ผ้าหุ้มธรรมมาสน์



คำอธิบาย

ผ้าหุ้มธรรมาสน์หรือผ้าบาหลี (ผ้าบาลี) ของวัดท้ายยอ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นผ้าที่ทอขึ้นเป็นพิเศษเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ใช้หุ้มตกแต่งธรรมาสน์เพื่อความสวยงาม โดยผืนดั้งเดิมทอเมื่อ พ.ศ. 2477 มีความกว้าง 28 เซนติเมตร ยาว 360 เซนติเมตร วัสดุเป็นผ้าฝ้ายทอยกดอกบนพื้นสีแดง มีด้ายสีเหลือง เขียว และดำ ทอยกดอกเป็นลวดลาย ตกแต่งชายผ้าด้วยลูกปัด ประกอบด้วยลายม้า ลายครุฑ ลายคนถือไม้เท้า ลายคนขี่ม้า ลายคนต่อมือสลับกับดอกไม้ และตัวอักษร ทั้งยังระบุผู้มีส่วนร่วมในการทอไว้อย่างครบถ้วน ได้แก่ ผู้ริเริ่มคือ นางเถ็กฉู้ นางเป้า และนางเถ็กลั่น ผู้จัดการรวบรวมปัจจัยคือ นายบ้านหัก และผู้ทอผ้าคือ นางเถ็กฉู้

ใน พ.ศ. 2540 สถาบันทักษิณคดีศึกษาได้นำผ้าหุ้มธรรมาสน์ของวัดท้ายยอไปเก็บรักษาไว้ในคลังข้อมูล กระทั่งในเวลาต่อมาสถาบันทักษิณคดีศึกษาจะจัดนิทรรศการสัญจรและต้องการนำผ้าหุ้มธรรมาสน์มาแสดงด้วย อ.อุบลศรี อรรถพันธุ์ แห่งสถาบันทักษิณคดีศึกษาจึงนำผ้าหุ้มธรรมาสน์ผืนเดิมมาเป็นแบบเพื่อให้คุณกริ้ม สินธุรัตน์ ครูภูมิปัญญาด้านการทอผ้าเป็นผู้ทอผืนใหม่ โดยยึดรูปแบบและลวดลายผืนดั้งเดิมเป็นหลัก แต่เพราะอายุมากและสายตาไม่ค่อยดีเหมือนเมื่อก่อน คุณกริ้มจึงปฏิเสธไป กระทั่งคุณจงกลณี สุวรรณพรรค ช่างทอผ้าเกาะยอ ผู้มีศักดิ์เป็นหลานลุงของคุณกริ้มได้เห็นผ้าหุ้มธรรมาสน์จึงสนใจและคิดว่าตนน่าจะทำได้ จึงได้ตกลงรับงานทอผ้าหุ้มธรรมาสน์นี้แทนคุณกริ้ม โดยใช้เวลาพักใหญ่ในการสำรวจและแกะลายผ้า ทั้งรูปสัตว์และตัวอักษรว่าต้องใช้ด้ายขนาดเท่าไรและเทคนิคอย่างไรบ้าง

เบื้องต้นสันนิษฐานว่าผ้าหุ้มธรรมาสน์ผืนเดิมคงทอด้วยกี่มือ เพราะกว่าจะมีกี่กระตุกใช้กันก็ประมาณ พ.ศ. 2524 โดยใช้ด้ายฝ้ายหรือด้ายกุลีย้อมสีธรรมชาติ ด้ายสีแดงน่าจะได้จากการย้อมกับดินแดงเพราะเกาะยอไม่มีครั่ง ส่วนเส้นพุ่งใช้ด้ายย้อมสีเขียวจากใบไม้ สีเหลืองจากแก่นขนุน และสีดำจากมะเกลือ ชายผ้าร้อยลูกปัดตกแต่ง แต่เมื่อต้องทอผืนใหม่ก็เปลี่ยนมาใช้วัสดุย้อมสีเคมีแทน โดยพยายามเทียบสีและ “แกะลวดลาย” ให้ใกล้เคียงของเดิมที่สุด

“การแกะลาย” จะใช้สมุดกราฟแกะลายทีละตัวแบบลายปักครอสติตช์ กำหนดให้แต่ละช่องใช้ด้ายสองเส้น ตัวอักษรที่ทออยู่บนผ้าผืนเดิมมีขนาดไม่เท่ากัน เล็กบ้างใหญ่บ้าง คุณจงกลณีบอกว่าถ้าไม่ใช่การทอเลียนแบบของเดิมก็จะง่ายกว่าและสวยงามกว่าเพราะตัวหนังสือจะเท่ากันหมด แม้แต่คำผิดก็ยังคงไว้ตามต้นฉบับ มีส่วนที่เพิ่มเติมคือชื่อผู้สร้างและผู้ทอ แต่ด้วยความเพลินในการทำงานจึงสะกดนามสกุลของ อ.อุบลศรี ผิดไป จาก “อรรถพันธุ์” เป็น “อถรรพันธุ์”

คุณจงกลณีต้องใช้ทักษะ สมาธิ และความสามารถมากในการทอ ขณะทอจะปิดประตูบ้านไม่ให้ใครมากวน ไม่พูดคุยกับใครเพราะอาจทำให้จำเส้นทอผิด ก่อนจะเข้าทอผ้าทุกครั้งมักจะอธิษฐานขอให้ทอได้สำเร็จไม่มีอุปสรรค จึงทำให้ทออย่างสบายใจ ใช้เวลาสี่เดือนจึงเสร็จสมบูรณ์