เครื่องแต่งกายของมด



คำอธิบาย

ชุมชนลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ บ้านหนองปรง จ. เพชรบุรี เป็นชุมชนลาวโซ่งที่ยังรักษาความเชื่อในเรื่องผีควบคู่ไปกับการนับถือพระพุทธศาสนา ผีที่มีความสำคัญคือ “ผีบรรพบุรุษ” แต่ละบ้านจะมีหิ้งผีตั้งไว้ในกะล่อห้องหรือห้องผีเรือน และจะเซ่นไหว้ผีผู้น้อย (ผู้ที่สืบเชื้อสายจากสามัญชน) ทุกห้าวัน ส่วนผีผู้ต๊าว (ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองหรือชนชั้นปกครอง) จะเซ่นไหว้ทุกสิบวัน และมีพิธีเสนเรือนเพื่อรำลึกถึงผีบรรพบุรุษเป็นประจำ

นอกจากนี้ ลาวโซ่งยังมีความเชื่อเรื่อง “แถน” หรือ “ผีฟ้า” หมายถึง เทวดาที่อยู่บนฟ้า มีอำนาจเหนือมนุษย์ สามารถดลบันดาลให้เกิดดีร้ายได้ ซึ่งการติดต่อสื่อสารกับผีทำได้โดยผ่าน “มด”

มดมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง เรียกว่าพ่อมดและแม่มด เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ติดต่อระหว่างคนกับผีบรรพบุรุษหรือแถนเพื่อถวายเครื่องเซ่นตามประเพณีหรือตามที่ได้บนบานไว้ มดจะเป็นผู้ทำพิธีให้ถูกต้องตามครรลองเพื่อความเป็นสิริมงคล

ปกติพ่อมดแม่มดจะใช้ชีวิตธรรมดา ทำไร่ทำนา แต่เมื่อมีผู้ต้องการประกอบพิธีเสน ก็จะมาไหว้วานให้พ่อมดแม่มดประกอบพิธีให้ ในการประกอบพิธีจะต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ของพ่อมดแม่มดที่ใช้สื่อสารกับครูมดครูมนต์เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์และสัมฤทธิ์ผล

นางแน สายสุด หรือ ป้าเต้น กล่าวว่า คนที่เป็นหมอ (หมอมด หมอมนต์ หรือหมอเมือง) คืนก่อนหน้าที่จะไปทำพิธีมักจะนอนฝัน ถ้าฝันว่าไปรบกับเขาชนะ แสดงว่าจะไปทำพิธีให้เขาได้สำเร็จ ก่อนหน้าวันทำพิธี คนที่จะให้ทำพิธีหรือเจ้าภาพจะต้องเอาเสื้อหนึ่งผืน (ตัว) หมากสองลูก ข้าวสารหนึ่งถ้วย พร้อมทั้งหมากพลูมาให้พ่อมดแม่มด เรียกว่า “วานมด” พ่อมดแม่มดจะนำสิ่งของเหล่านี้ใส่ถาดวางไว้บนหิ้ง ตอนเช้าก็จะนำกลับไปที่บ้านเจ้าภาพแล้วทำพิธี

เมื่อถึงวันทำพิธี พ่อมดจะแต่งกายด้วยชุดที่งามสง่า สวมเสื้อฮีซึ่งใช้ในงานพิธีของลาวโซ่ง สวมส่วงก้อมหรือกางเกงสีดำไม่มีลวดลาย มีผ้าขันบ่า (พาดบ่า) มักใช้ผ้าแพรสีครีม คาดเอวด้วยผ้าหางข่ำ เพื่อรัดผ้าขันบ่าไม่ให้ตกเวลารำตังบั่ง เมื่อจะทำพิธี พ่อมดจะสวม “สายขอบตองหัวปอมด” หรือ “สายขอบทองหัวพ่อมด” บนศีรษะ พ่อมดจะแต่งกายเช่นนี้เพื่อทำพิธีเสน (เซ่น) ผีแถน พิธีเสนกินปาง (เสนตังบั่งหนอ) พิธีเสนโต๋หรือการประกอบพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้มีบุญ พิธีเสนฮับมด เสนฆ่าเกือดหรือแม่ซื้อที่คิดร้าย

สายขอบตองหัวปอมดที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ปานถนอม ป้าเต้นเป็นผู้ทำให้พ่อมดแอ เจือจาน น้องชาย เป็นแถบผ้าขนาดกว้างเก้าเซนติเมตร ยาว 56 เซนติเมตร สายดิ่งยาว 40 เซนติเมตร ประกอบด้วยผ้าไหมและผ้าฝ้ายชิ้นเล็ก ๆ ตัดเป็นรูปทรงเรขาคณิต เย็บเป็นรูปดอกบัวขาเขียด มีสายดิ่งเป็นเส้นฝ้ายสีขาวหุ้มด้วยผ้าไหมสีส้ม เขียว แดง ซึ่งเป็นสีหลักในการตกแต่ง ด้านบนทำเป็นเขี้ยวสีขาวสมมติว่าเป็นเขี้ยวงูและใช้เขี้ยวหมูป่าของจริงตกแต่งเพื่อป้องกันคุณไสยจากผู้ประสงค์ร้าย ตามปกติ สายขอบตองหัวปอมดที่เคยใช้งานแล้วจะตกเป็นของทายาท แต่หากพ่อมดผู้นั้นเลิกใช้แล้วจะมีการถอดมนตราออกจากสายขอบตองหัวปอมดอันเก่าแล้วเปลี่ยนไปใช้อันใหม่แทน

เครื่องใช้สำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่พ่อมดใช้ประกอบพิธีเสน คือ “วีปอมด” หรือ “พัดพ่อมด” พ่อมดจะใช้พัดพ่อมดโบกพัดขณะร่ายรำ เป็นเครื่องบูชาครูมนตราด้วยจิตมุ่งมั่น พัดพ่อมดต้องประดิษฐ์ให้สวยที่สุด ทรงเกียรติ และสง่างาม เพราะใช้เป็นอุปกรณ์ติดต่อกับผีมดผีมนต์ เป็นของหวงห้ามที่ต้องเก็บรักษาไว้บนหิ้งมด

พัดพ่อมดรูปร่างเหมือนพัดพระฤๅษีของหนังตะลุงหรือวาลวิชนี มีความกว้าง 24.5 เซนติเมตร ยาว 26 เซนติเมตร ด้ามพัดยาว 40 เซนติเมตร สานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นลายสอง เมื่อสานจนได้ขนาดที่ต้องการแล้วก็ตัดขอบให้เรียบ ขลิบริมด้วยผ้าดำ แล้วใช้เส้นไหมสี่สี ทำปุยยาว 4-4.5 เซนติเมตร โดยใช้เส้นไหมสีแดงมากที่สุด สีเขียว สีส้ม สีขาว จะใช้ปริมาณน้อยพอ ๆ กัน เพื่อให้ความรู้สึกเข้มขลัง เสีแต่ละสีที่ใช้มีความหมายต่างกันคือ สีแดง หมายถึง ความสง่างาม เกรียงไกร สีขาว หมายถึง ความจริง ความดี บริสุทธิ์ สีดำ หมายถึง ความจริง อาดูร ไม่ดี สีเขียว หมายถึง ความชื่นฉ่ำ กระชุ่มกระชวย สีส้ม (เหลือง) หมายถึง ความร่มเย็น เจิดจ้า ไม่มีภัย การถักทอเส้นไหมติดกับพัดจะใช้ความประณีตมาก ส่วนด้ามทำจากไม้ที่มีน้ำหนักเบาและมอดไม่กิน นำมากลึงให้โค้งหรือหาไม้ที่มีรูปทรงโค้งอยู่แล้วมาประกอบเข้ากับตัวพัด

พัดพ่อมดชิ้นนี้ ป้าถนอม คงยิ้มละมัย ทำขึ้นเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ปานถนอม และใช้เป็นเครื่องสาธิตการแต่งกายของพ่อมด เนื่องจากพัดจริงเป็นของหวงห้าม ปุยของพัดทำด้วยเส้นไหมราคาแพงและหายาก ปัจจุบันราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,400 บาท

แม่มดมีเครื่องแต่งกายและเครื่องใช้ในการประกอบพิธีเสนที่แตกต่างไปจากพ่อมด แม่มดจะแต่งกายด้วยเสื้อฮีและสวมหมวกแม่มดที่เรียกว่า “หมั๊วแม่มด” หรือ “มูแมมด” หรือ “หมวกแม่มด” บ้างก็เรียกว่า “หัวแม่มด” ใช้สวมบนมวยผมที่เรียกว่า “ปั้นเกล้า” บนศีรษะของแม่มด โดยจะหยิบมาสวมเมื่อทำพิธีทั้งเสนเกี่ยวกับผีแถนและผีเรือน เพื่ออ้อนวอนของความเป็นสิริมงคลแก่คน บ้านเรือน และเพื่อไถ่โทษหากผีเรือนทำผิดต่อผีแถน (เสนเต็ง) และเสนเพื่อให้เกิดสิริมงคล เช่น เสนกวัดกว้าย เสนแก้เคราะห์เรือน เสนแก้เคราะห์ตน เสนฮับมด ฯลฯ

หมวกแม่มดชิ้นนี้ ป้าถนอมทำขึ้นเพื่อใช้สวมในการแสดงและสาธิตเครื่องแต่งกายแม่มด เพื่อเผยแพร่เรื่องราววัฒนธรรมลาวโซ่งบ้านหนองปรง ป้าถนอมเรียนรู้วิธีการทำมาจากนางมาลอ หนองเข้ ซึ่งเป็นแม่มด โดยใช้หัวแม่มดที่เลิกใช้ประกอบพิธีกรรมแล้วเป็นต้นแบบ

หมวกแม่มดมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าของหมวกเย็บ ปัก ปะ ด้วยผ้าไหมสี่สีคือ แดง ส้ม เขียว ขาว ด้านบน พับผ้าเป็นรูปสามเหลี่ยมแทนเขี้ยวงู เพื่อใช้สำหรับป้องกันคุณไสยจากผู้คิดร้ายและติดกระจกเพื่อสะท้อนสิ่งไม่ดีงามกลับไป ด้านหลังติดลูกปัดและหอยเบี้ย เพื่อปัดป้อง แก้ไขให้ทุกสิ่งดีขึ้น และมีสายลูกปัดยาว 86 เซนติเมตร

การใช้ผ้าขาวพับเป็นรูปสามเหลี่ยมก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนเขี้ยวงูของจริง มีความหมายว่าเป็นเขี้ยวที่มีพิษคือมีฤทธิ์ในการป้องกัน ป้าถนอมวิเคราะห์ว่าอาจเป็นวิธีป้องกันคุณไสยเช่นเดียวกับเขี้ยวหมูป่าที่ติดอยู่กับสายขอบตองหัวปอมด

แม้จะทำเลียนแบบหมวกแม่มดของจริง แต่หมวกแม่มดใบนี้แตกต่างจากของจริงเล็กน้อย กล่าวคือ ถ้าเป็นหมวกแม่มดของแท้ ริมหมวกจะใช้ผ้าไหมสี่สี ยาวประมาณหกเซนติเมตร กว้างหนึ่งเซนติเมตร แต่หมวกแม่มดที่ป้าถนอมทำขึ้นใช้เส้นไหมสี่สี ยาวประมาณสี่เซนติเมตร กว้างหนึ่งเซนติเมตรเท่านั้น

ของใช้ประจำตัวแม่มดในการประกอบพิธีอีกชิ้นหนึ่งคือ “กะเหล็บแม่มด” หรือ “กะเหล็บปากฟาน” เป็นภาชนะสานด้วยไม่ไผ่และหวาย ก้นเล็กลีบ ป่องตรงปากมีฝาปิด ใช้ฝ้ายฟั่นเป็นสายสอดเข้ากับหูข้างภาชนะ

ภายในกะเหล็บแม่มดใส่ “ไม้มอ” 32 อัน เป็นอุปกรณ์เสี่ยงทาย (จำนวนไม้มอของแม่มดแต่ละคนอาจไม่เท่ากันเพราะมีครูต่างกัน) ไม้มอมีความยาว 7-9 เซนติเมตร ทำจากไม้เนื้อแข็งหรือไม้ซางที่ตัวอ้นกัดกินหรือคาบมาไว้ที่ปากรู เป็นของหายาก เชื่อว่าจะทำให้การเสี่ยงทายแม่นยำ ใช้เสี่ยงทายในพิธีต่าง ๆ เช่น เสนฮับมด เสนแก้เคราะห์เรือน เสนแก้เคราะห์คน โดยจะเสี่ยงทายว่าผีแถนหรือผีเรือนถูกใจในพิธีกรรมดังกล่าวหรือไม่ หากหยิบไม้มอไม่ได้ตามจำนวนที่อธิษฐานก็ต้องสวดอ้อนวอนใหม่

นอกจากนี้ ภายในกะเหล็บแม่มดจะมีสิ่งของต่าง ๆ เช่น ของขลัง มะแหว หมวกแม่มด พัดแม่มด กะเหล็บนี้จะอยู่ใกล้ตัวแม่มดเสมอ เป็นของต้องห้าม คนทั่วไปไม่ควรหยิบจับรื้อค้นหากแม่มดไม่อนุญาต

“กะเหล็บ” เป็นภาชนะที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวโซ่ง ใช้ใส่ของเมื่อออกจากบ้าน มีลักษณะเป็นภาชนะปากกลมทรงสูง ก้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตั้งได้ มีสายสะพายบ่า แต่กะเหล็บแม่มดมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากกะเหล็บทั่วไปคือ ก้นเล็ก วางตั้งไม่ได้ และมีฝาปิด การสานก้นกะเหล็บแม่มดจะต้องหักมุมให้กลมป้อมเหมือนปากฟาน (อีเก้ง) จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กะเหล็บปากฟาน”

ในอดีต ผู้ชายลาวโซ่งทุกคนต้องสานกะเหล็บได้ เพราะคนลาวโซ่งเชื่อว่าเมื่อผู้ชายสานกะเหล็บได้และผู้หญิงทอผ้าเป็น แสดงว่าพร้อมที่จะมีเหย้ามีเรือนแล้ว กะเหล็บจึงเป็นเครื่องพิสูจน์วุฒิภาวะของผู้ชายลาวโซ่ง แต่วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทำให้มีคนสานกะเหล็บได้น้อยลงมาก คนที่สานกะเหล็บแม่มดได้ยิ่งหายากจนแทบไม่มีเหลือในชุมชนบ้านหนองปรงแล้ว