ตุง



คำอธิบาย

เมื่อมีงานปอยหรืองานรื่นเริงที่จัดขึ้นภายในวัดทางภาคเหนือ สิ่งที่จะพบเห็นก่อนสิ่งใดนั่นก็คือ “ตุง” หรือธง มักทำจากผ้า มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 1-2 คืบ ยาวราวหนึ่งวาหรือมากกว่านั้น ตกแต่งลวดลายสวยงาม เป็นลวดลายผ้า รูปสัตว์ในท้องถิ่น หรือรูปปีนักษัตรต่าง ๆ ตุงเหล่านี้จะถูกนำมาปักไว้เป็นทิวแถวตลอดทางเข้าไปสู่งานปอยเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้ที่ผ่านไปผ่านมาทราบว่าที่วัดแห่งนี้กำลังมีงาน

ตุงในวัฒนธรรมล้านนาเป็นเครื่องบูชาและอุทิศถวายเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น สร้างตุงถวายวัดเป็นพุทธบูชา ถวายตุงเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว อุทิศบุญกุศลให้แก่ตนเองในภพนี้หรือภพหน้า ถวายตุงเพื่อสะเดาะเคราะห์ ให้หลุดพ้นจากสิ่งอกุศลที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว ฯลฯ เป็นความเชื่อที่ยังคงสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ชาวล้านนา รวมไปถึงชาวยอง ชาวไทลื้อ ชาวไทเขิน และชาวมอญ มีความเชื่อร่วมกันว่าการถวายตุงเป็นพุทธบูชานั้น เป็นสิ่งปรารถนาสูงสุด ได้บุญกุศลยิ่งใหญ่ บันดาลให้ได้ขึ้นสวรรค์ เพราะตุงเป็นสัญลักษณ์ของปฐมเจดีย์แห่งรกบนดินแดนล้านนา

ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าอุชุตราชแห่งนครโยนกนาคพันธ์ ทรงสร้างพระเจดีย์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1454 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) เบื้องซ้าย แล้วมีการนำ “ตุงไชยยาวพันวา” ขึ้นไปปักบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ณ สถานแห่งนั้น คนทั้งหลายจึงพากันเรียกพระเจดีย์นั้นว่า “พระธาตุดอยตุง” มาจนถึงทุกวันนี้ เป็นต้นเค้าของประเพณีการสร้างตุงเพื่อบูชาพระธาตุของพุทธศาสนิกชนทั่วภาคเหนือ

ชาวล้านนายังมีคติความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงส์ของการทานตุงที่เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ดังปรากฏในตำนานเรื่อง “กาเผือก” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ดังนี้

ในอดีตกาล มีกาเผือกคู่หนึ่งทำรังอยู่บนต้นไม้และออกไข่มาห้าฟอง ต่อมาเกิดพายุใหญ่ ไข่ทั้งหมดพลัดตกจากรังกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง ครั้นกาเผือกคู่นั้นกลับมาไม่เห็นไข่ของตนก็โศกเศร้าจนตรอมใจตายและไปเกิดบนสวรรค์ ส่วนไข่ห้าฟองถูกไก่ เต่า พญานาค โค และคนซักผ้า นำไปเลี้ยงจนเติบใหญ่ กลายเป็นชายหนุ่มห้าคน ต่างคนก็มีจิตใจอยากบวช จึงออกบวชจนสำเร็จได้ญาณ และมาพบกันโดยบังเอิญ ทั้งห้าองค์มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ให้กำเนิด จึงสร้างตุงถวายเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ โดยกะกุสันทะซึ่งไก่เป็นผู้เลี้ยง ได้สร้างตุงรูปไก่ โกนาคมนะซึ่งพญานาคเป็นผู้เลี้ยง สร้างตุงรูปนาค กัสสปะซึ่งเต่าเป็นผู้เลี้ยง สร้างตุงรูปเต่า โคตรมะซึ่งโคเป็นผู้เลี้ยง สร้างตุงรูปวัว และอริยเมตไตรยซึ่งคนซักผ้าเป็นผู้เลี้ยง สร้างตุงรูปค้อนทุบผ้าอันเป็นเครื่องหมายถึงคนซักผ้า เมื่อสร้างตุงเสร็จแล้วก็ถวายเป็นพุทธบูชา แต่กุศลส่งไม่ถึงบิดามารดาผู้ให้กำเนิด กาเผือกจึงต้องบอกให้ทำประทีปเป็นรูปตีนกาจุดไปด้วยจึงสามารถอุทิศส่วนกุศลได้สำเร็จ

ด้วยเหตุนี้ ชาวล้านนาจึงให้ความสำคัญกับการทานตุงเพราะเกี่ยวข้องกับตำนานพระพุทธเจ้าทั้งห้าองค์ และเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที แผ่กุศลไปยังผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่าวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วสามารถยึดหรือปีนป่ายชายตุงจากนรกขึ้นสู่สวรรค์ได้ ดังเรื่องราวที่ว่า กาลครั้งหนึ่งมีนายพรานซึ่งเข้าป่าล่าสัตว์มานานหลายปี ไม่เคยทำบุญกุศลใด ๆ นอกจากได้ทำตุงไปถวายบูชาพระประธานเพียงครั้งเดียว เมื่อเขาตายไปก็ถูกตัดสินให้ตกนรกเพราะฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่ตุงผืนที่เขาทำนั้นได้ช่วยดึงวิญญาณของเขาให้พ้นจากนรกและนำขึ้นสู่สวรรค์ได้

ยังมีอีกความเชื่อหนึ่งเกี่ยวกับอานิสงส์การทานตุงว่า การทานตุงนี้ได้อานิสงส์มาก ผู้ใดได้ทานตุงไว้กับพระพุทธศาสนาแล้ว เมื่อจากโลกนี้ไปจะได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นฟ้า เสวยวิมานทิพย์สูง 120 โยชน์ มีอายุถึง 1,000 ปีทิพย์ เมื่อพ้นจากสวรรค์จุติลงมาจะได้เกิดเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์อีกหลายสิบชาติ หากแม้ต้องตกนรกหมกไหม้ ตุงจะช่วยห่อหุ้มไว้ ไม่ให้ได้รับทุกขเวทนา เมื่อพ้นวิบากกรรมแล้วก็จะได้เกาะชายตุงนี้ไปเกิดเป็นเทพในเทวโลก ชาวล้านนาจึงนิยมถวายตุงเพราะเชื่อว่ามีอานิสงส์หรือได้บุญมาก

การแบ่งประเภทของตุงมักอ้างอิงตามพิธีกรรมที่จะใช้งานดังนี้

1. ตุงที่ใช้ในงานมงคล

1.1 ตุงไชย ใช้ในงานปอยหลวง เช่น งานฉลองวิหาร ฉลองศาลา หรืออาคารสถานที่ภายในวัด ผู้ถวายจะเขียนคำอุทิศถวายติดไว้ที่ตุง จากนั้นนำตุงใส่ภาชนะพร้อมข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน ไปถวายพระสงฆ์ที่วัด เมื่อพระสงฆ์ให้พรแล้ว จึงนำตุงไปแขวนบนค้างตุงบริเวณหน้าวัดและรอบวัตถุที่ฉลอง

1.2 ตุง 12 ราศี หรือตุงตัวเปิ้ง ใช้บูชาปีเกิดของแต่ละคน มักจะทำแขวนไว้ในห้องพระและปักที่เจดีย์ทรายในช่วงสงกรานต์เพื่อให้เกิดสิริมงคลตลอดทั้งปี

1.3 ตุงค่าคิง คือ ตุงที่มีความยาวเท่ากับความสูงของผู้อุทิศ คำว่า “ค่า” หมายถึง เท่ากับ และคำว่า “คิง” หมายถึง ร่างกาย เป็นการถวายตุงเพื่อสะเดาะเคราะห์ สืบชะตา ปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัย เคราะห์กรรมต่าง ๆ ให้หมดไป และทำให้มีแต่ความสุขความเจริญ

1.4 ตุงพระบฏ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดต่าง ๆ กรอบทั้งสี่ด้านทำด้วยไม้ช่วยขึงผ้าให้ตึง ตัวตุงทำเป็นรูปพระพุทธรูปประทับยืนบ้าง ปางลีลาบ้าง หรือปางเปิดโลก ใช้ประดับไว้ด้านหลังของพระประธานในโบสถ์

2. ตุงที่ใช้ในงานอวมงคล

2.1 ตุงแดง มีความยาวประมาณ 4-6 ศอก กว้างประมาณหนึ่งคืบ แบ่งความยาวออกเป็นสี่ท่อน ชายด้านล่างทำเป็นสามชาย ประดับตกแต่งให้สวยงาม ใช้ในพิธีสูตรถอนศพที่ตายผิดปกติ (ตายโหง) เช่น ตายเพราะอุบัติเหตุต่าง ๆ โดยจะใช้ตุงปักไว้บริเวณที่ตาย และก่อเจดีย์ทรายเท่ากับอายุของผู้ตาย ปักช่อน้อยบนเจดีย์ทรายให้ครบ เมื่อเห็นตุงแดงและก่อทรายช่อน้อย ณ จุดใด ก็หมายถึงว่าบริเวณดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตแบบที่เรียกกันว่า “ตายไม่ดีไม่งาม”

2.2 ตุงเหล็กตุงตอง หรือตุงร้อยแปด ทำด้วยแผ่นสังกะสีหรือแผ่นทองเหลืองขนาดเล็ก ยาวประมาณหนึ่งคืบ กว้างประมาณสองนิ้ว มีคันตุงทำจากเส้นลวดหรือไม้ไผ่ ส่วนมากจะทำอย่างละ 108 อัน มัดติดกันเป็นพวงโดยทำฐานตั้งไว้ หรือบางแห่งจะวางไว้บนโลงศพ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ชาวบ้านมักจะนำมาไว้ที่วัดตามฐานชุกชี สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก

3. ตุงที่ใช้ในงานมงคลและอวมงคล

3.1 ตุงไส้หมู เป็นตุงที่มีรูปร่างทรงจอมแห ทำจากกระดาษสีต่าง ๆ ผูกติดกับกิ่งไม้หรือก้านไม้ไผ่เล็ก ๆ ใช้ในเทศกาลสงกรานต์โดยปักบนกองเจดีย์ทรายหรือประดับเครื่องไทยทานต่าง ๆ

3.2 ตุงกระด้าง เป็นตุงที่ทำด้วยวัสดุคงรูป เช่น ไม้แกะสลัก ปูนปั้น หรือแผ่นโลหะ ประดับตกแต่งด้วยกระจก ปูนปั้น หรือฉลุเป็นลวดลาย ผู้สร้างมักเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์สูงหรือมีฐานะดี เพราะใช้วัสดุราคาสูงและช่างฝีมือที่ประณีต สร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

3.3 ตุงสามหาง บางครั้งเรียกว่าตุงรูปคนหรือตุงผีตาย ใช้สำหรับนำหน้าศพไปยังสุสานหรือเชิงตะกอน ประดิษฐ์ขึ้นให้มีรูปร่างคล้ายคน โดยมีส่วนหัวและลำตัวที่กางออกเหมือนแขนขาของคน แต่ท่อนล่างตั้งแต่เอวลงไปทำเป็นสามแฉก เรียกว่าสามหาง ส่วนหางนี้อาจเปรียบได้กับปริศนาธรรม คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

4. ตุงที่ใช้ประกอบการเทศน์ ใช้ประกอบในพิธีกรรมหรืองานเทศกาลตั้งธรรมหลวง โดยการปักตุงประเภทนี้ประดับกัณฑ์เทศน์หรืออาคารที่ประกอบพิธีกรรม เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลา ฯลฯ ตุงประเภทนี้นิยมถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา เชื่อว่าจะได้อานิสงส์มาก โดยตุงที่ใช้ประกอบการเทศน์มักสอดคล้องกับเรื่องราวที่พระสงฆ์จะนำมาเทศน์ เช่น ทศชาติชาดก

นอกจากตุงสี่ประเภทนี้แล้ว ยังมีตุงอีกหลายรูปแบบและชื่อ เช่น ตุงขอนงวงช้าง ตุงราว ตุงช่อ ตุงตะขาบ ตุงจระเข้ ตุงขอนนางผาน เป็นต้น ตุงเหล่านี้มีหน้าที่การใช้งานแตกต่างกัน สะท้อนคติความเชื่อของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่ในอดีต ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน และมีการทำเพิ่มเติมเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายด้วย