“การอุปสมบท” หรือ “การบวชพระ” เป็นประเพณีที่ชายชาวไทยเชื้อสายมอญและผู้เลื่อมใส่ในพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญ เมื่อชายหนุ่มมีอายุครบ 20 ปี จะต้องเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อสึกแล้วจึงจะแต่งงานได้ เป็นการเปลี่ยนสถานะของชายหนุ่มไปสู่การเป็นผู้มีความรู้ในทางธรรม เป็นผู้ใหญ่และสามารถเป็นผู้นำครอบครัว
พิธีบวชของชาวมอญคล้ายกับพิธีบวชของชาวไทยทั่วไป แต่มีรายละเอียดบางอย่างแตกต่างกัน พระอนุวัตร สุจิตฺโต ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์วัดคงคาราม ต. คลองตาคต อ. โพธาราม จ. ราชบุรี อธิบายว่าการบวชแบบมอญที่วัดคงคารามจะมีพิธีสามวัน แต่ก่อนหน้านั้นพ่อแม่จะต้องใช้เวลาเตรียมงานนานหลายเดือน โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายของนาคที่ต้องใช้ถึงสามชุด
เครื่องแต่งกายในพิธีบวชของมอญเรียกว่าชุด “จางอะยาง” หรือ “จางอ๊ะย่าง” มีความหมายว่าเครื่องแต่งตัว ประกอบด้วย ผ้าม่วง ผ้าสไบสองผืน มีทั้งสไบสีและสไบขาว ผ้ากราบ ผ้าคลุมหัว และชฎา เครื่องแต่งกายเหล่านี้ แม่ พี่สาว หรือน้องสาวของผู้บวชจะเป็นผู้ทอผ้าและตระเตรียมให้ทั้งหมด ผ้ากราบมักเป็นฝีมือการปักของแม่ ส่วนมากปักเป็นลายดอกพุดตานหรือดอกพิกุล ผ้าม่วงและชฎาหยิบยืมจากคนตระกูลเดียวกันได้ แต่ต้องเป็นคนที่นับถือผีเดียวกัน สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกันเท่านั้น เครื่องแต่งตัวในการบวชบางชิ้น หากคนนอกตระกูลแตะต้องจะถือว่าของนั้นไม่บริสุทธิ์
เช้าวันแรกของการบวช ผู้บวชจะสวม “ชุดรับแขก” คือนุ่งโสร่งหรือผ้าม่วง สวมเสื้อสีขาว มีผ้าขาวม้าพาดบ่า สวมสร้อยคอ กำไลข้อมือ ทัดดอกไม้ที่หู เพื่อขอขมาญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว หลังจากนั้นจึงอาบน้ำและโกนผม ญาติผู้ใหญ่จะผลัดกันตัดผม ใช้ขี้วัวทาหัว ขัดด้วยหญ้าแพรกแล้วทาขมิ้น
จากนั้นจะเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็น “ชุดแห่นาค” คือนุ่งผ้าม่วงแบบจีบหน้านาง ห่มสไบหรือที่เรียกเป็นภาษามอญว่า “ด๊ด” โดยจะเลือกสีสไบให้ตัดกับสีผ้าม่วง แล้วห่มสไบขาวทับอีกที แต่งหน้าทาปากเล็กน้อย สวมชฎา แล้วตั้งขบวนแห่นาคมาวัดเพื่อขอบวชกับเจ้าอาวาส บางบ้านใช้วิธีให้นาคขี่ม้าเข้าขบวนแห่ ระหว่างทางก็จะแวะขอขมาคนเฒ่าคนแก่และบอกกล่าวสถานที่สำคัญของหมู่บ้าน เช่น อโนก (ศาลผีประจำตระกูล) พระภูมิ เจ้าที่หมู่บ้าน เจดีย์บรรพบุรุษ ศาลพ่อปู่ (เจ้าเทพ) เมื่อขอบวชกับเจ้าอาวาสเรียบร้อยก็พากันกลับบ้านเพื่อทำขวัญนาค
ช่วงเย็นที่บ้านงานจะมีการสวดฉลอง “ไก” หรือ “ผ้าไตร” และทำขวัญนาค หลังจากนั้นจะมีการเลี้ยงอาหารผู้ที่มาร่วมพิธี
รุ่งเช้า นาคจะสวม “ชุดนาค” เป็นเสื้อครุยสีขาว เข้าขบวนแห่มาวัด ก่อนจะเข้าวัดจะแวะขอขมาพ่อปู่ที่ต้นโพและฝากห่อผ้าขาวบรรจุเส้นผมไว้ที่ต้นโพ จากนั้นขบวนแห่จะเดินวนรอบโบสถ์สามรอบก่อนเข้าโบสถ์เพื่อทำพิธีบวช
“ชฎา” เป็นเครื่องแต่งกายชิ้นสำคัญของชุดจางอ๊ะย่าง เป็นของสำคัญที่นาคทุกคนจะต้องสวม พระอนุวัตรเล่าว่า เดิมชาวบ้านจะช่วยกันทำชฎาเอง โดยใช้กระดาษทำเป็นโครงแล้วประดับลวดลาย ต่อมาวัดคงคารามก็ได้สร้างชฎาเอาไว้ให้ชาวบ้านขอยืมใช้ แต่ตอนนี้ชฎาของวัดมีอายุเก่าแก่นับร้อยปีและชำรุดเสียหาย ทางจังหวัดจึงนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดคงคาราม ไม่ให้ยืมใช้อีก ชาวบ้านที่ต้องการจะบวชลูกหลานต้องจัดหาชฎามาเอง โดยหยิบยืมจากคนในตระกูลหรือสั่งทำจากร้านทำหัวโขนและวิทยาลัยช่างสิบหมู่
อย่างไรก็ตาม ทุุกวันนี้ ความนิยมในการสวมชฎาลดน้อยลง เพราะนอกจากชฎาจะกลายเป็นของหายากแล้ว ยังทำให้เจ็บศีรษะเวลาสวม เพราะปัจจุบันนิยมโกนผมนาคตั้งแต่ก่อนแห่ไปขอขมา ต่างจากในอดีตที่จะตัดเป็นผมทรงดอกกระทุ่ม (กระจุกผมกลางศีรษะจะช่วยรองชฎา ทำให้ไม่เจ็บ) รุ่งเช้าจึงโกนผมแล้วแห่นาคไปวัด เมื่อสวมชฎาแล้วเจ็บศีรษะ ทำให้หลายคนเลิกสวมชฎาหรือสวมเฉพาะในขบวนแห่ขาไป ส่วนขากลับมักจะถอดออก
การแต่งกายด้วยชุดจางอ๊ะย่างและขี่ม้าแห่นาคของชาวมอญวัดคงคารามมีที่มาจากพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช ขณะนั้นพระองค์ทรงฉลองพระองค์อย่างกษัตริย์ ทรงมงกุฎและเครื่องประดับเพชรนิลจินดา มีแทวดาแปลงจูงม้ากัณฐกะพาเหาะออกไปทางหน้าต่างพระราชวัง ด้วยเหตุนี้ ชาวมอญวัดคงคารามจึงแต่งกายให้นาคอย่างสวยงาม สวมชฎาซึ่งเปรียบเสมือนมงกุฎของกษัตริย์ขี่ม้าเข้าขบวนแห่ไปขอบวชที่วัด
เครื่องแต่งกายแต่ะละชุดยังแสดงถึงการเปลี่ยนผ่านสถานะของผู้บวช ชุดรับแขกที่สวมในตอนเช้าแสดงสถานะของผู้ชายธรรมดา แต่หลังจากปลงผมแล้ว เปลี่ยนสถานะเป็นเจ้าชาย สวมชฎาทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ชุดครุยขาวคือการเปลี่ยนสถานะเป็น “นาค” หรือผู้เตรียมบวช และเมื่อครองผ้าเหลืองแล้วเป็นการเข้าสู่เพศบรรพชิต สละทรัพย์สินมีค่าและสถานะที่เคยมีเคยเป็นทั้งปวง อธิบายแฝงคติธรรมได้ว่า แม้จะมีทรัพย์สินมากมายเพียงใด ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งของนอกกาย เมื่อจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ก็จำต้องสละสิ่งเหล่านั้นไปสู่เพศที่บริสุทธิ์
ส่วนการแต่งหน้าทาปากคล้ายการแต่งกายของผู้หญิงนั้น อาจเป็นเพราะญาติผู้หญิงเป็นผู้แต่งตัวให้นาค จึงแต่งให้อย่างที่คิดว่าสวยงามที่สุด การแต่งกายให้นาค หรือ “งานส่งนาคเข้าโบสถ์” เป็นโอกาสสำคัญที่ญาติพี่น้องผู้หญิงจะได้มีส่วนในพิธีบวช เพราะผู้หญิงจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในโบสถ์ การแต่งตัวให้นาคจึงเป็นการร่วมบุญด้วยทางหนึ่ง
ปัจจุบัน ชาวมอญที่วัดคงคารามยังคงยึดถือประเพณีการบวชเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าจะมีการลดขั้นตอนบางอย่างลงเพื่อความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย แต่การสวมชุดจางอ๊ะย่างยังคงยึดถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด ดังที่พระอนุวัตรทิ้งท้ายไว้ว่า
“ที่นี่ยังไม่ทิ้ง ลูกหลานเขายังอยากบวชแบบเดิมอยู่ อยากให้ลูกหลานออกมาสวยสง่า เพราะงานสำคัญที่จะเจอญาติพี่น้องของคนมอญคืองานบวชกับงานศพ ถ้ามีลูกหลานคนเดียวก็จัดงานใหญ่ ความเคร่งครัดก็แล้วแต่ครอบครัว เช่น ตระกูลนิไชยโยค เวลามีงานเขาจะมารวมกัน ทำให้พี่น้องสามัคคีกัน ชฎาเขาสั่งทำเก็บไว้เลย ไม่ต้องยืมใคร ผ้าม่วง บ้านมอญหมู่ 2 หมู่ 3 จะมีกันทุกบ้าน หมู่ 7 มีน้อย เพราะเป็นคนจีนเยอะ ตอนมีงานบวชหมู่ (เฉลิมพระเกียรติในหลวง) ชาวบ้านก็เอาผ้าม่วงมารวมเป็นกองกลางของวัด ใช้เสร็จก็เอามาซักเก็บไว้ บางผืนอายุร้อยกว่าปี คนมอญในพื้นที่วัดม่วง วัดบัวงาม วัดนครชุม ตอนบวชยังแต่งชุดจางอ๊ะย่างกันเกือบทุกบ้าน