คานหลาว



คำอธิบาย

คานหลาวหรือไม้คันเหลา ใช้สำหรับเสียบตรงกลางฟ่อนข้าวเพื่อใช้หาบ การที่จะใช้กระบุงแล้วใช้ไม่คานหาบฟ่อนข้าวนั้น หาบได้ครั้งละไม่กี่ฟ่อนก็เต็มกระบุง การใช้คานหลาวจึงมีความเหมาะสมกว่าเพราะหาบได้ที่ละหลาย ๆ ฟ่อน

ไม้ที่ใช้ทำคานหลาวเป็นไม้ไผ่ลำตรง ๆ คานหลาวแต่ละอันมีความยาวประมาณ 2 เมตร นำไม้ไผ่ไปตากแดดให้แห้งหรืออาจใช้วิธีลนไฟก็ได้ เหลาข้อไม้ไผ่ให้เรียบไม่ให้มีเสี้ยน จากนั้นใช้มีดเสี้ยมปลายไม้ไผ่ทั้งสองข้าง เรียกว่าปากฉลาม คือการเจียนหรือเหลาปากให้เฉียงปลายสลับกัน ปากฉลามทั้งสองข้างมีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ปลายไม้คานหลาวจะคมมากเพราะต้องใช้เสียบแทงฟ่อนข้าว ตรงส่วนล่างใช้ตอกมัดข้าว หรือใช้ต้นข้าวมัดขมวดไว้ไม่ให้หลุด เรียกว่า เคน็ดข้าว  

คานหลาวใช้หอบฟ่อนข้าวไปยังกองข้าว ที่รวมกันไว้เป็นกองใหญ่ ๆ ณ ที่ใดที่หนึ่ง เพื่อจะใช้เกวียนหรือรถบรรทุกฟ่อนข้าวไปที่ลานนวดข้าวอีกที แต่หากลานข้าวอยู่ใกล้ๆ ก็สามารถหาบฟ่อนข้าวไปที่ลานนวดได้เลย นอกจากใช้คานหลาวหาบฟ่อนข้าวแล้ว ชาวนายังใช้หาบต้นกล้า หญ้าแฝก หญ้าคา และฟ่อนหญ้า

ถ้าใช้ไม้ไผ่แก่จัดทำคานหลาวและเก็บรักษาอย่างดี ไม่ให้มอดมากัดกิน สามารถเก็บรักษาไว้ได้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี

ปัจจุบันชาวนาไม่ค่อยใช้คานหลาวกันแล้ว จึงหมดความจำเป็นไป ไม่ต้องหาบข้าวไปไกล ๆ ให้หนักและเหนื่อยแรง แต่จะมีรถนวดข้าวมาจอดที่ลานข้าวในนา แล้วนวดออกมาเป็นเมล็ดข้าวเปลือกได้ทันที