ตาลปัตร



คำอธิบาย

ตาลปัตร มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ว่า พัดทำด้วยใบตาล มีด้ามยาว สำหรับพระภิกษุถือบังหน้าในพิธีกรรม เช่น ในเวลาให้ศีล ต่อมาอนุโลมเรียกพัดที่ทำด้วยผ้าหรือไหมซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้นว่าตาลปัตรด้วย

ในปัจจุบัน ตาลปัตรที่ทำจากใบตาลหรือใบลานมีอยู่น้อยเต็มที ส่วนใหญ่จะเป็นแบบสำเร็จรูปที่ทำจากผ้าและด้ามจับพลาสติก แต่ที่ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ยังคงสืบสานกรรมวิธีการผลิตตาลปัตรที่ทำจากใบลานแท้ ๆ อยู่ รวมทั้งอนุรักษ์ตาลปัตรใบลานเก่าแก่โบราณไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

ชาวบ้านหนองขาวมีศรัทธาแรงกล้าในพุทธศาสนามาก นับถือพระสงฆ์เป็นดังผู้นำท้องถิ่น ยามที่ต้องทำการสิ่งใดเพื่อถวายบุญกุศลต่อพุทธศาสนาก็จะช่วยกันอย่างเต็มที่ ตั้งอกตั้งใจ โดยเฉพาะงานอุปสมบทที่ใช้เวลาเตรียมงานกันข้ามปี ผู้หญิงจะถักหมอน ผ้าเช็ดหน้า ถลกบาตร และที่ใส่ช้อนส้อม ส่วนผู้ชายจะช่วยกันทำตาลปัตรจากใบตาลหรือใบลาน ที่ชาวบ้านหนองขาวเรียกว่า “ตะละปัด” เป็นหนึ่งในเครื่องอัฏฐบริขารของพระบวชใหม่ โดยตาลปัตรใบลานถือเป็นตัวแทนความรักความภาคภูมิใจของผู้ใหญ่ที่บุตรหลานได้บวชเรียน ทั้งยังเป็นการแสดงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ที่ช่วยเหลือเกื้อกูล เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ผ่านงานบุญกุศลได้เป็นอย่างดี

ในการทำตาลปัตรใบตาล จะมีวัสดุ ดังนี้

1. ใบตาลหรือใบลาน

2. เข็มและเชือกสำหรับเย็บ

3. พู่ไหมพรมหลากสี

4. ดิ้นเงิน ดิ้นทอง

5. แล็กเกอร์

6. ไม้เนื้อแข็ง ยาวประมาณ 90 เซนติเมตร

โดยตาลปัตรมีส่วนประกอบหลักสองส่วนคือ

1. ตัวพัด มีลักษณะเป็นทรงรีหรือรูปไข่ ทำจากใบตาลหรือใบลาน กว้างราว 30 เซนติเมตร ได้มาจากการนำใบตาลหรือใบลานตากแห้งมารีดให้เรียบ แล้วเรียงซ้อนกันเป็นวงกลม เย็บตรึงให้ใบตาลติดกันอยู่เป็นระยะ ๆ แล้วจึงทาเคลือบด้วยแล็กเกอร์เพื่อให้มันเงา จากนั้นนำลูกไม้และผ้าสีมาเย็บริม ตกแต่งด้วยพู่ไหมพรม ดิ้นเงินดิ้นทองให้เป็นลวดลายสวยงาม

2. ด้าม ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น โมกมัน ชิงชัน ประดู่ ไม้แดง เป็นต้น นำมาตัดกลึงเป็นทรงกระบอกขนาดพอดีมือ ความยาวประมาณ 90 เซนติเมตร หรือให้เหมาะกับพระสงฆ์ผู้ใช้ คือต้องบังหน้าพอดีเวลานั่งสวด ส่วนปลายที่ใช้คีบใบลานจะกลึงให้แบนกว้างเพื่อหนีบใบลานให้แน่ไม่หลุด พันปลายด้านบนที่ถูกแยกออกด้วยไหมพรมให้แน่น แล้วแต่ด้วยพู่ไหมพรมทับอีกชั้นหนึ่ง

พระครูสังฆรักษ์วินัย อินฺทวินโย อดีตเจ้าอาวาสวัดอินทาราม (วัดหนองขาว) ดำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ริเริ่มความคิดที่จะอนุรักษ์ตาลปัตรแบบดั้งเดิม จึงนำตาลปัตร 19 เล่ม ที่เก็บรักษาไว้มาซ่อมแซมและตกแต่งให้สวยงาม และนำไปใช้ยามมีกิจนิมนต์หรืองานบุญสำคัญต่าง ๆ เช่น การสวดพระมาลัย เป็นต้น จนมีเสียงชื่นชมว่าเป็นวัดและชุมชนที่อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมได้ดี