ชุดเซิ้งบั้งไฟ



คำอธิบาย

ช่วงเดือนหกหรือราวเดือนพฤษภาคม คนอีสานจะมีงานสำคัญ เรียกว่า “บุญเดือนหก” มีการจุดบั้งไฟบูชาพญาแถนเพื่อขอให้ฝนตกตามฤดูกาล ทำให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ชัยภูมิเป็นจังหวัดที่มีงานบุญเดือนหก แต่มีความแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ตรงที่มี “งานบวงสรวงเจ้าพ่อพญาแล” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิคนแรกและได้สร้างคุโณปการมากมายจนเป็นที่นับถือและจัดให้มีการบวงสรวงอนุสาวรีย์ของท่านเพื่อรำลึกถึงคุณความดีเป็นประจำทุกปี

คนบ้านขี้เหล็กใหญ่ ต. ในเมือง อ. เมือง จ. ชัยภูมิ นับถือศรัทธาเจ้าพ่อพญาแลอย่างมาก และเชื่อว่าคนบ้านขี้เหล็กใหญ่บางตระกูลสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพ่อพญาแล เดิมศาลเจ้าพ่อพญาแลเป็นศาลเล็ก ๆ อยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ริมหนองปลาเฒ่า ทุก ๆ ปี คนบ้านขี้เหล็กใหญ่ หนองปลาเฒ่า หนองหลอด จะจัดงานบุญเดือนหกและบวงสรวงเจ้าพ่อพญาแลด้วยการฟ้อนรำใต้ต้นมะขามใหญ่ จนกระทั่งมีการก่อสร้างศาลเจ้าพ่อพญาแลขึ้นใหม่ พิธีบวงสรวงเจ้าพ่อพญาแลจึงย้ายมาจัดที่ศาลปัจจุบัน และหลัง พ.ศ. 2523 มีการยกระดับงานบวงสรวงให้เป็นงานประเพณีบุญเดือนหกระดับจังหวัด จัดงานขึ้นสามวันโดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้กำหนดวัน

นันทา พิทักษ์เชื้อ หนึ่งในคณะเซิ้งบั้งไฟบ้านขี้เหล็กใหญ่ เล่าประวัติการเซิ้งบั้งไฟเพื่อบวงสรวงเจ้าพ่อพญาแลว่าบิดาของตนคือ นายหอย นาสาทร เป็นผู้ริเริ่มการเซิ้งขึ้น เมื่อพ่อเสียชีวิตไปแล้ว ก็มีรุ่นพี่เขยและพ่อวันทา บุญมาก สืบทอดต่อมา ในยุคแรกคณะเซิ้งบั้งไฟงานบุญเดือนหกบวงสรวงเจ้าพ่อจะเป็นผู้ชายทั้งหมด แต่นุ่งผ้าถุง ไม่นุ่งโสร่ง ต่อมาผู้ชายไม่ค่อยมี ก็ใช้ผู้หญิงแทน รุ่นแม่ถนอมเริ่มมีผู้หญิงในคณะ เพราะตอนนั้นเหลือผู้ชายแค่สามคนและแม่นันทาเป็นผู้สืบทอดประเพณีรุ่นปัจจุบัน

แม่นันทาอธิบายว่า ก่อนถึงงานเจ้าพ่อพญาแล พ่อหอยจะพาคณะเซิ้งบ้านขี้เหล็กใหญ่ไปเซิ้งตามหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น บ้านขัวน้อย หนองปลาเฒ่า บ้านเมืองเก่า ชีลอง หนองนาแซง เพื่อเรี่ยไรเงินมาทำผ้าป่าถวายเจ้าพ่อ ในขบวนจะมีบั้งไฟ คนเซิ้ง และตาโขนไปด้วย ได้บ้านละห้าสตางค์บ้าง สิบสตางค์บ้าง สลึงหนึ่งบ้าง ส่วนมากไม่เกินสามบาท ยกขบวนแห่ต่อเนื่องกันไปเป็นสัปดาห์สองสัปดาห์ ระหว่างแห่ก็จะร้องคำกลอนเซิ้งบั้งไฟไปด้วย ใช้โทนเป็นเครื่องดนตรีให้จังหวะ เนื้อหาของคำกลอนเป็นการขอความอุดมสมบูรณ์ให้เจริญรุ่งเรือง ไม่อดอยาก และขอให้ชาวบ้านทำบุญ ผลบุญจะส่งให้ได้ขึ้นสวรรค์และไปถึงนิพพาน หากใครไม่ทำบุญก็จะเกิดสิ่งไม่ดีกับชีวิต เช่น ผีหลอก หนูกัดข้าว เป็นต้น กลอนเซิ้งมีการสืบทอดมาจากรุ่นพ่อ ใช้ท่องจำ ไม่มีการจดบันทึก แต่ในรุ่นของป้าถนอมเริ่มมีการจดบันทึกและดัดแปลงบางส่วน

วันที่ 3 ของงาน เป็นวันจุดบั้งไฟ คณะเซิ้งจะจัดขบวนแห่ไปศาลเจ้าพ่อพญาแล โดยเริ่มตั้งขบวนแห่จากวัดบริบูรณ์ บ้านขี้เหล็กใหญ่ มีบั้งไฟและตาโขนแห่ไปด้วยกัน เมื่อไปถึงศาลไม้ได้ต้นมะขามใหญ่ ขบวนจะฟ้อนอ้อมต้นมะขามก่อนแล้วจึงเลิก พวกจุดบั้งไฟก็ไปจุดบั้งไฟกันต่อ

ขบวนเซิ้งบั้งไฟงานบวงสรวงเจ้าพ่อของบ้านขี้เหล็กใหญ่มีความพิเศษแปลกตากว่าขบวนเซิ้งของบ้านอื่นที่ “ชุดเซิ้งบั้งไฟ” แม่นันทาอธิบายว่า นายหอย นาสาธร บิดาของตนเป็นผู้ริเริ่มพาพวกช่วยกันทำชุด ประกอบด้วย เสื้อผ้าฝ้ายคอกลมแขนกระบอกย้อมครามจนเป็นสีน้ำเงินหรือดำ ผ้าขาวม้าสะพายบ่า เลือกใช้ลายเล็กหรือลายใหญ่ก็ได้ ผ้าซิ่นหรือผ้าถุงเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมที่เรียกว่าไหมน้อยหรือซิ่นติดตีน แต่ความพิเศษของชุดเซิ้งบั้งไฟคือ มีการสวมหมวกและเล็บที่สานจากไม้ไผ่ คล้ายคลึงกับการฟ้อนรำของภาคเหนือ

“เล็บ” บ้างก็เรียกว่า “กวยมือ” หรือ “ก๋วยมือ” ทำจากไม้ไผ่สานเป็นโครง ด้านนอกติดกระดาษสีทองหรือแดง ส่วน “กระโจมหัว” ที่ใช้สวมศีรษะ ด้านในสานด้วยไม้ไผ่บ้านเพราะมีความอ่อนแต่ทนทาน เดิมเมื่อสานแล้วจะทาดินหม้อให้เป็นสีดำ แต่ปัจจุบันตกแต่งด้านนอกด้วยกระดาษสี อุปกรณ์ที่สานด้วยไม้ไผ่เหล่านี้จะมีช่างสานโครงไม้ให้แล้วพวกผู้หญิงจะมาช่วยกันติดกระดาษตกแต่ง ตอนนี้หาช่างที่สานกระโจมหัวกับก๋วยมือได้ยากมาก เหลือเพียงนายสงคราม ก้อนมณี คนเดียวที่ยังสานได้

นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ ประกอบชุดเซิ้ง เช่น กระดิ่ง ใช้ห้อยไว้ที่เอวเพื่อส่งเสียงให้รู้ว่าคณะเซิ้งบั้งไฟมาแล้ว และมีตะกร้าสำหรับใส่เงินทำบุญแขวนไว้ที่เอวเช่นกัน

เครื่องแต่งกายแบบนี้นอกจากจะใช้สวมใส่ในการเซิ้งบั้งไฟแล้ว ยังใช้ใส่ในการ “เจ๊ย” ได้เช่นกัน การเจ๊ยคือการว่าเพลงหรือบทกลอนที่แฝงไปด้วยคำสอนหรือการว่ากล่าวตักเตือนกัน เหตุที่มีการนำชุดเซิ้งมาใส่ เป็นเพราะสมัยก่อนเสื้อผ้าหายากมากจึงต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด

นันทวรรณ เหล่าฤทธิ์ (พี่ตุ๊ก) ผู้ศึกษาค้นคว้าประวัติบ้านขี้เหล็กใหญ่สันนิษฐานว่า ชุดเจ๊ยหรือชุดเซิ้งบั้งไฟเป็นเครื่องแต่งกายของชาวเมืองหามหอก ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเมืองเก่าในยุคทวารวดี ตั้งอยู่แถบ ต. ลุ่มลำชี อ. บ้านเขว้า จ. ชัยภูมิ เดิมชุดเซิ้งบั้งไฟเป็นสีโทนน้ำเงินและดำ แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ เช่น ผ้าที่ใช้ตัดเย็บชุด แต่เดิมชาวบ้านจะทำเอง ตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยงไหม ทอผ้า จนถึงตัดเย็บ แต่ปัจจุบันนิยมซื้อผ้าบางชิ้นจากตลาดมาตัดเย็บ ก๋วยมือและกระโจมหัวก็เปลี่ยนจากที่ใช้ไม้ไผ่สานมาเป็นก๋วยมือกระดาษ เพราะแทบไม่มีคนสานได้แล้ว ที่สำคัญก๋วยมือไม้ไผ่สวมนาน ๆ แล้วเจ็บมือ ใช้ก๋วยกระดาษดีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนเสื้อผ้าให้มีสีสันสดใสมากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนสีเสื้อจากสีน้ำเงินหรือดำเป็นสีเหลือง แดง เปลี่ยนผ้าถุงเป็นผ้าไหม เพื่อให้นำไปใช้แสดงลำตัดลาว ซึ่งเป็นการละเล่นอีกอย่างหนึ่งของชุมชนซึ่งมักแสดงใช้ช่วงเทศกาลต่าง ๆ ได้ด้วย

ปัจจุบัน มีคนหนุ่มสาวที่จะสืบทอดการเซิ้งบั้งไฟน้อยลงมาก เหลือแต่คณะเซิ้งสูงวัย แม่นันทากล่าวว่า “อยากให้ลูกหลานสืบต่อการเซิ้งแต่ยังไม่มีใครสนใจ เราไม่คัดคน ใครอยากเซิ้งก็มา ถ้าหายไปก็เสียดาย เพราะมันสนุกเวลาออกไปแสดง เราพึ่งบารมีเจ้าพ่อ ถ้าไม่ได้ไปก็เสียดาย”

แม้ว่าการเซิ้งบั้งไฟแบบโบราณยังขาดผู้สนใจสืบทอด แต่ชุดเซิ้งบั้งไฟ รวมทั้งเนื้อเพลงและท่วงทำนองการขับร้องยังคงถูกนำมาใช้งาน โดยปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและยังคงเป็นเอกลักษณ์ของบ้านขี้เหล็กใหญ่ตราบจนปัจจุบัน