ่อพญาแลในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี จะต้องมีวงแคนยาวจากบ้านขี้เหล็กใหญ่ร่วมเป่าเพื่อบูชาเจ้าพ่อพญาแลเสมอ เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “ครั้นไหว้เจ้าพ่อ แล้วงั้น (บูชา) ด้วยเสียงแคน บ่ว่าเจ๊ก ไทย ลาว ญวน ครั้นลุกขึ้นมาฟ้อนมารำได้ทั้งที่บ่เคยรำ แสดงว่าชาติก่อนเจ้าของเป็นลาว” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังของเสียงแคนที่ทำให้เป็นเอกลักษณ์ของคนลาว
แคนยาวบ้าขี้เหล็กใหญ่ นอกจากจะมีขนาดยาวที่สุดในโลกแล้ว สิ่งที่น่าสนใจและมีคุณค่ามากยิ่งกว่านั้นคือการสร้างอัตลักษณ์ของคนบ้านขี้เหล็กใหญ่ผ่านเสียงดนตรี
ชาวบ้านขี้เหล็กใหญ่ ต. ในเมือง อ. เมือง จ. ชัยภูมิ เริ่มก่อตั้งวงดนตรีตั้งแต่ พ.ศ. 2511 โดยมีแคน พิณ ซอ และขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีหลัก จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งวงดนตรีก็เพื่อแก้ปัญหาวัยรุ่นตีกันเวลามีงานมหรสพ เมื่อชักชวนให้มาตั้งวงเล่นดนตรีร่วมกัน เรื่องทะเลาะเบาะแว้งที่เคยมีก็ลดน้อยลง ต่อมาใน พ.ศ. 2524-2525 วงแคนยาวบ้านขี้เหล็กใหญ่หยุดการแสดงลงชั่วคราว เนื่องจากสมาชิกติดภารกิจในหน้าที่การงาน แต่หลังจากนั้นได้มีการรวมตัวกันใหม่อีกครั้ง พร้อมทั้งคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ ที่จะดึงดูดความสนใจจากผู้ชม โดยมีเป้าหมายที่จะลบล้างมายาคติที่ว่า “แคนเป็นเครื่องดนตรีของคนลาว เครื่องดนตรีของชนชั้นแรงงาน” ซึ่งทำให้แคนถูกตีราคาและคุณค่าต่ำกว่าความเป็นจริง ครูลุน วงศ์คำสิงห์ และครูสุทธิ เหล่าฤทธิ์ จึงเกิดความคิดว่าจะสร้าง “แคนสามเต้า” ที่เป่าได้สามคนพร้อมกัน เพื่อให้ผู้ชมสนใจการแสดงแคนมากขึ้น
ครูสุทธิ เหล่าฤทธิ์ หนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งวงแคนบ้านขี้เหล็กใหญ่เล่าถึงที่มาที่ไปของแคนยาวว่า
“เดิมแคนมีแค่เต้าเดียว ก็ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้แคนแปลกกว่าปกติ ไปที่ไหนก็ไม่ธรรมดา เพราะแคนที่ไหนก็มี ตอนแรกก็คิดไม่ออก ต้องลองปรับลองเปลี่ยนหาวิธีใหม่ ของเก่า ๆ ก็พัฒนาไปตามยุคสมัย แคนยาวใหญ่ ใหญ่อย่างเดียวก็ไม่แปลก ต้องเป่าได้หลายคนจึงจะแปลก จึงคิดให้สามารถเป่าได้หลายคนด้วย ตอนแรกที่บอกช่าง ช่างก็คิดไม่ออกว่าจะทำยังไง ก็ต้องวาดให้ดู ทำออกมาอันแรกใช้ไม่ได้ ต้องทำอันใหม่ ต้องแก้แล้วแก้อีก ไม้ที่ทำก็ต้องเป็นไม้ท่อนเดียวกัน ต้องยาว เป่าโน้ตเดียวกัน แต่เป่าพร้อมกันสามคน แคนสามเต้าเป่ายาก ต้องเป่าพร้อมกัน ถ้าไม่พร้อมกันปากจะแตก เพราะเต้าแคนแข็ง และต้องใช้แรงประคองเยอะเพราะแคนยาวมีน้ำหนักมาก”
เมื่อคิดรูปแบบของแคนที่ต้องการได้แล้ว ก็ต้องสืบหาช่างทำแคนฝีมือดีมาทดลองทำ โชคดีที่ครูสุด กัณหารัตน์ ชาวบ้านนาหนองทุ่ม หนึ่งในสมาชิกวงแคนบ้านขี้เหล็กใหญ่เป็นช่างทำแคนฝีมือดี แม้ว่าจะอาศัยอยู่ต่างหมู่บ้าน แต่ก็เป็นทั้งกัลยาณมิตรและญาติพี่น้องกับคนบ้านขี้เหล็กใหญ่ จากการศึกษาผังเครือญาติของคนขี้เหล็กใหญ่ในอดีต พบว่าคนที่ก่อตั้งบ้านหนองทุ่ม อ. แก้งคร้อ จ. ชัยภูมิ ก็เป็นคนจากบ้านขี้เหล็กใหญ่
“ช่างทำแคนในชัยภูมิมีหลายคน แต่ช่างสุดเป็นช่างทำแคนที่มีฝีมือดีและได้มาตรฐาน จนมีคนกล่าวว่าแคนนายสุดถึงจะแพงแต่คุ้มค่า แคนที่ทำวางขายกันทั่วไป เสียงหลบ เป่าแป๊บเดียวลิ้นหัก เป่าครึ่งชั่วโมงก็ไม่ดังแล้ว แต่แคนของนายสุดเป่าทั้งวันทั้งคืนก็ไม่เป็นไร” ครูสุทธิกล่าว
ครูสุทธิอธิบายว่าแคนมีส่วนประกอบหลักเป็นไม้ไผ่และไม้เนื้อแข็ง มีขนาดต่าง ๆ กัน ทั้ง แคน 7 แคน 8 แคน 9 โดยนับจากจำนวนไม้ที่นำมาประกอบเป็นตัวแคน ซึ่งจะมีเจ็ดคู่ แปดคู่ และเก้าคู่
“ตัวแคน” ทำด้วยไม้ชลู่หรือไม้แคน เป็นไผ่ชนิดหนึ่ง ขึ้นห่าง ๆ กัน ไม่เป็นกอ ลำตรง ดัดได้ ไม้ที่นำมาจะต้องเป็นไม้ท่อนเดียวยาว 3-3.5 เมตร เคยพบมากในป่าภูเขียว ภูแลนคา ภูพังเหย แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เพราะพื้นที่ป่ากลายเป็นป่าสงวนและบางแห่งป่าไม้ถูกทำลาย จึงต้องนำเข้าจากประเทศลาว
“เต้าแคน” ทำจากไม้ประดู่ หาได้ในป่าละแวกบ้าน “ขี้สูด” หรือชันโรงเป็นตัวประสานระหว่างตัวแคนกับเต้าแคน ยางชันโรงเป็นสิ่งที่มีค่ามากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เคยใช้เป็นส่วยและเครื่องราชบรรณาการส่งมอบให้กับราชสำนักหลายแห่ง ปัจจุบันเป็นของป่าหายาก ชันโรงยังมีฤทธิ์ทางยา สามารถดับกลิ่นปากได้ บางคนเมาเหล้ามาเป่าแคน คนเป่าทีหลังแทบสลบ แต่ชันโรงจะช่วยดับกลิ่นได้
“ลิ้นแคน” ครูสุทธิบอกว่าลิ้นแคนเป็นสิ่งวิจิตรพิสดาร ทำจากทองเหลืองตีเป็นแผ่นบาง ในเต้าแคนทุกคู่จะมีลิ้นทองเหลือง มีทั้งลิ้นเดี่ยว ลิ้นคู่ และลิ้นซ้อนสาม ทำให้เกิดเสียงดัง มีหลายเสียง ถ้ามีหลายลิ้นราคาก็จะยิ่งแพง ลิ้นเดี่ยวราคาอยู่ที่ 5,000 บาท สองลิ้น ราคาประมาณ 8,000 บาท
“รูนับ” หรือ “ฮูแคน” อยู่เหนือเต้าแคนและลิ้น เวลาเป่าต้องปิดรูนับ มิฉะนั้นจะเป่าไม่ดัง ส่วน “รูแพ” อยู่ใต้เต้าแคน ใช้กำกับเสียงให้เป็นเสียงน้อยเสียงใหญ่
“แคน 3 เต้า เป่า 3 คน” เป็นนวัตกรรมของคนบ้านขี้เหล็กใหญ่ นอกจากจะทำยาก ต้องลองผิดลองถูกหลายครั้งกว่าจะได้แคนที่เป่าได้จริงและเสียงดีแล้ว วิธีการเป่าก็ยิ่งยาก จะต้องอาศัยความพร้อมเพรียงกันของคนเป่าทั้งสามคน ต้องฝึกซ้อมเพื่อให้รู้จังหวะกันอย่างดี เพราะหากใครผิดจังหวะอาจเกิดการกระแทกปากแตก และต้องมีการจัดเรียงลำดับคนเป่าให้ลดหลั่นกัน เพื่อให้ได้ระดับความสูงที่พอดีกับเต้าแคน โดยคนเป่าเต้าล่างสุดมักจะต้องนั่งบนเก้าอี้ เต้าที่สองต้องยืน และเต้าสุดท้ายผู้เป่าต้องยืนบนเก้าอี้หรือแท่นที่สูงประมาณ 50 เซนติเมตร ปัจจุบัน แคนยาวมีทั้งแคนยาวหนึ่งเต้า สำหรับเป่าหนึ่งคน แคนสองเต้าเป่าสองคน (หรือจะเป่าคนเดียวก็ได้) และแคนสามเต้า เป่าสามคน (เป่าคนเดียวก็ได้แต่ไม่แปลก ต้องเป่าสามคน)
วงแคนยาวบ้านขี้เหล็กใหญ่มีพัฒนาการมายาวนานถึง 50 กว่าปี เกิดการสั่งสมความรู้ทั้งการเป่าและการทำแคน สร้างความผูกพันด้วยการเล่นดนตรีร่วมกันในชุมชน การเล่นดนตรีในยามว่างร่วมกันระหว่างคนรุ่นปู่ย่าตายาย เปรียมเสมือนการส่งผ่านอัตลักษณ์มีคุณค่าที่ดีงามจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการใช้เวลาว่างร่วมกันระหว่างผู้คนในชุมชนที่มีหลายอาชีพหลายวัย สร้างความผูกพัน ความรู้สึกร่วมของการเป็นสมาชิกชุมชนขี้เหล็กใหญ่ร่วมกัน