ยักษ์ผู้ชาย



คำอธิบาย

หนังตะลุงเป็นการละเล่นพื้นบ้านของภาคใต้ที่นิยมกันมากมาตั้งแต่อดีต การแสดงหนังตะลุงประกอบด้วยศาสตร์และศิลป์หลายแขนง นายโรงหนังตะลุงซึ่งเป็นผู้นำคณะและควบคุมการแสดงต้องมีทักษะทั้งการผูกเรื่อง ไหวพริบ ปฏิภาณ มีความสามารถทางดนตรี รวมทั้งฝีมือในการประดิษฐ์รูปหนังเพื่อใช้แสดง

อ.สุพล ชูเพ็ง นายหนังตะลุงจากสงขลา เล่าถึงที่มาของรูปหนังตะลุงว่าเดิมอาจใช้ใบไม้ เช่น ใบทังมาหยิกให้เป็นรูป ต่อมาจึงใช้แผ่นหนังแกะเป็นรูป ใช้สีจากดอกไม้และยางไม้ระบายเพิ่มความสวยงาม ตัวหนังจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการของนายหนังตะลุงหรือผู้แกะ

หนังที่นำมาแกะ ส่วนใหญ่เป็นหนังวัว อาจมีการใช้หนังสัตว์ชนิดอื่นบ้าง เช่น หนังเสือ หนังหมี แต่ก็เป็นส่วนน้อย เพราะหายากและราคาแพง

ตัวหนังแต่ละตัวมีขนาดแตกต่างกัน ถ้าเป็นรูปคนจะมีความสูงประมาณ 40 เซนติเมตร รูปหนังทุกรูปจะเห็นด้านข้างเพียงด้านเดียว ลักษณะคล้ายจิตรกรรมไทย เดินเส้นภายในรูปด้วยเส้นประที่เกิดจากการตอกมุกเป็นรูเล็ก ๆ ต่อเนื่องกัน ในอดีตไม่มีอุปกรณ์แกะหนังโดยเฉพาะจำหน่าย ต้องใช้อุปกรณ์ที่คิดขึ้นเอง เช่น มีดพร้า มีดเหลา หรือของมีคมเท่าที่หาได้ ต่างจากปัจจุบันที่มีขายทั้งตุ๊ดตู่สำหรับเจาะมุกและเครื่องตัดกนก

รูปหนังตะลุงของภาคใต้ แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ “รูปมีศักดิ์” เช่น รูปฤษี รูปพระอิศวร รูปปรายหน้าบท รูปพระราชา รูปมเหสี รูปพระ รูปนาง รูปเทวดา รูปยักษ์ อีกกลุ่มหนึ่งคือ “รูปไพร่” เช่น รูปตัวตลก และรูปสัตว์ รูปต้นไม้ รูปอาวุธ ฯลฯ เรียกว่า “รูปกาก”

รูปมีศักดิ์มักระบายสีต่าง ๆ ให้ดูสวยงาม สมจริง ส่วนรูปไพร่ที่เป็นตัวตลกมักจะระบายด้วยสีดำ รูปอื่น ๆ มีทั้งที่ระบายสีตามความเป็นจริง สีดำ และไม่ระบายสี ขึ้นอยู่กับความต้องการของนายหนังหรือช่างแกะรูปหนัง

รูป “ยักษ์ผู้ชาย” หรือ “ยักษ์ผู้” จัดเป็นรูปหนังมีศักดิ์ ใช้แสดงเรื่องรามเกียรติ์และบทยักษ์ในเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ มักมีนัยว่าเป็นฝ่ายอธรรม ตัวร้าย ความชั่วร้าย รูปยักษ์ผู้ของหนังตะลุงจะยกขาหลัง ส่วนตัวเมียจะยกขาหน้า และมีลักษณะเฉพาะต่างจากรูปยักษ์ของหนังใหญ่

รูปยักษ์ที่จัดแสดงอยู่ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านคลองหอยโข่ง ต. คลองหอยโข่ง อ. คลองหอยโข่ง จ. สงขลา มีขนาด 12x28 นิ้ว ทำจากหนังวัว แต้มสีจากเปลือกไม้และยางไม้เพื่อให้เกิดสีสันเวลาออกจอ แกะขึ้นราว พ.ศ. 2512 โดยหนังชุม ตันหยงมัส อ. ระแงะ จ. นราธิวาส ต่อมามีการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดใน พ.ศ. 2537 และมอบให้หนังปกรณ์ ไชยรัตน์ เก็บไว้ศึกษาเทคนิคแกะสลักและลงสี เพราะใช้เครื่องมือแกะแบบโบราณ แตกต่างจากปัจจุบัน และลงสีที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ยางไม้ ดอกไม้

รูปยักษ์แต้มด้วยสีธรรมชาตินี้ ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว เพราะขนาดเล็กเกินไป เนื่องจากมีการปรับขนาดของโรงหนังตะลุงให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม จากที่เคยใช้จอหนังขนาดสามเมตร ขยายเป็นขนาดห้าเมตร จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปหนังให้ใหญ่ขึ้นตามขนาดจอที่ใช้แสดง และเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือความนิยมใช้สีเคมีย้อมตัวหนังซึ่งเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 6-7 ทำให้ได้สีสันที่สดใสสวยงามกว่า และเลิกใช้สีธรรมชาติไปในที่สุด รูปยักษ์ผู้ชายจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตรูปหนังและขนบในการแสดงหนังตะลุง

ปัจจุบัน ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านคลองหอยโข่งได้แกะสลักรูปยักษ์ผู้ชายขึ้นมาใหม่ด้วยฝีมือช่างในท้องถิ่นคือ นายวัน ทองรูจี (เสียชีวิตแล้ว) เพื่อใช้แสดงและสาธิตโดยนายหนังนครินทร์ ชาทอง (ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงหนังตะลุง พ.ศ. 2550)